ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า โดยมีพระธรรมเป็นศาสดาสืบแทน ผู้ที่บวชเป็นภิกษุซึ่งอยู่ในเพศบรรพชิต หากไม่ใช่ “ภิกษุในพระธรรมวินัย” และอุบาสก อุบาสิกาซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์ หากไม่ใช่ “อุบาสก อุบาสิกา ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยปัญญา” ทั้งภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ย่อมไม่ใช่พุทธบริษัทดังเช่นพุทธบริษัทในอดีตเมื่อครั้งพุทธกาล  ที่ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่ชาวพุทธให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง จึงขอนำการสนทนาธรรมของ อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ปี 2539 มาให้ได้พิจารณาไตร่ตรองถึงสภาวธรรม ซึ่งเป็นธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงตลอด 45 พรรษา ในครั้งพุทธกาลก่อนพุทธศักราช 45 ปี

อาจารย์สุจินต์ฯ กล่าวว่า “…เราได้พูดถึงธรรมะมานานแสนนานโดยนัยต่างๆ เพื่อให้เข้าใจธรรมะที่มีจริง ไม่ใช่ให้จำว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ว่าขณะนี้กำลังเห็น ถ้าเราได้ศึกษามามากพอ เราก็จะสามารถมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ ในลักษณะที่เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ขณะที่กำลังเห็นมีได้ยินไหม ขณะที่กำลังได้ยินมีเห็นไหม เมื่อตอบว่าไม่มี นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะลืมทุกอย่างที่เราเคยจำไว้แล้ว ก็มาพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรม การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หมายความว่า เราเริ่มเข้าใจตัวธรรมะจริงๆในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจะยกเรื่องของทางตาก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น ที่เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ ถ้าไม่พูดถึงขณะปัจจุบันจะเหมือนกับอยู่ในตำรา หรือว่าอยู่ในหนังสือ ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่า กำลังเห็นที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ นอกจากเวลานี้ เรากำลังจะเข้าใจสภาพธรรม ทั้งหมดที่เรียนมาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเห็น

ฉะนั้นในขณะนี้ ทุกคนควรพิจารณาตาม เพื่อที่จะได้เห็นธรรมะหรือเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่มีได้ยิน มีวัดบวรนิเวศไหม มีตึกสภาการศึกษามหามกุฏไหม มีห้องเรียนไหม เมื่อตอบว่าไม่มี จะเห็นได้จริงๆว่า หากปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่มีความคิดนึกเรื่องวัดบวร ยังไม่มีความคิดนึกเรื่องตึกสภาการศึกษามหามกุฏ ยังไม่มีความคิดนึกในเรื่องคน รวมถึงเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และมีสภาพรู้ที่กำลังเห็น ที่เรากล่าวถึงเรื่องจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่พ้นจากขณะนี้เอง ที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสัมผัส มีการคิดนึก ซึ่งต่างขณะกัน…

จิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ ธรรมดาของจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ทางตามีสีเป็นอารมณ์ ทางหูมีเสียงเป็นอารมณ์ ทางจมูกมีกลิ่นเป็นอารมณ์ ทางลิ้นมีรสเป็นอารมณ์ ทางกายมีสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเป็นอารมณ์ ทางใจมีเรื่องราวต่างๆที่กำลังคิดนึกเป็นอารมณ์ นี่พูดอย่างกว้างๆทั่วๆไป… จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ในทางหนึ่งทางใดใน 6 ทาง หรือพ้นจาก 6 ทางนี้ จิตก็ยังเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ เช่น ขณะที่กำลังหลับสนิท หรือขณะที่กำลังไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน 6 ทางเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏ แล้วแต่ว่าจิตรู้อารมณ์ทางไหน ถ้ารู้ทางตา สีปรากฏ ถ้ารู้ทางหู เสียงปรากฏ ถ้ารู้ทางจมูก กลิ่นปรากฏ ถ้ารู้ทางลิ้น รสปรากฏ ถ้ารู้ทางกายสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏ ถ้าเป็นทางใจ กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆเป็นอารมณ์…

สิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นดับ สิ่งนั้นเป็นโลก คือ โลกทางตาที่มีจิตเห็น มีสีเป็นอารมณ์ โลกทางหูที่มีจิตได้ยิน มีเสียงเป็นอารมณ์ โลกทางจมูกที่มีจิตได้กลิ่น มีกลิ่นเป็นอารมณ์ โลกทางลิ้นที่มีจิตลิ้มรส มีรสเป็นอารมณ์ โลกทางกายที่มีจิตรู้กระทบสัมผัส มีเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเป็นอารมณ์ โลกทางใจที่มีจิตคิดนึก มีเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์…

อยากให้ทุกคนมีความสนใจศึกษาพระธรรม เพื่อจะได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าญาติหรือไม่ใช่ญาติก็ตาม ใครก็ตามต่างคนต่างเกิดมาตามการสะสมทั้งสิ้น คงจะทราบจากประวัติพระญาติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ซึ่งแต่ละท่านก็ไปอบายภูมิบ้าง อะไรบ้าง ทั้งๆที่เป็นพระญาติของพระองค์ เพราะฉะนั้นไม่มีคำตอบสำหรับที่ว่าทำอย่างไร แต่เป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อทุกคนเสมอ พร้อมที่จะช่วย ถ้าคนนั้นเกิดมีความสนใจที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็สามารถที่จะช่วยแนะนำทั้งหนังสือให้อ่าน ทั้งวิทยุ หรืออะไรก็เปิดให้ท่านฟัง หรือแนะนำอะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้ท่านสนใจขึ้น แต่ถ้าใครก็ตามยังไม่แสดงความสนใจ เขาจะรำคาญ เพราะว่าเสียเวลาของเขา ที่เขาจะทำอย่างอื่นที่เขาพอใจ…

ที่ถามว่า จะทำอย่างไรดีกับความตระหนี่ (มัจฉริยะ) ที่มีอยู่ ที่ถามเช่นนี้แสดงว่า อยากมีกุศลเยอะๆใช่ไหม คงไม่อยากจะมีอกุศล แต่ก็ต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ต้องเป็นผู้ที่มีการอบรม ต้องมีความอดทน มีความเพียร และมีความตั้งใจมั่น คือ บารมีทั้ง 10 เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเจริญกุศล แม้แต่เรื่องของเมตตา ไม่ใช่เป็นเพียงแต่คำกล่าว แต่ต้องเป็นสภาพของจิต เรื่องของพระธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ผิวเผิน อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว หรือได้ยินชื่อ เหมือนกับว่ารู้แล้ว ไม่ต้องรู้มากกว่านั้นอีก เรื่องของการเข้าใจสภาพธรรมนั้นมีมาก ซึ่งมีความละเอียดมาก จึงจะเป็นประโยชน์ ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ (อวิชชา) ที่จะไม่ให้เกิดอกุศลเป็นไปไม่ได้เลย  ที่มีความไม่รู้จะน้อยลง หรืออกุศลจะน้อยลง มีทางเดียว คือ การอบรมเจริญความรู้ (วิชชา)

การเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาพระธรรมและมีความเข้าใจในพระธรรม  ไม่ใช่เพียงแค่ฟัง แต่ว่าฟังแล้ว ต้องพิจารณาให้เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผล ขณะที่เป็นกุศล ไม่ใช่คิดว่าไม่เป็นกุศล ขณะที่กำลังฟัง มีศรัทธา มีสติ และเห็นประโยชน์ ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา กุศลไม่ใช่เพียงแค่การให้ (ทาน) กุศลอย่างอื่นก็มีด้วย เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า มีการสะสมอุปนิสัยอย่างไรมา อุปนิสัยที่เป็นฝ่ายอกุศลจะลดลงได้ แต่ไม่ใช่เราเลือกว่า เมื่อมีการสะสมความตระหนี่มา แล้ววันนี้จะกลายเป็นคนใจบุญสุนทานมหาศาลได้อย่างไร  แต่ก็สามารถฝึกได้ โดยสละในสิ่งที่คิดว่า ไม่เคยสละได้มาก่อน

หากมีสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ทั้งๆที่อยู่กับเราก็ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์สักเท่าไร อย่างบางคนอาจมีเสื้อผ้ามากมาย ไม่ค่อยได้ใช้เลย เก็บไว้อยู่ในตู้ สักวันหนึ่งลองคิดดูซิว่า พรุ่งนี้เราก็อาจตายได้ ถ้าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับใคร หรือสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับใคร ก็ให้กับผู้อื่นได้ แต่ไม่ใช่กฎเกณฑ์เสมอไป ให้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะเกื้อกูลมาก คือ ปัญญา โดยรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง หากมีโอกาสทำให้ผู้อื่นเกิดปัญญาก็ควรจะทำ

เรื่องของความยากจน ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความพิการนั้น เป็นผลของกรรมในอดีตของแต่ละบุคคล คนทุกข์ยากในโลกนี้มีมากมายเหลือเกิน แม้แต่ในประเทศไทยก็มีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ว่าคนยากจนขัดสนก็มีโอกาสฟังธรรมด้วยจิตศรัทธา ย่อมจะเป็นประโยชน์กับเขามาก ชาตินี้เขาอาจจะเป็นคนขัดสน พิการ ชาติหน้าเขาอาจจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นอะไรก็ได้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่สิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน คือ เขามีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมและมีความเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนยากไร้ ไม่ว่าใครก็ตาม ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเขาสะสมมา ที่จะได้ฟังพระธรรม อันนั้นจะเป็นประโยชน์มาก การช่วยทางวัตถุ ถึงแม้จะช่วยสักเท่าไร ชาติหน้าก็ไม่สามารถจะนำติดตามไปได้ ถ้าช่วยให้เขาเกิดปัญญา เขาจะได้มีโอกาสเจริญกุศลยิ่งขึ้นต่อไป

ขอให้ทราบว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าปราศจากบารมี เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่มุ่งหน้าที่จะศึกษา หรือมุ่งหน้าที่จะทำแค่ทาน หรือคิดว่าอยากจะมีกุศลมากๆ โดยที่ไม่มีปัญญา อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์เลย หนทางจริงๆ คือ ให้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่กรรมใดจะให้ผลในขณะใด เป็นสิ่งที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติต่อไป…

ถ้ามีข้อความสั้นๆว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลซึ่งไม่ดี จงละเสีย แต่จะละอย่างไร ไม่มีทางเลยที่จะละได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น และกว่าปัญญาจะเกิดโดยเฉพาะปัญญาของคนยุคนี้ สมัยนี้  ซึ่งไม่ใช่อุคฆฏิตัญูญูบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสน้อยเบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า เพียงแค่ยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดง ก็รู้แจ้งถึงอริยสัจธรรมได้ อุปมาดังบัวที่โผล่พ้นเหนือพื้นน้ำขึ้นมา พอสัมผัสแสงพระอาทิตย์ก็จะบานทันที) ไม่ใช่วิปัญจิตตัญญูบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลาง ถ้ามีการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ อุปมาดังบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมาพอดีกับผิวน้ำ ซึ่งจะบานในวันต่อมา) และจะเป็นเนยยะบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ต้องหมั่นศึกษาพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจ จึงสามารถรู้และเข้าใจพระธรรมได้ อุปมาดังบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ รอคอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นจากน้ำ และจะบานในวันต่อ ๆ ไป) หรือไม่เป็นแต่ละคนรู้ดี ถ้าไม่สามารถก็เป็นปทปรมะบุคคล (ผู้ที่มีกิเลสหยาบหนา ไม่สามารถรู้และไม่เข้าใจในพระธรรมได้เลย อุปมาดังบัวใต้น้ำในโคลนตมที่ไม่อาจโผล่พ้นน้ำ อยู่เพียงใต้น้ำและเป็นอาหารของสัตว์น้ำ) เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นตัวเองจริงๆ แล้วตรงต่อความเป็นจริงด้วยจึงจะเข้าถึงธรรมะ…”

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”