ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณีนี้ จากชุดข้อมูลบทความเรื่อง “การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับเศรษฐกิจแห่งความไม่แน่นอน : ชีวิตทางศาสนาของตัวตนในกระแสเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน” โดย ณีรนุช แมลงภู่ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเผยแพร่ใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 35 ฉบับที่ี 1/2566

“ฉายภาพ” ให้เข้าใจปรากฏการณ์นี้…

“มูเตลูฟีเวอร์” ที่ “ไม่ใช่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น”

แต่ “มีเหตุให้คนหวังพึ่งเรื่องนี้มากขึ้น”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ“ปรากฏการณ์มูเตลูฟีเวอร์” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแบบ “เข้มข้นมากขึ้น” นั้น…ทาง ณีรนุช ผู้จัดทำชุดข้อมูลบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า… ได้มีการศึกษาเรื่องนี้โดยมีเป้าหมายคือเพื่อศึกษา “ปรากฏการณ์การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย” โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจถึงปฏิบัติการทางศาสนาของผู้คนที่มี “ชีวิตภายใต้เศรษฐกิจและสังคมแบบเสรีนิยมใหม่” ซึ่งมีความ “ไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น” ส่งผลทำให้ผู้คนหันมาเลือกพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้มข้นขึ้นมากกว่าในอดีต เนื่องจากมองเรื่องของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า…เป็นกลไกที่จะช่วยทำให้ความไม่แน่นอนกลายเป็นความแน่นอนที่เป็นไปได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการสะสมทุนให้ได้มากในเวลาสั้น ๆ …นี่เป็น“เป้าหมายสำคัญ” ของการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้…

ยุค “ความไม่แน่นอนทางชีวิตเพิ่มขึ้น”

“นำสู่ปรากฏการณ์มูเตลู” ในสังคมไทย

ทางผู้ศึกษาและจัดทำชุดข้อมูลยังได้สะท้อนขยายความปรากฏการณ์ “คนไทยหันมามูเตลูแบบเข้มข้น” เอาไว้ว่า… จากปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยหันมาพึ่งพาเรื่องนี้โดยหวังให้ได้มาซึ่งความสำเร็จทางโลกนั้น แม้จะดูเป็นเรื่องสามัญในปัจจุบัน แต่ก็ได้มีนักวิชาการหลาย ๆ คนตั้ง “ข้อสังเกต” ไว้ว่า… กระแสมูเตลูฟีเวอร์ในคนไทยเกิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดย ไม่ได้มีเพียงแค่การหันพึ่งพิงศาสนา เท่านั้น แต่ยัง มีลัทธิ-มีความเชื่อต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ด้วย โดยมีฐานที่มาจาก “ความเชื่อที่หลากหลาย” ของผู้คน จน “เกิดการบูรณาการความเชื่อ”

รวมถึงการที่“สังคมได้ถูกทำให้เชื่อ” ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็ดูจะ ยิ่งแสดงถึง “ความเหินห่างระหว่างพุทธศาสนาในทางปฏิบัติกับพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก” มากขึ้น อันเนื่องจากการที่ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ครอบงำสังคมอย่างเข้มข้นเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับการเคลื่อนย้ายของประชากรและการขยายความเป็นเมือง โดยในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ “ศาสนาได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเพื่อบริโภคในเศรษฐกิจแบบตลาด” ทำให้ สัญลักษณ์ทางศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสินค้า และยังส่งผลทำให้ “เกิดตลาดกับกลวิธีทางการตลาด” เพื่อเพิ่มการบริโภคทางศาสนาอีกด้วย

นี่เป็น “ปรากฏการณ์ในมิติศาสนา”

ที่ยุคนี้ “มีมิติเศรษฐกิจทับซ้อนอยู่!!”

นอกจากนั้น ในชุดข้อมูลดังกล่าวก็ยังได้ชี้ไว้ถึง “ความเชื่อมโยง” ของ “มิติทางเศรษฐกิจ” กับ “มิติทางศาสนา” ในสังคมไทยปัจจุบัน โดยระบุว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวช่วยทำให้เห็นถึงประสบการณ์ของผู้คนที่มี “วิถีชีวิตสัมพันธ์กับมโนทัศน์และกลไกเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่” ที่การแข่งขันอย่างเสรีในตลาดเสรีนิยมจะมุ่งเน้นการเปลี่ยนทุนให้เป็นกำไรให้ได้มากที่สุดในเวลาที่น้อยที่สุด จนส่งผลทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน และมีความเปราะบางมากขึ้น จน มองการใช้ชีวิตประจำวันมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต จึง “หันพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ตนมีความเชื่อ-เคารพนับถือ

โดยที่“หวังให้เป็นกลไกใช้จัดการชีวิต”

ทั้งนี้ ณีรนุช แมลงภู่ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้ระบุไว้ในชุดข้อมูลบทความเรื่องการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับเศรษฐกิจแห่งความไม่แน่นอนฯด้วยว่า… ปรากฏการณ์ที่ผู้คนพากันบูชาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกยอมรับให้เป็นกลไกสร้างความเปลี่ยนแปลง” โดยมีการมองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า… ช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้ หรือ ช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนได้ เช่น เปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นความน่าจะเป็น หรือเปลี่ยนความเสี่ยงให้เป็นความไม่แน่นอนที่เป็นไปได้เชิงบวก นี่ก็จึง ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีตัวตนและอำนาจ…

“ผลศึกษาพบว่า สิ่งศักดิ์สิทธิในปัจจุบันมิได้เป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวทำให้สบายใจคลายกังวลเท่านั้น แต่ภายใต้สังคมเสรีนิยมยุคใหม่ ยังช่วยในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ช่วยตัดสินใจและสร้างความแน่นอนระดับหนึ่งให้อนาคต และช่วยจัดการความไม่แน่นอนในอนาคตผ่านความฝันอีกด้วย …นี่เป็นภาพ “ความเชื่อ” ที่อยู่ใน “ปรากฏการณ์” นี้

ไทยยุคนี้…“มูเตลูฟีเวอร์อย่างเข้มข้น”

“ยกระดับความเชื่อ” สู่ “กลไกสำคัญ”

จึง “แห่มูควบคู่ฮิตไฮเทคกันเซ็งแซ่!!”.