“การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มจากการ “เปลี่ยนใจ” เราเองก่อน…การเริ่มต้นใหม่มันยากเสมอ แต่อาจจะดีกว่าจมอยู่กับสิ่งเดิมๆ”

เป็นประเด็นถกเถียงกันมาพักใหญ่ สำหรับเรื่องที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจร และการกำหนดค่าปรับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 

ที่สำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับค่าปรับที่รับเงินจากประชาชนไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 อย่างไร ใบสั่งที่ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีการชำระค่าปรับจะต้องทำอย่างไร และหลังจากที่มีคำพิพากษาแล้ว สตช. จะยังคงออกใบสั่งโดยอาศัยประกาศฉบับดังกล่าวอีกหรือไม่

แล้วใบสั่งที่ส่งไปรษณีย์มาให้ประชาชน จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และที่ประชาชนชำระเงินไปแล้วจะทำอย่างไร เรียกคืนได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่ออกใบสั่ง มีผลประโยชน์จากค่าปรับ หรือไม่ และหากมีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

กระทั่งล่าสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีหนังสือบันทึกข้อความแจ้งเวียนคำสั่ง ตร. เรื่องแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ถึง รอง ผบ.ตร., จตช. ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง จตช. เพื่อทราบ ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ในสังกัด สง.ผบ.ตร.

ใจความว่า ด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.66 เป็นต้นไป และได้กำหนดให้กฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 3 ท้าย พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค.66 ที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนัยกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รอบคอบ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 จึงให้ถือปฏิบัติตามคำสั่ง ตร. เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565

แล้วทีนี้ก็ตามมาด้วยคำถาม ‘พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย’ มันคืออะไรล่ะ เพาะฉะนั้นจึงขออธิบายเพื่อให้คนที่ยังสงสัยได้เข้าใจเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย

กติกาการกำหนดโทษทางอาญา กรณีผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีและอาจถูกลงโทษจำคุก หรือบางกรณีถูกลงโทษปรับ แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีฐานะยากจนไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ก็จะถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับในเรือนจำ กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัว และทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวความคิดว่า ควรต้องมีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ขึ้นใช้บังคับ

ที่ทำก็เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น “โทษปรับเป็นพินัย” คือ เงินค่าปรับที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญา สำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรง และโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่กระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

โดยการกำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาล กำหนดเท่านั้น ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ซึ่งไม่มีสภาพบังคับเป็นโทษอาญา และลดทอนโทษอาญาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงระบบโทษปรับให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญ คือ 1.กำหนดให้เปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ จำนวน 204 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้เป็น “ความผิดทางพินัย” และผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระ “ค่าปรับเป็นพินัย” ให้แก่รัฐ โดยไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากร

2.กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

3.การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด โดยผู้กระทำความผิดอาจขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยเป็นรายงวดก็ได้ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ สามารถร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้

4.ในกรณีที่กระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทาน หรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้กระทำความผิดสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้

5.ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยได้

นี่เป็น 5 ข้อหลักที่พระราชบัญญัติ แต่ก็ยังเชื่อว่าต้องมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก โดยสรุปก็คือให้เกิดการลงโทษที่เหมาะสม โทษไม่ร้ายแรงขอลดค่าปรับได้ตามฐานะ ไม่มีการเข้าคุกแทนค่าปรับ ขอผ่อนชำระค่าปรับได้ และทำงานเพื่อสังคมแทนค่าปรับได้ รวมทั้งไม่ติดประวัติการกระทำผิดด้วย เชื่อว่าถ้ามีการใช้จริงไปเรื่อยๆ ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเข้าใจใน ‘พ.ร.บ.ค่าปรับเป็นพินัย’ มากขึ้นแน่นอน อีกทั้งจะดีหรือไม่ดี จะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม วันเวลาจะเป็นตัวตัดสินเอง

ข่าวสารตำรวจ

มอบใบประกาศ
พ.ต.ท.ศรายุทธ ศรีมัญจาบุรี สวญ.สภ.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม พ.ต.ท.กังวาน โคตตะวงศ์ สว.(สอบสวน) สภ.หนองฮี พ.ต.ต.ธนกฤต จีระมงคลกุล สว.สส.สภ หนองฮี พร้อมข้าราชการตำรวจ สภ.หนองฮี ร่วมพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี นายปฐมพงศ์ ยิ้มแย้ม ประธานกต.ตร.สภ.หนองฮี หัวหน้าส่วนราชการ คณะแม่บ้านตำรวจลูกหลานตำรวจ ร่วมพิธี พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณ แก่ข้าราชการตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่ดีเด่นในด้านต่างๆ และมอบใบประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ และสนับสนุนกิจการตำรวจ

มอบป้อมจราจร
ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น มอบป้อมกำกับไฟจราจร จุดสี่แยกบ้านเป็ดและสามแยกท่าพระ โดยมีพ.ต.อ. ณชรต แก้วเพชร ผกก.สภ.บ้านเป็ด พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภูมิ อีคะละ ผกก.สภ.ท่าพระ อ.เมืองจ.ขอนแก่น ร่วมรับมอบโดยมีครูต่างชาติ ร่วมมอบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เพื่อร่วมลดปัญหาและช่วยเหลือชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมเป็นจุดมั่นใจยามค่ำคืนให้กับประชาชนเพื่อเดินทางสะดวกมากขึ้นมีแสงสว่างอย่างทั่วถึง จากอุดมการณ์ของผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดลที่ได้นำร่องสร้างป้อมกำกับไฟจราจรแล้วเสร็จหลายจุดสำคัญในเมืองขอน เพื่อเป็นจุดอุ่นใจเพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและชุมชนที่พักอาศัยบริเวณที่มีป้อมตำรวจได้อย่างดี ประชาชนเดินทางได้รับแสง สว่าง เพื่อเป็นอีกจุดที่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่สัญจร สร้างด้วยเงินส่วนตัว ด้าน พ.ต.อ. ณชรต แก้วเพชร ผกก สภ.บ้านเป็ด และพ.ต.อ ภูมี อีคะละ สภ ท่าพระ กล่าวว่ายินดีอย่างมาก

จิตอาสา
พ.ต.อ.กฤศ ธิติทัศนะ ผกก.สภ. คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจจิตอาสา เทศบาลหัวกุญแจ หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ เเละประชาชนในพื้นที่ ร่วมจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยมีกิจกรรมทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ คริสตจักรหัวกุญแจ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกิ่ว ทำให้บริเวณคริสตจักรหัวกุญแจมีความสะอาดปราศจากฝุ่นละออง โดยทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมต่างมีจิตใจที่เสียสละ ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

ใจต้องมาก่อน
พล.ต.ต.พงพิพัฒน์ ศิริพรวิวัฒน์ ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู ได้ให้นโยบายและแนวทางแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกระดับ ว่าข้าราชการตำรวจทุกนายต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง อำนวยความยุติธรรมอย่างมีคุณธรรม ที่ผ่านมาความสำเร็จของงานในแต่ละ สภ.ไม่ใช่มาจากการใช้อำนาจ บังคับบัญชา แต่สำหรับ พ.ต.อ.สุมิตร นันสถิตย์ ผกก.สภ.ศรีบุญเรือง และ พ.ต.อ.กฤษณ์ มาสุข ผกก.สภ.โนนสัง มีแนวความคิดและอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน นั้นคือเอาใจเขามาใส่ใจเรา จึงจะเกิดผลงาน ดังความสำเร็จในหลายๆนโยบาย อยู่ในอันดับต้นๆทั้งในระดับ ภ.จว. ระดับภาค และ ระดับประเทศ จะเห็นว่ากิจกรรมและความผูกพันในหนึ่งสัปดาห์ ทั้ง 2 สภ.จะมีกิจกรรมกินข้าวเที่ยงซุ่มกันจากทุกคนเป็นพ่อครัว ทำให้ สภ.มีโรงครัวโรงพัก คนเป็นหัวหน้าสถานีต้องแบกรับสุดท้ายงานสำเร็จเกิดจากทุกคนมีใจเป็นหนึ่งเดียว…เหยี่ยวข่าว สน.รอตรวจค่ายสีบานเย็นขอชื่นชม สภ.ทำดีก็ต้องเชียร์ละครับ

โรงพักทับคล้อตักบาตรเทโว
พ.ต.อ.ธราดล เหมพัฒน์ผกก.สภ.ทับคล้อ จ.พิจิตร พ.ต.ท.ชาตรี ชราชิต รอง ผกก.สส.สภ.ทับคล้อ,
พ.ต.ท.อิสระ น้อยพร สวป.สภ.ทับคล้อ,ร.ต.อ.สมชัย จันทร์แจ่ม รองสว.จร.สภ.ทับคล้อ ร้อยเวร20,ร.ต.อ.สดายุ พงษ์เจริญ รอง สว.สส.สภ.ทับคล้อ พร้อมด้วยสายตรวจรถยนต์,สายตรวจเขาทราย,สายตรวจวังแดง,สายตรวจจราจร,ชุดสืบสวน
เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานตักบาตรเทโวโรหณะ ณ วัดพระพุทธบาทเขาทราย ปีนี้ตรงกับวันที่ 31 ต.ค.66 โดยมี นายสิงหราช วงษ์เสงี่ยม รอง ผวจ.พิจิตร รรท.ผวจ.พิจิตร เป็นประธาน คณะสื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานเข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

ช่วยเหลือประชาชน
ร.ต.อ.ณัฐวัชร พายสำโรง รอง สวป.สภ.คลองลึก เข้าช่วยเหลือประชาชน โดยพ่วงสายแบตเตอรี่สตาร์ทรถยนต์โตโยต้า รีโว่ ของนายเกริกพล ชาว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่บริเวณหน้าห้างสตาร์พลาซ่า ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สาเหตุจากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ พ.ต.อ.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ ผกก.สภ.คลองลึก ที่เน้นการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน.

***************************

คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป