ปัญหา “สินค้าไม่ตรงปก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน เกิดขึ้นซ้ำซาก แม้!!หลายคนต่างรู้ซึ้งถึงปัญหาแต่สุดท้าย…ก็ไม่วาย “ช้ำใจ”

ยิ่งทุกวันนี้…พฤติกรรมคนไทย ได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ จากกระแสโลก จากผลกระทบของไวรัสโควิด หากรู้ไม่ทัน คิดไม่ถึง ก็ต้องตกเป็น “เหยื่อ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบัน คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตสูงเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที และส่วนใหญ่ ใช้ไปกับการค้นหาข้อมูลและซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันคนไทยยังชอปปิงออนไลน์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือ 83.6%

อย่างที่คุณ ๆ ท่าน ๆ เห็นกระแสข่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง!! ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อโทรศัพท์ทางออนไลน์ แล้วได้บะหมี่สำเร็จรูป 1 ห่อ หรือกรณีการสั่งซื้อ “ไอแพด” แล้วได้ “เขียง” หรือกรณีสั่ง “หมวกไอรอนแมน” ราคา 1,199 บาท กลับได้เป็น “หมวกกันน็อก” ใบละ 100-200 บาท

หรือยังมีกรณี สั่งซื้อ “หม้อหุงข้าว” ลดราคา แต่ของที่ได้กลับเป็นหม้อหุงข้าวขนาดจิ๋ว ที่หุงไม่ได้ เหมือน ๆ กับกรณีการสั่งซื้อ “โซฟา” ที่หวังว่าจะซื้อมานั่งให้สบายตัวในช่วงเวิร์กฟรอมโฮม แต่กลับได้โซฟาจิ๋วของเล่นเด็ก โดยคนซื้อยอมรับเองว่าผิดพลาดไม่อ่านรายละเอียดสินค้าหรืออ่านรีวิว ก่อนก็ตาม

แต่ถามว่า!!! เรื่องแบบนี้ควรเกิดขึ้นหรือไม่? ถ้าเกิดแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร? จะเอาผิดคนหลอกลวงได้อย่างไร? เพราะไม่ใช่เพิ่งเกิด หรือเกิดครั้งเดียว ครั้งแรก แต่!! เกิดไปทั่วคู่กับการใช้ชีวิตของคนไทย จนทำให้เกิดความเดือดร้อนสารพัด

ถ้าเงินไม่เยอะ ไม่มาก ก็ยังพอทำใจได้ หรือเก็บไว้เป็นบทเรียน แต่ถ้าเงินเยอะ เงินมาก แถมยัง “จ่ายเงิน” ไปแล้ว จะทำทำอย่างไร? ที่สำคัญ!! บรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก็ปิดเพจ ปิดโทรศัพท์ หนีหายไปอีกต่างหาก

ทุกวันนี้…การได้สินค้าไม่ตรงปก ยังคงเป็นภัยที่แก้ไม่ได้ ในโลกของออนไลน์ ยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด กระบวนการหลอกลวง กลโกงสารพัด ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

มีผลสำรวจของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคใน 13 กลุ่มสินค้า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 64 พบว่า มีมูลค่าใช้จ่ายสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 45.05% จากที่เคยสำรวจในเดือน พ.ย.ปี 63 ที่มีมูลค่า 52,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปก.ปอท. ระบุว่า สินค้าที่ผู้บริโภคถูกหลอกลวงมากที่สุดในโลกออนไลน์ คือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์เครื่องแต่งกาย กีฬาและสินค้าลิมิเต็ด

ส่วนแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่น ที่บรรดามิจฉาชีพนำมาเป็นสื่อกลางในการหลอกขายสินค้ามากที่สุด ก็อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วนั่นแหล่ะ ว่าเป็นแพลตฟอร์มใด

เช่นเดียวกับ...ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 occ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า บอกว่า ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนปัญหาการซื้อของออนไลน์ มากถึง 17,770 ครั้ง

นี่!! เป็นเพียงตัวเลขที่มีการร้องเรียน เข้ามาอย่างเป็นทางการ หากคิดถึงชาวบ้านชาวช่อง ที่ไม่รู้เรื่องไม่รู้จักช่องทางการร้องเรียน หรือบางคนที่ได้สินค้าไม่ตรงปก แต่มีมูลค่าราคาไม่มาก ที่ไม่ได้แจ้งไม่ได้ร้องเรียนอีกล่ะ ซึ่งคงมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องแบบนี้… คงไม่มีใครที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ดีเท่ากับ “ตัวเอง” ที่ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ ก็ต้องตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบร้านค้า ให้แน่ชัด ว่า “ใช่” ในทุกทางเสียก่อน

แต่ถ้าดวงไม่ดี เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ทำได้เบื้องต้นก็ต้อแคปหน้าจอ แคปเอกสารการโอนเงิน การสั่งซื้อ ไว้เป็นหลักฐานแล้วก็ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตามกฎหมายแล้วต้องแจ้งความภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

ขณะที่แพลตฟอร์มขายของออนไลน์เอง มักมี ปุ่มให้คะแนนร้านค้า ..ก็ใช้ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์!!! สินค้าตรงปกหรือไม่ คุณภาพสินค้าดีหรือไม่ ประทับใจร้านค้าหรือไม่ ก็แสดงความเห็น ให้ชัดเจน

หรืออาจร้องขอความช่วยเหลือไปยังหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ. หรือ หน่วยงาน เอ็ตด้า  หรือแจ้งความ ปก.ปอท. และอีกหลาย ๆ หน่วยงาน

แต่สุดท้าย!!! ถ้าทำมาสุดทางแล้วยังทำอะไรไม่ได้ ทางเดียวก็ต้อง “ทำใจ” และใช้เป็นบทเรียนเตือนใจ เพื่อไม่ให้ “เสียรู้” เข้าให้อีก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว…ต่อให้เรื่องถึงตำรวจก็เถอะ ถ้าเป็นมูลค่าไม่มาก อาจไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลาด้วยซ้ำไป!!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”