ต้องยอมรับว่าหลังมีการปลดล็อกกระท่อม จากบัญชียาเสพติด ทำให้ตอนนี้มีการตื่นตัว เริ่มเห็นมีจำหน่ายใบกระท่อมสด ต้นพันธุ์ บ้างก็แปรรูปต้มเป็นน้ำ ชาวบ้านเชื่อในสรรพคุณทำให้มีกำลังวังชา นิยมนำใบมาเคี้ยวสด ๆ ก่อนทำงานหรือยามเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก นอกจากนี้ก็ยังเชื่อว่าช่วยลดอาการเจ็บปวด เรียกว่ากำลังจะกลายเป็น พืชเศรษฐกิจ ในอนาคตที่น่าจับตา

ความท้าทายที่ต้องเร่งศึกษาวิจัย

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้จัดว่าต้นกระท่อมเป็นพืชเสพติด สถานการณ์จึงต่างจาก “กัญชา”  ด้วยความที่ต้นกระท่อมไม่ได้มีทุกประเทศ แต่เมื่อไทยปลดล็อกจากพืชเสพติดแล้ว แต่ก็ยังมี พ.ร.บ.กระท่อม” เข้ามาควบคุม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ห้ามรับประทาน เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่ให้นมบุตร ขณะที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะต้องมีการขึ้นทะเบียน อย. ก่อนนำออกมาขาย แต่การขายแบบใบสดสามารถขายได้โดยตรง ผู้ที่แปรรูปใบกระท่อมจะต้องให้ถูกต้องตามมาตรฐานการผลิต ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และต้องมีการควบคุมปริมาณ

ดังนั้น คนที่ต้องการพัฒนาใบกระท่อมเชิงพาณิชย์ จะต้องรอดูข้อกำหนดของ อย. ที่กำลังจะออกมา เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง    เหมาะสม แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ๆ และค่อนข้างมีปัญหาในการยื่นเอกสาร ซึ่งหลายครั้งเอกสารที่เตรียมไปก็ไม่ครบ หรือพัฒนาสถานที่ผลิตได้ไม่เหมาะสมตามที่กำหนด จึงจำเป็นที่ต้องมีการแก้ปัญหานี้ โดยที่ผ่านมา อย. เล็งเห็นถึงความไม่สะดวกนี้ จนต้องมีการออกข้อกำหนดกลาง เช่น ตอนขอขึ้นทะเบียนกัญชา จะกำหนดว่า ควรบรรจุในปริมาณเท่าไหร่ และขนาดไหนที่เหมาะสม

พืชกระท่อม การสกัดเพื่อให้ได้สารสำคัญ โดยเฉพาะ สารลดปวด ที่มีคุณภาพดี จะต้องมีการสกัดเพื่อให้ได้สารสำคัญเหล่านี้ในกระท่อมออกมา การสกัดใบกระท่อมต้องมีการศึกษาอีกพอสมควร เพราะที่ผ่านมากระท่อมไม่ได้ปลูกได้ทั่วโลก ต่างจากกัญชาที่มีทั่วโลก ทำให้มีผลการวิจัยต่าง ๆมากมาย จนผู้ผลิตรู้แล้วว่าจะสกัดสารสำคัญอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่กระท่อมผลวิจัยมีค่อนข้างน้อยทำให้ความรู้เรื่องการสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ค่อยมีความกว้างขวาง โดยเฉพาะการสกัดให้ได้สาร “ไมทราไจนีน” ในใบกระท่อมจะต้องมีการสกัดด้วยเทคนิคซับซ้อนกว่ากัญชา

วางแผนหาโอกาสลุยตลาดโลก

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่า ถ้ามองโอกาสในตลาดของกระท่อม มีมากกว่ากัญชา ที่มีปลูกทั่วโลก และลูกค้าที่ต้องการรู้แล้วว่าถ้าอยากได้กัญชาที่เขาต้องการต้องไปซื้อที่ประเทศไหน แม้มีการการันตีว่า กัญชาที่ปลูกในบางพื้นที่ดีกว่า แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้ต่างกันมาก ต่างจากกระท่อม ที่ไม่ใช่ว่าซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ต้องซื้อกับบางประเทศที่ปลูกได้ ซึ่งฝรั่งก็เรียกชื่อว่า กระท่อม จึงนับเป็นโอกาสที่จะทำสินค้าเพื่อส่งออก เพราะชื่อของกระท่อม สามารถสื่อสารได้ทั่วโลก แต่ตอนนี้ไทยต้องเร่งศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้สินค้าที่ออกมามีคุณภาพ การสร้างแต้มต่อให้ผลิตภัณฑ์กระท่อมไทยในเวทีโลก จะต้องเร่งทำการวิจัยให้เร็วกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาอย่าง ฟ้าทะลายโจร หรือ กัญชา เราวิจัยช้ามาก จนสุดท้ายประเทศอื่นเร่งวิจัยไปก่อน จนสามารถพัฒนาสินค้าให้ติดตลาดก่อนเรา ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เรามีการใช้กันมาตั้งแต่โบราณ

“ตัวอย่างเช่น จีน ที่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 มา เขามีผลวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่ต่อต้านโควิด กว่า 100 ผลงานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ต่างจากไทย ที่ผลวิจัยยังมีการตีพิมพ์กันแค่ในประเทศ ทำให้สินค้าสมุนไพรของเรา ไม่สามารถไปตีในเวทีตลาดโลกได้ ปัญหาคือเราต้องเชื่อมโยงผลงานวิจัยกับแนวทางการตลาด เหมือนในจีน เมื่อจะทดลองสมุนไพรอะไร เขาต้องมีการสำรวจตลาดก่อน และดูว่าการวิจัยนั้นได้ผลจริงในการรักษา จากนั้นก็มาวิเคราะห์หาผลข้างเคียงด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เมื่อวิจัยเสร็จก็สามารถส่งออกได้เลย เพราะการขายในตลาดโลก เราไม่สามารถเอาใบสดไปขายได้ แต่ต้องมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วย”

กระท่อมเป็นพืชส่วนใหญ่จะขึ้นตามภูมิประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ในแอฟริกาก็มีต้นกระท่อม แต่ไม่มีสารไมทราไจนีน ที่ช่วยบรรเทาอาการปวด แต่กระท่อมในพื้นที่เอเชียมีสายพันธุ์ที่มีสารไมทราไจนีน มีผลวิจัยจากญี่ปุ่นพบว่า สารสำคัญนี้พบมากในกระท่อมของไทย ปริมาณมากกว่ากระท่อมจากมาเลเซีย แม้มีความพยายามสังเคราะห์สารนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เยอะเท่าสารที่มีในใบกระท่อมธรรมชาติของไทย นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างหนึ่ง

คุณประโยชน์โทษที่ต้องควบคุม

ดร.ภญ.ผกากรอง ยังมองด้วยว่า การใช้ใบกระท่อมของคนไทยมีมาตั้งแต่โบราณ โดยจะเคี้ยวใบสด 2-3 ใบ แล้วคายกากทิ้ง ก่อนจะทำงานเพราะเชื่อว่าช่วยให้มีเรี่ยวแรงทำงาน ขณะที่หมอพื้นบ้านใช้ใบกระท่อมมาบดผสมเป็นยาแก้ปวด ยาแก้เบาหวาน จากการนำมาศึกษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ก็พบว่า ใบกระท่อมมีส่วนที่ทำให้อาการของคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้บรรเทา ถ้ามองถึงการสร้างศักยภาพ จึงควรมีการส่งเสริม ตำรับยาของใบกระท่อม ที่ช่วยผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะจากประสบการณ์ที่ลงไปในชุมชนเพื่อศึกษาเรื่องนี้ คนที่ใช้กระท่อมและป่วยเป็นเบาหวาน ให้ข้อมูลตรงกันว่า ช่วยบรรเทาอาการได้ เพราะคนที่ป่วยเมื่อใช้ยาแผนปัจจุบันจะมีผลบางอย่างต่อการใช้ชีวิต เช่น ทานอาหารไม่อร่อย หรือทานอาหารแล้วอยากทานของหวานต่อ แต่คนที่ใช้กระท่อมในการรักษาบอกว่าจะช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลง

“ด้วยความที่กระท่อมมีสารไมทรา  ไจนีน หากมีการพัฒนาให้มีการคงสภาพและคุณภาพที่ดี โดยสารสามารถทำงานได้ดีกว่าการสกัดแบบเดิม จะทำให้เราลดการนำเข้า ยาแก้ปวดจากต่างประเทศได้ เพราะจากปัญหาโควิดจะเห็นเลยว่า ยาบางชนิดที่นำเข้ามามีปริมาณที่ลดลง เนื่องจากประเทศ    ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้ เช่น ยาแก้ปวด ทำให้เรามีปัญหาในการขาดแคลนยา แต่ถ้าเราพัฒนายาได้เอง เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น เราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพิงยาของต่างชาติมากเหมือนที่ผ่านมา”

ส่วนสิ่งที่ต้องระวังในการใช้ใบกระท่อมคือ เมื่อกินต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้ติดได้ ดังนั้นควรมีการใช้ที่เหมาะสม เพราะหมอยาโบราณที่ใช้กันมองว่า ถ้าใช้เยอะและนานติดต่อกันจะมีผลกดประสาททำให้หลอนได้ แต่ถ้าเทียบกับสารเสพติดอื่น ๆ กระท่อมจะมีสารเสพติดน้อยกว่า และใบของกระท่อมอาจทำให้ท้องผูก ตอนนี้เริ่มมีคนนำใบมาทอด ซึ่งการแปรรูปจึงควรนำก้านใบที่มีความแข็งและเหนียวออกก่อน เพราะสมัยก่อนมีคนทานแล้วก้านใบติดอยู่ในระบบทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ ส่วนหนึ่งเราเชื่อได้ว่า ถ้าทานใบกระท่อมแบบไม่มากเหมือนคนสมัยก่อนก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ในตำรายาโบราณระบุไว้ด้วยว่า ใบกระท่อมจะไม่เหมาะกับคนที่มีธาตุเย็นมาก ๆ เช่นเดียวกับคนที่มีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำก็ไม่เหมาะที่จะทาน แต่ช่องว่างตอนนี้คือ เราไม่มีข้อมูลการวิจัยในการนำมาใช้ในเด็ก หรือคนที่ให้นมบุตร สิ่งนี้จึงต้องระวัง อยากฝากคนที่สนใจจะทำผลิตภัณฑ์กระท่อมเพื่อการค้า อยากให้เริ่มจากเล็ก ๆ แล้วค่อยพัฒนาในด้านนวัตกรรม ซึ่งระยะแรกคนก็จะตื่นตัวในการมาซื้อใบกัน แต่พอนานไปก็เริ่มมีคนนำมาขายมากขึ้น จนเกิดการตัดราคากัน เหมือนกับกัญชาที่ระยะแรกใบสดราคาในตลาดแพงมาก แต่พอนานเข้าราคาก็ลดลง

ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงภาครัฐ ในการพัฒนากระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกในระยะยาว จะต้องมีกระบวนการจัดการงานวิจัย ที่สัมพันธ์กับการขึ้นทะเบียนด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก มีโอกาสในการพัฒนาสินค้าของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้วย สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายที่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ถึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน.