ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ซึ่งได้หยิบเอาข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas พบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน และมากกว่า 90% เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในจำนวนนี้พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย คาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวาน

ทั้งนี้ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า โรคเบาหวาน เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หิวบ่อย มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บาดแผลหายช้า หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา

ทั้งนี้ หลักการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อปรับให้ร่างกายเกิดสมดุล โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแป้ง และน้ำตาล เน้นการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ “มะระขี้นก” เป็นสมุนไพรรสขมมีสรรพคุณ แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร และมีสารสำคัญที่ชื่อ charantin ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถึงแม้จะมีรสขมแต่สามารถนำมาประกอบเมนูได้หลากหลายและช่วยลดความขมลงได้ เช่น แกงคั่วมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ผักรวม ดื่มแก้ดับกระหายและสดชื่น

“ตำลึง”  เป็นสมุนไพรรสเย็น ใบและเถาของตำลึงมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีคุณค่าทางด้านอาหารสูงนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกงจืด แกงเลียง และต้มเลือดหมู

“เตยหอม” มีรสหวานหอมเย็น ต้นและรากใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากจะใช้แต่งกลิ่น แต่งสีในเมนูขนมแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำเตยหอม ดื่มแก้กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น อีกด้วย

“ผักเชียงดา” เป็นผักพื้นบ้านของทางภาคเหนือ นำมาปรุงอาหาร ทำเป็นชาชง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และชะพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร และ ลดระดับน้ำตาลในเลือด การนำชะพลูมารับประทานสามารถรับประทานได้ทั้งสุกหรือใบดิบ แต่ไม่ควรรับประทานใบสดมากเกินไป เพราะอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ และอาจทำให้ เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะได้

นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดได้ดี คือ “ตำรับยามธุระเมหะ” สรรพคุณ ลดน้ำตาลในเลือด

การใช้ยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในสถานพยาบาล”

อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และช่วยให้แข็งแรง คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมกับร่างกาย เช่น กายบริหารท่าฤๅษีดัดตน การว่ายน้ำ รำมวยไทเก๊ก เดินเบาๆ และที่สำคัญควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี.

———————-
อภิวรรณ เสาเวียง