ทั้งนี้ เรื่องของอุบัติเหตุทางถนนนั้นนอกจากจะมีปัจจัยจากการ “ขับขี่ประมาท-ง่วงแล้วขับ-เมาแล้วขับ หรือจาก “สภาพรถที่เป็นปัญหา” ตลอดจนจาก “เหตุสุดวิสัย” รูปแบบต่าง ๆ แล้ว…ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอพลิกแฟ้มสะท้อนย้ำไว้ด้วยก็คือ…จากปัจจัย-สาเหตุ ’ถนนไม่ปลอดภัย“ ในลักษณะต่าง ๆ ที่ไม่อาจปฏิเสธว่าในประเทศไทยเคยมีอยู่จริง ๆ และเรื่องนี้กรณีนี้ก็ ’จำเป็นต้องใส่ใจแก้ไข“ ด้วยเช่นกัน…

      “เตรียมตัว-เตรียมการ” รับช่วงปีใหม่

      กับ “การเดินทาง” นั้น “จะต้องใส่ใจ!!”

      และ “ต้องใส่ใจรองรับให้ครบทุกด้าน!!”

ทั้งนี้ วันนี้มาย้อนดู “มุมวิเคราะห์สาเหตุ-ปัจจัย” ที่ทำให้ ’ถนนไม่ปลอดภัย“ ที่สามารถจะส่งผลให้ ’เกิดอุบัติเหตุแทบจะรายวัน“ หรือ’เกิดเหตุร้ายรุนแรงอย่างไม่คาดคิด“… ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น…แต่ก็เกิดขึ้นได้!!! โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ทาง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ในฐานะผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้เคยมีการสะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… “อุบัติเหตุทางถนน” โดยรวมแล้ว เกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ เพราะมีหลาย ๆ ปัจจัย ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้ โดยหลาย ๆ สาเหตุ หรือหลาย ๆ ปัจจัยนี้…ก็ มีทั้ง “ปัจจัยหลัก” และ ’ปัจจัยร่วม“

ทาง นพ.ธนะพงศ์ ได้เคยระบุแจกแจงไว้อีกว่า… อุบัติเหตุบนท้องถนน“ ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วหลายคนอาจจะมองว่า…เกิดจาก “พฤติกรรมขับขี่” เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งเรื่องการขับรถด้วยความเร็ว, การไม่เคารพกฎจราจร, การเมาแล้วขับ หรือเกิดจากการประมาทเลินเล่อ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า… คน…เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 95% อย่างไรก็ตาม แต่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนหลาย ๆ กรณีก็ยัง มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย โดยที่เรื่องของ’กายภาพถนน“ นั้นก็เป็นเรื่องที่ ’ไม่ควรมองข้าม“ เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็น ’จำเลยร่วม“ การ ’ก่อความไม่ปลอดภัย!!“

ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมยังเคยสะท้อนเรื่องนี้ไว้เพิ่มเติมว่า… สภาพถนนในประเทศไทยถือเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้สูงถึงกว่า 28% หรือราว 1 ใน 4 ของสาเหตุที่ทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีปัจจัยในลักษณะนี้ขึ้นแล้ว…ถ้าหากเป็น “กรณีในต่างประเทศ” ที่พบสาเหตุว่า เกิดจากความบกพร่องของถนน กรณีเช่นนี้ทาง “เจ้าทุกข์-ผู้เสียหาย” ก็สามารถจะ “ฟ้องร้องได้ยกพวง” ตั้งแต่ “ผู้รับเหมา-ผู้คุมงาน-ผู้ตรวจรับงาน” ในการทำถนนเพราะถือเป็น “ความรับผิดชอบโดยตรง” แต่การฟ้องร้องเช่นนี้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ…ในไทยมีน้อยมาก

และสำหรับสาเหตุที่ไทยมีคดีลักษณะนี้น้อยมากนั้น ทาง นพ.ธนะพงศ์ ก็เคยสะท้อนไว้ว่า… ในประเทศไทยนั้นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นส่วนใหญ่ก็มักจะถูกตัดตอนไป โดยมักจะ โทษผู้ขับขี่ ว่า… ประมาท ซึ่งส่งผลทำให้’ปัจจัยร่วมอื่น ๆ“ ที่อาจมีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ ’มักจะถูกมองข้ามไป!!“ …จนทำให้ ไม่มีการตรวจสอบ หรือ ไม่เกิดกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ที่เป็น “เบื้องหลังอุบัติเหตุ” …ซึ่งประเทศไทยก็ ’ควรที่จะต้องทบทวนวิธีคิดใหม่“ เกี่ยวกับกรณีนี้…

“อีกเรื่องก็คือ ในไทยไม่ค่อยมีการวิเคราะห์อุบัติเหตุแบบลงลึกด้วยการนำหลักวิชาการและเทคโนโลยีมาใช้พิสูจน์ รวมไปถึงการนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ทำให้บางทีเรื่องก็เงียบหายไป โดยที่สังคมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า…แท้ที่จริงอุบัติเหตุนั้นเกิดจากคนหรือสภาพถนนกันแน่??” …นพ.ธนะพงศ์ ระบุไว้

อีกทั้งยังเคยมีการชี้ไว้ว่า… ผลจากการที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ลงลึกเช่นนี้…กรณีนี้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมนั้นไม่ได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไขให้ดีขึ้น ทำให้ ถนนบางเส้นมักจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ เพราะสาเหตุได้ถูกยกให้เป็น “คน-ความประมาทของคน” ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องยอมรับว่า… กายภาพถนน-มาตรฐานถนน“ ก็ถือว่าเป็น’ปัจจัยสำคัญเช่นกัน“ ซึ่งพบได้ทั้ง ถนนหลวง ถนนเมือง ถนนท้องถิ่น ที่ต่างก็เจอกับปัญหาดังกล่าวนี้ได้ทั้งสิ้น

“ถนนที่เกิดปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีผู้รับเหมาหลายเจ้าเข้ามารับผิดชอบ ประกอบกับอาจจะขาดคุณภาพและมาตรฐานในการก่อสร้าง ทำให้ถนนที่สร้างขึ้นเกิดการชำรุดเสียหาย ทั้งที่เพิ่งจะทำเสร็จไปได้ไม่นาน”…ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมระบุไว้ พร้อมชี้ถึงอีกสาเหตุ’ถนนไม่ปลอดภัย“ ที่พบบ่อย

ทั้งนี้ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เคยระบุไว้ด้วยว่า… ที่จริงการก่อสร้างถนนของหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีมาตรฐานการก่อสร้างกำหนดอยู่ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ แต่ก็เกิด “คำถาม” ว่า… หากใช้มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ…เหตุใดยังเกิดปัญหาขึ้นบ่อย?? …ซึ่งอาจจำเป็น “ต้องทบทวนมาตรการ” เกี่ยวกับเรื่องนี้…

ยิ่งมีปัญหา ยิ่งต้องหาสาเหตุ ว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยใด?? และยิ่งต้องหันมาทบทวนการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างถนน… เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในยามที่ต้องใช้ชีวิตบนท้องถนน“ …เป็น ’ข้อเสนอแก้ปัญหา“ ที่ทางผู้สันทัดกรณีด้านความปลอดภัยทางถนนเคยเสนอแนะไว้…กับกรณีถนนไม่ปลอดภัย’ถนนอันตราย!!“…

      มิใช่เพิ่งจะเสนอ…เสนอไว้ตั้งนานแล้ว“

      ก็หวังว่า…วันนี้ทบทวนแก้ไขดีแล้ว??“

      ปีใหม่…ถนนห่วยทำตายไม่มีแล้ว??“.