มีข้อมูลระบุว่าปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับถึง 14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอีกภาคอุตสาหกรรมของไทยที่สามารถดึงเม็ดเงินสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในแต่ละปีไม่ใช่น้อย แต่…ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยก็ห้ามประมาทเด็ดขาด!! เพราะมีคู่แข่งที่รอจ้องจะสู้กับไทยไม่น้อยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ ’ไทยต้องเร่งอัปเกรด“ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านนี้เช่นกัน…
เพื่อที่ ’จะไม่ให้คู่แข่งวิ่งแซงไทย“…
จะ ’ต้องยกระดับความรู้-เทคโนโลยี“
โดยที่ ’นำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ามาใช้“
เกี่ยวกับการ “อัปเกรดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้… เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมวิจัยไทย ประกอบด้วย… รศ.ดร.สิริพร โรจนนันต์, รศ.ดร.สุรศิษฐ์ โรจนนันต์, ศิรินทรา จิตชุ่ม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้มีการเผยถึงผลสำเร็จในการ พัฒนาโลหะผสมทองขาวขึ้นใหม่เพื่อ ’เพิ่มมูลค่าทอง“ ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยในส่วนผสมของสูตรที่คิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่นี้ จะช่วย ทำให้ทองที่ทำขึ้นมีความสวย แวววาว และทนการขูดขีดได้ดี อีกทั้งยัง ทำให้ทองไม่หมองง่าย ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดนวัตกรรมนี้ รศ.ดร.สิริพร หนึ่งในทีมวิจัย ให้ข้อมูลไว้ว่า… ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากตัวอัญมณีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ’ตัวเรือนเครื่องประดับ“ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ แพลทินัม (Platinum) ที่เป็นโลหะเนื้อสีขาว นำมาใช้ทำตัวเรือน ส่วนกลุ่มที่มีราคาแพงกว่านั้นนิยมใช้ ทองคำ แต่ก็มีราคาที่แพงกว่าแพลทินัม 2-3 เท่า จนเกิดการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ขึ้น อย่าง โลหะผสมทองขาว (White Gold Alloys) โลหะที่ ผสมระหว่างทองคำกับธาตุต่าง ๆ เช่น เงิน ทองแดง สังกะสี นิกเกิล และอื่น ๆ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในวงการอุตสาหกรรมเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม แต่การใช้โลหะผสมทองขาวนี้ก็มีปัญหาสำคัญคือ นิกเกิลที่ผสมในโลหะผสมทองขาวอาจทำให้ผู้สวมใส่บางคนเกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดงได้ ดังนั้น สหภาพยุโรปมีกฎหมายจำกัดปริมาณนิกเกิลในเครื่องประดับที่นำเข้า โดยปริมาณนิกเกิลที่ถูกปล่อยจากเครื่องประดับที่สัมผัสผิวหนังต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรของผิวที่สัมผัสต่อสัปดาห์ ซึ่งข้อบังคับนี้ทำให้เกิดความต้องการโลหะผสมทองขาวที่ไม่มีส่วนผสมของนิกเกิลมาเป็นตัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ โลหะผสมทองขาวที่ไม่ใส่นิกเกิลมักมีสีเนื้อโลหะสีขาวออกเหลืองอ่อน ไม่เป็นสีขาวเหมือนแพลทินัม ทำให้ไม่สวยงาม…
ผู้ผลิตจึงมัก ’ใช้วิธีนำไปชุบโรเดียม“
’ทำให้ตัวเรือนมีสีขาว“ ตามต้องการ
หากแต่ ’วิธีนี้มีปัญหาสำคัญตามมา“
หนึ่งในทีมวิจัยให้ข้อมูลไว้อีกว่า… วิธีนี้ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ ตัวเรือนเครื่องประดับประเภทนี้เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งมักเกิดการสึก ลอก หลุด ล่อน ของผิวโรเดียม เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง สีขาวอมเหลืองของเนื้อโลหะชั้นในก็จะปรากฏขึ้นมา ทำให้เครื่องประดับนั้นอาจจะดูด้อยมูลค่าลง ซึ่งจากเรื่องนี้ก็ได้นำมา เป็น ’โจทย์วิจัย“ จนนำมาสู่การ ’สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าทอง“ ด้วยการ ’พัฒนาโลหะผสมทองเพื่อเปลี่ยนจากสีเหลืองให้กลายเป็นสีขาว“ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตและลูกค้าที่นิยมเครื่องประดับทองแท้ประเภท High End ที่มีราคาสูงกว่าเครื่องประดับทองสีเหลือง
ทาง รศ.ดร.สิริพร ยังระบุไว้ว่า… จากการทำงานวิจัยที่ผ่านมา ได้ค้นพบส่วนผสมใหม่และกระบวนการผลิตใหม่ในการสร้างสรรค์โลหะผสมสีขาว ที่สามารถแก้โจทย์ที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องการได้ครบถ้วน โดยสูตรนี้ ช่วยให้ได้ทองที่มีเนื้อโลหะสีขาวเกรด Premium White ที่ไม่มีนิกเกิลเจือปน จึงถือเป็น ทางเลือกใหม่ของสินค้าเครื่องประดับราคาสูงให้กับผู้ประกอบการไทย ด้านนี้ที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวผู้สวมใส่ แถมมีความแข็งมากกว่าเดิม จึงทนต่อการบิดเบี้ยวเสียรูป การเสียดสี การขีดข่วน และความหมอง ได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้ามาสเตอร์อัลลอยส์จากต่างประเทศ
’ช่วยแก้ปัญหาหลักในการส่งออกเครื่องประดับไปยังต่างประเทศ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงทำให้ขายได้ราคาที่สูงขึ้นด้วย ที่ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทองได้โดยไม่ต้องชุบผิวด้วยโรเดียม ทำให้ลดขั้นตอนการผลิต และลดต้นทุนจากค่าชุบโรเดียมลงได้อีก“ …ทาง รศ.ดร.สิริพร ระบุไว้ถึงประโยชน์ “โลหะผสมทองขาวชนิดใหม่”
นอกจากนั้น การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยนักวิจัยของไทยนี้ยังช่วยทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล จากการส่งออกเครื่องประดับไปจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้าไทย อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาวงการเครื่องประดับของไทย ซึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย …ทาง รศ.ดร.สิริพร ระบุไว้ถึง ’สิ่งที่ไทยจะได้“ จากนวัตกรรมนี้…
ที่…’ลดต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ“
และ ’อัปอุตสาหกรรมเครื่องประดับ“
ช่วย ’เพิ่มศักยภาพการแข่งขันไทย“.