พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นจากการ ตรัสรู้ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เอง ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช พระองค์ทรงเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญาที่ ได้สะสมอบรมพระบารมีถึง 4 อสงไขยแสนกัป       

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งเป็นความจริงอันถึงที่สุด (อริยสัจธรรม) ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีสามัญลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง ) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไมได้ (อนัตตา) ซึ่งหมายถึง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีการเกิดดับตามเหตุปัจจัย ดังพระพุทธพจน์มีว่า

“สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง (สัพเพ สังขารา อนิจจา)

สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์ (สัพเพ สังขารา ทุกขา)

ธรรมะทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา (สัพเพ ธรรมา อนัตตา)”

ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อปีพุทธศักราชที่ 0 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ทรงไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นศาสดาสืบแทน ข้อความในพระสุตันตปิฎกมีว่า พระธรรมทรงแสดงไว้ดีแล้ว ครบถ้วน เป็นศาสดาแทนพระองค์ หลังการเสด็จพระดับขันธปรินิพพาน พระธรรมจึงเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนามาตราบเท่าทุกวันนี้

หลังการเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงมาเป็นเวลา 3 เดือน มีการสังคายนาพระธรรมครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการประชุมของพระอรหันต์ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเถระเป็นผู้นำการประชุม เพื่อประมวล รวบรวมพระธรรมเป็นหมวดหมู่ ซึ่งเป็นคำจริงจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อความในพระสุตตันตปิฎกมีว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ (เอวัมเม สุตัง) ซึ่งเป็นคำกล่าวของพระอานนท์ หมายถึง ได้ฟังมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ประกอบด้วย พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันต์ พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์  รวม 84,000 พระธรรมขันธ์

พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาพุทธเจ้า เกิดจากการประจักษ์แจ้งในความจริง ไม่ใช่การคิด ไม่ใช่การวิเคราะห์ ไม่ใช่การพยายามค้นหาคำตอบ แต่เกิดจากการตรัสรู้โดยพระองค์เอง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่มีคำสอนให้รู้สภาวธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

พระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่ง เห็นยาก เข้าใจยาก ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจึงต้องมีความศรัทธา ความเพียร ความอดทน โดยมีการฟังธรรมและมีการพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ฟัง เพื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จนเกิดปัญญาเป็นของตนเอง 

การมีความเคารพนับถือและเคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริงอันถึงที่สุด การมีความเคารพนับถือและเคารพยำเกรงต่อพระธรรม ซึ่งเป็นศาสดาสืบแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การมีความเคารพนับถือและเคารพยำเกรงต่อพระอริยสงฆ์ ผู้ที่มีการอบรมเจริญปัญญาเข้าถึงมรรคผล ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นสิ่งที่พุทธบริษัททั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดและมีความจริงใจในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทที่ขอถึงพระรัตนตรัย

การถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ได้แก่ การเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และน้อมกาย วาจา ใจ นำพระรัตนตรัยเข้าไปไว้ในตน เพื่อแสดงว่าตนมีพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกนึกถึง และเป็นที่พึ่งตลอดไป และแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง (พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ)

ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง (ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ)

ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง (สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ)

กรณีที่พระมหาหรรษา ธัมมหาโส อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.64 ว่า พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมม จิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ ได้ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) รวมถึงนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ชี้แจงวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยได้มีการพิจารณารายชื่อนักวิชาการที่จะเข้ามาแปลพระไตรปิฎกแล้ว รวม 69 รูป/คน ซึ่งมาจากประเทศไทย 47 รูป/คน และต่างประเทศ 22 คน เพื่อนำรายชื่อเสนอให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

โครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ มีการแปลจากพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ ซึ่งมีการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับการแปลพระไตรปิฎกดังที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นการแปลจากภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ด้วยความรอบคอบ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความแตกต่างไปจากศาสนาอื่น พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความสุขุมลุ่มลึก หากมีการแปลผิดพลาดและคลาดเคลื่อน จะมีผลกระทบต่อพระธรรมซึ่งเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน แทนที่พระธรรมจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสัตวโลก กลับจะสร้างความสับสนและสงสัยในพระธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง

การศึกษาพระธรรมของพุทธบริษัทในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะมี การฟังธรรมและสนทนาธรรมเป็นเบื้องต้น การอ่านพระไตรปิฎกเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งหลังจากที่มีการสะสมความรู้ความเข้าใจในการฟังธรรมและสนทนาธรรม จึงค่อยมาอ่านพระไตรปิฎกเพื่อให้มีความเข้าใจในพระธรรมมากยิ่งขึ้น แม้กระนั้นเมื่ออ่านพระไตรปิฎกไม่ค่อยเข้าใจ ยังต้องมาอ่านอรรถกถาและฎีกาซึ่งพระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์ได้รจนาไว้ ซึ่งมีการอธิบายความหมายในพยัญชนะให้มีความชัดเจนขึ้น ฉะนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถอ่านได้

การฟังธรรมและการสนทนาธรรมที่ตรงตามพระพุทธพจน์ตามในพระไตรปิฎกมีความสำคัญยิ่ง เพราะการฟังธรรมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา กล่าวคือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง (สุตามยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาไตร่ตรอง (จินตามยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการอบรมให้มีขึ้น เจริญขึ้น (ภาวนามยปัญญา) นี่คือปัญญาทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาทางโลกอย่างที่เข้าใจกัน

ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณากันอย่างจริงจังในการดำเนินโครงการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ คือ คุณสมบัติของคณะอนุกรรมการดำเนินการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ มีความเหมาะสมเพียงไร หากเป็นภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ เป็น “ภิกษุในพระธรรมวินัย” มีภูมิธรรมสูงล้ำ มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม มีความเชี่ยวชาญภาษาบาลีและภาษาอังกฤษ หากเป็นนักวิชาการไทยที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ เป็น “ชาวพุทธที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยปัญญา” มีความเชี่ยวชาญภาษาบาลีและภาษาอังกฤษ ตลอดจนนักวิชาการชาวต่างชาติที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ เป็น “ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยปัญญา” มีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีและภาษาอังกฤษ โครงการแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ ในครั้งนี้ ย่อมจะมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ถ้าไม่เป็นดังที่กล่าวมานี้ก็จะมีผลเป็นตรงกันข้าม

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม