หากเป็นคนยุค 90 เชื่อว่าคงคุ้นเคยกับ “ขนมน้ำตาลปั้น” ขนมหวานเสียบไม้ที่อยู่คู่งานวัด ที่ไม่เพียงแค่มีสีสันหน้าตาน่ารักชวนชิม ลีลาของ “พ่อค้านักปั้นน้ำตาล” ขณะขึ้นรูปขนมก็ยังชวนให้เฝ้ามองอีกด้วย…โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ จนเรียกได้ว่านักปั้นน้ำตาลเหมือนเป็นพระเอกคนหนึ่งของงานวัดเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ เบื้องหลังชีวิตผู้ทำอาชีพนี้หลาย ๆ คนก็มีเรื่องราวน่าสนใจ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ก็จะชวนดูเรื่องราวของหนึ่งในคนที่ทำอาชีพนี้… “สันชาติ สุขสันติ” นักปั้นน้ำตาลมือวางอันดับต้น ๆ…

“ทำอาชีพนี้หาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว มานานกว่า 28 ปีแล้วครับ” เป็นอายุงานในอาชีพ “นักปั้นน้ำตาล” ของ “สันชาติ สุขสันติ” หรือ “ชาติ” วัย 47 ปี โดยเขาเล่าว่า พื้นเพเป็นคนนครราชสีมา ด้วยความที่พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก เขาเลยต้องอาศัยอยู่กับตายาย และหลังเรียนจบชั้น ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะฐานะทางบ้านไม่ดี ประกอบกับมีพี่น้องหลายคน เขาจึงต้องออกหางานทำ โดยมีลูกพี่ลูกน้องมาชวนให้เขาไปทำงานอาชีพรับจ้างและงานก่อสร้าง ส่วนจุดเริ่มต้นอาชีพ “นักปั้นน้ำตาล” นั้น เขาเล่าว่ามีที่มาจากคุณพ่อที่ทำอาชีพนี้ โดยคุณพ่อถ่ายทอดวิชาให้พี่ชายของเขา ซึ่งต่อมาพี่ชายเห็นน้องลำบาก เพราะงานรับจ้างกับงานก่อสร้างที่ทำอยู่มีบ้างไม่มีบ้าง จึงชวนให้ลองทำอาชีพนี้ ซึ่งมีข้อดีคือเป็นนายตัวเอง เรียกว่าทำเยอะได้เยอะ ขยันหน่อยก็เลี้ยงดูตัวเองได้ เผลอ ๆ อาจมีเงินเก็บด้วย เพราะในยุคนั้นมีงานวัดงานงิ้วเยอะ…

“ตอนนั้นจริง ๆ ก็เริ่มคิด ๆ แล้วว่า หากยังทำงานรับจ้างต่อไปจะหากินลำบาก แต่เวลานั้นถึงผมจะสนใจอาชีพนี้ ช่วงแรก ๆ ที่ทำก็ยอมรับเลยว่าเราไม่มีความสามารถทางนี้เลย ไม่มีแววเลย แต่ก็ได้พี่ชายให้กำลังใจและคอยสอนให้ โดยพี่ชายมักจะเรียกให้ไปเป็นผู้ช่วย ให้เราเหมือนครูพักลักจำ สังเกตว่าลายนี้ต้องตัดอย่างไร ขึ้นรูปอย่างไร เมื่อเข้าใจพื้นฐานแล้วก็ดัดแปลงเป็นลายอื่นได้ โดยพี่ชายนอกจากจะสอนให้แล้ว ยังแนะนำที่ขายให้ด้วย”

…นักปั้นน้ำตาลรายนี้เล่าเส้นทางชีวิต อย่างไรก็ตาม สันชาติบอกว่า แต่ต่างจังหวัดพื้นที่ขายแคบ โรงเรียนแต่ละแห่งก็ห่างกัน ทำให้ขายได้ลำบาก ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ ที่มีโรงเรียนเยอะ แถมอยู่ใกล้ ๆ กัน พี่ชายจึงชวนให้ปั้นน้ำตาลขายที่กรุงเทพฯ โดยเช่าบ้านอยู่กันเป็นกลุ่ม แล้วแบ่งพื้นที่กันไปขาย ซึ่งทุกวันก่อนออกไปจะคุยกันก่อนว่าใครจะไปเส้นไหนที่ไหน เพื่อไม่ให้ทับพื้นที่กัน หลังคุยกันเรียบร้อยแล้วทุกคนก็จะนำอุปกรณ์ขึ้นจักรยานแยกย้ายกันไป ซึ่งสมัยนั้นน้ำตาลปั้นรูปแบบพื้น ๆ อย่างรูปลูกโป่ง ราคาจะอยู่ที่ไม้ละ 2 บาท หรือถ้ายากขึ้นอีกนิด เช่น รูปลิงตกปลา, มังกร, ไก่, นก ราคาก็อยู่ที่ไม้ละ 5 บาท

“แรก ๆ ที่ทำอาชีพนี้ในกรุงเทพฯ ผมยอมรับว่าอายมาก เพราะมันไม่เหมือนต่างจังหวัด โดยพอตั้งแผงที่หน้าโรงเรียน คนโน้นก็มองคนนี้ก็มอง แต่มันก็จะมีจังหวะที่เด็กขี้เล่นจะมาเล่นด้วย ซึ่งเด็กบางคนก็แสบมาก ๆ (หัวเราะ) เช่น มาบอกว่าให้ลุงช่วยปั้นรูปลิงเล่นว่าวให้หน่อย (หัวเราะ) หรือมาท้าว่าปั้นเป็นหรือเปล่า ผมก็บอกว่า เอ้า…เดี๋ยวลุงทำให้ดู ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะปั้นได้หรือเปล่า แต่พอปั้นเสร็จแล้ว เด็กบอกว่าใช่เลย แบบนี้แหละ มันก็ทำให้เรามีกำลังใจขึ้น ผมก็คิดว่าอาชีพนี้มันต้องอาศัยเล่นกับเด็กด้วยถึงจะขายได้ เพราะหลังจากนั้นเด็ก ๆ ก็ชวนกันมามุงที่ร้านตลอด แต่ก็มีบางวันที่เด็กบางคนบอกว่า ลุง…วันนี้หนูไม่มีตังค์ พรุ่งนี้มาใหม่นะ เดี๋ยวหนูกับเพื่อนจะมาซื้อ อะไรประมาณนี้ ผมก็ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบน้ำตาลปั้นที่เด็กจะชอบกันมาก ก็จะมีรูปอุลตร้าแมน, มดเอ็กซ์, โดเรมอน หรือตัวการ์ตูนในเรื่องดรากอนบอล และพวกตัวตั๊กแตน กับดอกไม้”

สันชาติ เล่าอีกว่า อาชีพนี้ต้องอาศัยจินตนาการมาก และพวกตัวการ์ตูนต่าง ๆ เขาก็ต้องเคยเห็น เคยดู เคยผ่านตามาบ้าง จึงจะจินตนาการได้ถูก โดยปัจจุบันตอนนี้น้ำตาลปั้น 1 ตัวราคาก็จะอยู่ที่ราว ๆ 10 บาทเท่านั้น เพราะขายหน้าโรงเรียน เด็ก ๆ เขามีกำลังซื้อน้อย ซึ่งถ้าเด็กมากับผู้ปกครอง แบบนี้ก็จะขายได้ง่ายหน่อย ซึ่งการขายหน้าโรงเรียนนี่ถ้าขยันก็จะขายได้วันละ 2 รอบ คือช่วงเช้าก่อนเข้าโรงเรียน และช่วงเย็นตอนเลิกเรียน โดยสมัยก่อนนั้นตอนเช้าเขาจะขายได้เงินประมาณ 100 บาท ส่วนตอนเย็นจะได้เยอะหน่อย เพราะเด็กจะมีเวลาและผู้ปกครองมารับ ก็จะขายได้อีก 100-160 บาท บวกกันไปเช้าเย็นก็พอได้ เพราะสมัยนั้นเรียกว่าได้เงินวันละ 200 บาทก็ถือว่าเยอะแล้ว สมัยนั้นเขาทำงานก่อสร้างยังได้แค่วันละ 65 บาทเท่านั้น

“ปั้นน้ำตาลนี่ไม่ง่ายนะครับ เพราะตอนปั้นจะร้อนมือมาก และพลาดไม่ได้เลย เมื่อก่อนผมมือพองหลายครั้ง เพราะน้ำตาลร้อน ๆ ติดมือ พี่ชายก็แนะนำให้เอาแป้งมันมาทามือให้ลื่น ก็เป็นเทคนิคที่ได้จากพี่ชายที่มีประสบการณ์มากกว่า ส่วนรูปแบบการปั้นก็ขึ้นกับไอเดียหรือจินตนาการแต่ละคน อย่างพี่ชาย อายุ 60 กว่าแล้ว จะไม่ค่อยทันกระแสของเด็ก ส่วนผมยังเด็กกว่าเขา ก็เลยเลือกที่จะปั้นตามกระแสที่เด็กชอบ และต้องรู้จักประยุกต์ เพราะหากปั้นรูปเดิม ๆ เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะไม่รู้จัก ทำให้ผมต้องหาวิธีเข้าถึง เช่น ถ้าผมปั้นรูปฉลาม ก็ต้องร้องเพลงเบบี้ชาร์คประกอบด้วย หรือร้องเพลงทรงอย่างแบด ปั้นรูปคนร้องเพลง แต่ก็ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่ (หัวเราะ) จะออกเป็นแนว ๆ รูปการ์ตูนล้อเลียนครับ” สันชาติเล่าถึงเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากอาชีพนี้

สำหรับ “ความยาก” ของการทำอาชีพนี้ เขายังบอกว่า มี 2 ขั้นตอน คือ การเคี่ยวน้ำตาล ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องทำตัวให้เหมือนเครื่องจักร เพราะต้องเคี่ยวน้ำตาลไปเรื่อย ๆ จะหยุดเคี่ยวไม่ได้เลย ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง โดยเริ่มแรกจะใช้น้ำตาลทรายขาวกับกะทิตั้งไฟไว้ เมื่อน้ำตาลเดือดแล้วจะลุกไปไหนไม่ได้เลย เพราะต้องใช้มือคนเคี่ยวตลอดเวลา จนกว่าน้ำตาลจะได้ที่ และขั้นตอนที่สองคือ ความร้อนในการปั้น ที่เป็นขั้นตอนซึ่งทำให้หลายคนถอดใจมาเยอะ เพราะต้องใช้มือปั้นน้ำตาลตอนร้อน ๆ โดยไม่สามารถใส่ถุงมือได้ กับต้องใช้ความเร็วในการทำ ไม่เช่นนั้นน้ำตาลจะแข็งตัว ทำให้ปั้นต่อไม่ได้

ส่วน “รูปแบบบังคับ” ที่คนปั้นน้ำตาลจะต้องทำให้ได้ทุกคน นั่นก็คือรูป “ลิงตกปลา” ที่ถือเป็นรูปแบบมาตรฐาน ที่ถือเป็น “โลโก้ของนักปั้นน้ำตาล” เลยก็ว่าได้ ขณะที่รูปแบบอื่น ๆ ตอนนี้ ในปัจจุบันที่คนนิยมมากก็คือรูป “โลลิป๊อบ (Lollipop)” ที่วัยรุ่นกับเด็ก ๆ จะชอบมาก รองลงมาคือรูป “หัวใจ” ส่วนถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็จะเป็นรูป “แคร์แบร์ (หมีสีชมพู)” ขณะที่เด็กผู้ชายก็จะเป็น “อุลตร้าแมน” …สันชาติเล่าถึง “เทรนด์นิยม” ของ “ขนมน้ำตาลปั้น” ที่ทำขายอยู่

ไปทำโชว์ออกรายการทีวี

นอกจากฝีมือปั้นน้ำตาลต้องดีแล้ว สำหรับตัวของสันชาติเองเขาบอกว่า ก็ยังต้อง “มีเทคนิคดึงดูดใจลูกค้า” ด้วย โดยเขาบอกว่าเทคนิคการขายของเขานั้น ข้อแรกคือ ต้องมีลูกเล่น เช่น กลุ่มลูกค้าเป็นเด็ก ก็ต้องหาลูกเล่นทำให้เด็กหัวเราะ หรือถ้าเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ก็จะให้ลองปั้น ข้อสองคือ แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย เพราะถ้าแต่งตัวไม่เรียบร้อย สกปรก พ่อแม่ทุกคนก็คงไม่อยากให้ลูกซื้อ ไม่อยากซื้อให้ลูกของเขากินแน่นอน และสุดท้าย ข้อสามคือ ต้องช่างสังเกต-ต้องทันเทรนด์ …นี่เป็น “เทคนิคเฉพาะตัว” ของนักปั้นน้ำตาลประสบการณ์กว่า 28 ปีคนนี้ ที่ได้เผยเคล็ดลับเหล่านี้ให้เราฟัง

“ยุคนี้เรื่องความแตกต่างในแง่อาชีพก็ไม่ค่อยมีนะ แต่ที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนคือ รูปแบบของน้ำตาลที่ปั้น ที่ยุคนี้จะต้องทำหลายแบบให้ทันตามกระแสของเด็ก ๆ เช่นตอนนี้เด็ก ๆ ฮิตพวกคิตตี้ นางเงือก ม้าโพนี่ เราก็ต้องปั้นให้ได้ ก็ถือว่าทำให้เราได้พัฒนาฝีมือไปด้วยในตัว หรือบางคนจะชอบถามว่า ทำไมน้ำตาลปั้นมีแค่ 3 สี คือขาว ชมพู และเขียว นี่ก็เพราะเมื่อก่อนหาสียาก ไม่มีสีผสมอาหาร จึงต้องใช้สีที่หาได้ง่าย เช่น สีแดงจากดอกไม้ สีเขียวจากใบเตย ส่วนสีขาวได้จากกะทิ แต่ถึงแม้ปัจจุบันจะใช้สีผสมอาหารได้ ผมก็ไม่อยากเพิ่มสี เพราะอยากอนุรักษ์ 3 สีดั้งเดิมไว้ และอีกสาเหตุคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้ลูกรับประทานขนมที่มีสีผสมเยอะเกินไป” เขาเล่า

พร้อมทั้งบอกเราว่า ปกติถ้าไม่ออกงานอีเวนท์ ก็จะขายอยู่ที่เกาะเกร็ด นนทบุรี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนวันธรรมดาก็จะอยู่บ้านเพื่อเตรียมของกับทำขายออนไลน์ผ่าน เฟซบุ๊ก “น้ำตาลปั้นโบราณ by พี่ชาติ” โดยขายราคาตัวละ 20 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องสั่ง 15 ตัวขึ้นไป เพราะถ้าน้อยกว่านี้จะไม่คุ้มกับชั่วโมงทำงาน

แม้เป็นแค่ “นักปั้นน้ำตาล” ที่บางคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่สำคัญ เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ไม่เยอะ หากแต่ “พี่ชาติ-สันชาติ” ก็สะท้อนกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ว่า… “อาชีพนี้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แต่ต้องขยัน จะต้องไม่ขี้เกียจ ซึ่งอาชีพนี้ทุกวันนี้มันเริ่มค่อย ๆ หายไป เพราะสืบทอดวิชากันได้ยาก อีกอย่างที่หลายคนไม่ชอบทำอาชีพนี้ เพราะร้อน เพราะต้องอยู่กับน้ำตาลร้อน ๆ หรือบางคนทำแล้วขายไม่ดี ไม่มีลูกค้า เพราะไม่มีจุดขาย ก็เลิกไป ส่วนผมตั้งใจจะสืบทอดอาชีพนี้ไปจนตาย หรือจนกว่าตัวเองจะทำอาชีพนี้ไม่ไหว ก็เพราะผมอยากรักษาเอาไว้…อยากให้คนรุ่นใหม่ ๆ รู้จักอาชีพนี้”.

‘Soft Power’ ขนมโบราณ

“สันชาติ สุขสันติ” เล่าให้ฟังด้วยว่า เขาเคยถูกจ้างให้ไปปั้นน้ำตาลโชว์ที่ประเทศอินเดีย 2 ครั้ง โดยเจ้าภาพจ้างให้ไปปั้นโชว์ในงานแต่งงาน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก และอีกประเทศที่เกือบจะได้ไปก็คือฝรั่งเศส แต่พอดีมีงานอีเวนท์ซ้อนกัน 3-4 งานก็เลยต้องปฏิเสธไป เนื่องจากเวลาไปต่างประเทศจะต้องเตรียมตัวและใช้เวลาหลายวัน ส่วนต้นปี 2567 นี้ก็มีคิวงานล้นจนถึงช่วงวันเด็ก โดยเขามองว่า “คนต่างชาติสนใจขนมโบราณ” ที่ถ้าหากได้รับการสนับสนุนก็น่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยได้อีกด้วย หรือแม้แต่กับคนไทยเอง “เด็กไทยรุ่นใหม่-คนไทยรุ่นเก่าก็สนใจ” ไม่น้อย…

“ขนมน้ำตาลปั้นยังได้รับความสนใจ ยังไม่ตกยุคตกสมัย เวลาที่ผมไปปั้นโชว์ตามงานโรงเรียน ไม่เฉพาะแค่เด็ก ๆ ที่สนใจ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ตื่นเต้นตามไปด้วย ที่ได้เห็นการปั้นน้ำตาล บางคนก็เดินเข้ามาบอกกับผมเลยว่า หาดูหากินแทบไม่ได้เลยในยุคนี้ ดีใจมากที่ได้ย้อนรำลึกถึงวัยเด็ก” สันชาติ ระบุทิ้งท้าย.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน