“พี่ ๆ ที่ทำอาชีพแม่บ้านฟรีแลนซ์นั้นเก่งมาก เพราะเขาสามารถเปลี่ยนทักษะการทำความสะอาดที่เป็นทักษะที่มีติดตัวมาทำให้กลายเป็นสินค้า ทำให้เป็นงานบริการ แล้วสร้างราคาให้กับงานทำความสะอาดจนนำมาใช้เลี้ยงตัวเองได้ดี ที่สำคัญพี่ ๆ เหล่านี้ได้สร้างกลไกขึ้นใหม่ จากเดิมที่เป็นอาชีพที่ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ กลายมาเป็นผู้ที่กำหนดค่าจ้างตัวเองได้” เป็นคำอธิบาย “ปรากฏการณ์แรงงานยุคใหม่” ในส่วนของ “อาชีพแม่บ้านทำความสะอาด” ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากอดีต ที่ “ญาดา ช่วยชำแนก” นักวิชาการซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโลกของคนทำงานอาชีพนี้ได้ฉายภาพไว้ ซึ่งก็สะท้อนถึงการที่สภาพสังคมเปลี่ยนไปด้วย ทำให้ “อาชีพเก่าแก่” อย่าง “แม่บ้าน” เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับอีกวิถีหนึ่ง อีกโลกหนึ่งของคนในอาชีพนี้ ผ่านมุมมองผู้ที่ทำวิจัยเรื่องนี้…

“ญาดา ช่วยชำแนก” นักวิจัย

ปรากฏการณ์ “วิถีชีวิตอาชีพแม่บ้านยุคใหม่” ถูกถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ผ่านคำบอกเล่าของ ญาดา ช่วยชำแนก ผู้ที่ศึกษาวิจัยหัวข้อ “แม่บ้านฟรีแลนซ์ : ปรากฏการณ์แรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย” โดยเรื่องราวของคนอาชีพนี้ได้มีการเผยแพร่ผ่านทางระบบออนไลน์ในรายการของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)” ซึ่งจังหวะพอดีกับที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้จะถึง “วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม” ทาง “ทีมวิถีชีวิต” จึงนำข้อมูลเรื่องราว “โลกของแม่บ้านฟรีแลนซ์” ซึ่งเป็นอีกมุมของ “แรงงานไทยในปัจจุบัน” มาสะท้อนต่อ โดยผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้ระบุไว้ว่า เธอสนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของคนที่ทำอาชีพนี้ จึงนำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ซึ่งสาเหตุที่สนใจเรื่อง “อาชีพแม่บ้านฟรีแลนซ์” เนื่องจากช่วงที่เรียนปริญญาโทได้ทำงานอยู่ที่ “มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี” โดยทำงานเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา และการให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิตให้กับแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้พบว่า…

คนที่ทำอาชีพทำงานบ้านนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง อย่างไรก็ดี จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพแม่บ้านแตกแขนงออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ จากที่ในอดีตอาจจะมีแค่แบบเดียวคือรูปแบบของคนรับใช้ในบ้าน แต่ปัจจุบันจำแนกคนที่ทำอาชีพนี้ออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1.คนรับใช้ในบ้าน 2.แม่บ้านบริษัท และ 3.แม่บ้านฟรีแลนซ์ ซึ่งแต่ละแบบก็แตกต่างกันไป

ภาพเปรียบเทียบแม่บ้านประเภทต่าง ๆ

“ที่น่าสนใจคือแม่บ้านฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ไม่พบเลยในต่างจังหวัด จะพบในเขตเมืองมากที่สุด ซึ่งตอนนั้นมีกระแสบนโลกออนไลน์ของสาจ๋าที่เป็นแม่บ้านของแพร-วทานิกร ซึ่งกระแสฮือฮาของสาคือทำงานเนี้ยบมาก อดีตเคยเป็นแม่บ้านสถานทูต นี่ก็ยิ่งทำให้เราเกิดความสนใจที่จะทำการศึกษาเรื่องของอาชีพแม่บ้านนี้”

ญาดา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่สนใจศึกษาคนที่อยู่ในสายงานอาชีพนี้ พร้อมกับเล่าไว้ว่า การศึกษากลุ่มแรงงานที่มีอาชีพทำงานบ้านในไทยนั้น มักจะเป็นการศึกษาในกลุ่มของแม่บ้านในรูปแบบคนรับใช้ในบ้านมากที่สุด ซึ่งเป็นแม่บ้านที่กินอยู่กับนายจ้าง แต่ไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่ม แม่บ้านพาร์ทไทม์ หรือ แม่บ้านฟรีแลนซ์ เลย ดังนั้นจึงยิ่งสนใจที่จะศึกษาชีวิตของคนกลุ่มนี้ และอีกเรื่องที่น่าสนใจ ที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาชีพแม่บ้าน ก็คือทำให้ค้นพบรูปแบบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจจนอาจเรียกได้ว่า “แม่บ้านทำงานบ้านคือคนแปลกหน้าที่ใกล้ชิด” หรือเป็น “คนแปลกหน้าที่เหมือนคนกันเอง” เพราะแม้แม่บ้านหลายคนจะอยู่บ้านเดียว จะกินนอนกับนายจ้าง และมักมีสรรพนามใช้เรียกแทนชื่อว่าพี่ ป้า น้า อา หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มองเผิน ๆ แล้วอาจดูเหมือนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด หากแต่ความจริงแล้วยังคงมีเรื่องของ “ลำดับชั้น” แทรกอยู่เช่นกัน ที่เรื่องนี้ก็ยังไม่หมดจาก “ทัศนคติ” ที่ผู้คนมีต่อคนที่ทำอาชีพนี้ …นี่ก็เป็นโลกอีกมุมที่เธอค้นพบ

ภาพแม่บ้านยุคใหม่ที่นำเสนอบนเวทีเสวนา

ทาง ญาดา ยังได้อธิบายไว้เกี่ยวกับ “ประเภทแม่บ้าน” ที่พบว่ายุคนี้มี 3 กลุ่มหลัก ๆ… เริ่มจากกลุ่มแรก “คนรับใช้ในบ้าน” กลุ่มนี้จะ มีลักษณะการจ้างงานเป็นแบบบอกปากต่อปาก และที่พบเพิ่มในปัจจุบันคือบางครั้งก็อาจจะมาจากการจัดหาของเอเจนซี หรือบริษัทรับจัดหาแม่บ้าน ซึ่งลักษณะเด่นแม่บ้านกลุ่มนี้คือ ไม่ค่อยมีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน ยกเว้นกรณีที่มาจากเอเจนซีรับจัดหาแม่บ้าน และอีกลักษณะเด่นสำคัญของกลุ่มนี้ก็คือ ไม่มีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน เพราะต้องกินนอนบ้านนายจ้าง ทำให้แต่ละวันมีโอกาสที่จะถูกนายจ้างเรียกใช้ได้ตลอด หรือบางครั้งต้องทำงานเกินหน้าที่แม่บ้าน

กลุ่มต่อมา “แม่บ้านบริษัท” กลุ่มนี้จะได้เห็นตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ หรือบริษัทต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แม่บ้านกลุ่มนี้จะ มีสัญญาจ้างชัดเจน หรือเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ลูกจ้างรับช่วงเหมา ที่บริษัทประมูลไปทำงานประจำในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่ชัดเจน แต่ก็มีเหมือนกันที่อาจจะต้องทำงานแบบที่เรียกว่า “งานวิ่ง” ที่แม่บ้านหนึ่งคนไม่พอ ก็อาจต้องวิ่งไปช่วย หรือเติมในส่วนคนที่ขาด โดยลักษณะเด่นแม่บ้านกลุ่มนี้ที่เห็นแล้วรู้เลยคือ จะ มีชุดยูนิฟอร์มใส่

นักวิจัยโชว์ “ตัวอย่างแอปพลิเคชันหางานแม่บ้าน”

และอีกกลุ่ม… “แม่บ้านฟรีแลนซ์” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ญาดาให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยแม่บ้านกลุ่มนี้จะ มีความเป็นอิสระในการเลือกรับงานได้สูง และจะมีทั้งคนที่ รับงานเอง ซึ่งจะเป็นการตกลงกับผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าเอง กับการ รับงานผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะกดรับงานผ่านแอปฯ ซึ่งการรับงานผ่านแอปฯ นั้น มักจะ มีการถูกหักค่าใช้จ่าย ค่าคอมมิสชัน ค่าใช้บริการ และถูกหักภาษี …เหล่านี้เป็น “ประเภท-รูปแบบ” ของ “แม่บ้าน” ที่พบในไทยในปัจจุบัน 3 กลุ่มหลัก ๆ…

“แม่บ้านหลายคน โดยเฉพาะแม่บ้านฟรีแลนซ์หน้าใหม่ที่ยังไม่มีเครือข่ายคนรู้จัก ก็อาจใช้ช่องทางอย่างแอปพลิเคชันเพื่อเข้าถึงตลาดแรงงานนี้ ซึ่งถึงแม้จะมีบริษัทเข้ามารองรับ เข้ามาช่วย แต่สุดท้ายแล้วอาชีพบริการอย่างแม่บ้านทำความสะอาดบ้านนั้นก็ยังต้องอาศัยความไว้ใจ เพราะนายจ้างหรือเจ้าของสถานที่นั้น มักจะต้องสบายใจมากพอก่อนที่จะยอมให้ใครสักคนที่ไม่รู้จักเข้าไปในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นแม่บ้านบางคนที่ยังไม่มีเครือข่ายทางสังคม ไม่มีเครือข่ายผู้ว่าจ้าง หรือเครือข่ายเพื่อนในแวดวงเดียวกัน ก็เลยต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันเพื่อหางาน จนเมื่อมีเครือข่ายมากพอแล้ว ก็จะค่อย ๆ ลดการพึ่งพานี้ลงไป” ญาดาเล่าเรื่องนี้ไว้บนเวทีเสวนาออนไลน์

เธอยังสะท้อนไว้ต่อไปว่า การเกิดขึ้นของ “รูปแบบแม่บ้านฟรีแลนซ์” ถือเป็น “ปรากฏการณ์สังคมเมืองร่วมสมัย” เพราะอาชีพนี้ สัมพันธ์กับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หลังไทยมีการเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมและภาคบริการ ก็จึงทำให้เขตพื้นที่เมืองขยายตัว ขณะที่พื้นที่ชนบทเล็กลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดคลื่นแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง และแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานที่ไร้ทักษะ หรือมีทักษะน้อย ทำให้ไม่มีตำแหน่งงาน สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่ง อาชีพแม่บ้านถือเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่ง ก็ว่าได้ แต่พอสังคมเปลี่ยนไป อาชีพแม่บ้านก็เริ่มมีพัฒนาการในตัวเองออกมา จากคนรับใช้ในบ้านแบบเดิม…มาสู่การเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์…

“จากการศึกษาพบว่า แม่บ้านฟรีแลนซ์แต่ละคนกว่าจะก้าวมาสู่เส้นทางนี้ได้ ก็ต้องเคยผ่านอาชีพอื่น ๆ มาเยอะมาก สะท้อนว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบที่เข้าสู่เมืองแล้วต้องเจอกับลักษณะงานที่ไม่มีความมั่นคง จึงมีการเปลี่ยนหลายงาน ก่อนที่จะมาทำอาชีพแม่บ้านฟรีแลนซ์ โดยกระบวนการกว่าที่จะเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์ได้ก็ทำให้เกิดการสะสมสิ่งที่เรียกว่าทุนทางวัฒนธรรม หรือสะสมทักษะมาเรื่อย ๆ รวมถึงทำให้ค่อย ๆ เกิดเครือข่ายทางสังคมที่จะนำสู่ปัจจัยที่ทำให้แม่บ้านแต่ละคนแพ้-ชนะ หรือสามารถที่จะอยู่ได้ในตลาดแรงงานนี้” นี่เป็นการสะท้อนภาพอีกหนึ่งมุมของคนอาชีพนี้ ที่มีการสั่งสม “ทักษะ-ประสบการณ์-เครือข่าย” อันเป็นตัวบ่งชี้ความอยู่รอดในอาชีพนี้

ญาดา ยังบอกเล่าไว้อีกว่า ในงานศึกษาชิ้นนี้ยังพบ “ทุน” อีกประเภทหนึ่ง ที่มองว่าทำให้ “แม่บ้านฟรีแลนซ์” แต่ละคนนั้นจะชนะหรือแพ้ จะสร้างรายได้ได้มากหรือน้อยในตลาดแรงงานนี้ นั่นก็คือ “ความสามารถในการเคลื่อนย้าย” โดยที่… ยิ่งเคลื่อนที่ได้เร็วได้ไว ได้ไกล ได้กว้าง แม่บ้านคนนั้นก็จะยิ่งสร้างรายได้ได้มาก นอกจากนั้น “ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ” ก็เป็นอีกปัจจัย-อีก “ทุน” ที่จะช่วยให้ แม่บ้านฟรีแลนซ์สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนายจ้างชาวต่างชาติ อีกทั้งช่วยทำให้แม่บ้านที่มีทักษะภาษานี้โดดเด่นกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ เมื่อต้องเกิดกรณีมีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ก็ยังต้องมี ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น การได้รับความไว้ใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ญาดา ผู้ศึกษาวิจัย “แม่บ้านฟรีแลนซ์” ในฐานะเป็นอีก “ปรากฏการณ์แรงงานผู้หญิงในสังคมไทยสมัยใหม่” ได้ย้ำไว้ในเวทีเสวนาทางระบบออนไลน์ว่า อาชีพแม่บ้านเป็น อีกหนึ่งอาชีพที่มีศักยภาพในการแปลงทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งในที่นี้คือ ทักษะการทำความสะอาดบ้านที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ นำมาเปลี่ยนให้เป็นสินทรัพย์ เปลี่ยนให้เป็นทุนชีวิต ทุนอาชีพ ได้อย่างดี โดยสามารถนำทักษะเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ จากนั้นก็สร้างราคาให้กับชิ้นงานตนเอง จนสุดท้ายสามารถใช้เลี้ยงตัวเองและเลี้ยงครอบครัวได้… “ใครที่บอกว่าการทำงานบ้านง่าย ใครก็ทำได้ อย่าไปเชื่อ ไม่จริงเลย ยิ่งเป็นการทำงานบ้านที่ต้องสะอาดเรียบร้อย งานนี้ยิ่งต้องมีทักษะสูงมาก ๆ ดังนั้นปัจจุบันนี้…ใครจะดูถูกอาชีพแม่บ้านไม่ได้แล้ว”.

‘ลบภาพจำเก่า-เล่าภาพจำใหม่’

“ญาดา ช่วยชำแนก” ผู้ศึกษาวิจัย “แม่บ้านฟรีแลนซ์” ยังระบุไว้ด้วยว่า การเกิดขึ้นของอาชีพนี้ถือเป็นการ ท้าทายภาพจำในอดีต ที่ผู้คนมีต่อคนที่ทำอาชีพนี้ รวมถึง ก่อให้เกิดสำนึกใหม่ทางชนชั้น ด้วย โดยย้อนเวลากลับไป ถ้าถามถึงภาพจำคนอาชีพแม่บ้าน ภาพจำที่คนทั่วไปมีคือใคร ๆ ก็ทำอาชีพนี้ได้ แต่หลังสังคมเปลี่ยนไป และยิ่งมีวิกฤติโควิด-19 ที่หลายคนตกงาน ปรากฏว่ามีคนจำนวนมากเข้าสู่ “โลกของอาชีพแม่บ้าน” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีแอปพลิเคชันมารองรับ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ เลือกเข้ามาทำอาชีพนี้กันเพิ่มขึ้น เพราะสามารถกำหนดขอบเขตการทำงาน เวลา สถานที่ทำงานได้… “อาจจะกล่าวได้ว่า…วันนี้อาชีพแม่บ้านไม่ใช่แรงงานระดับล่าง หรือแรงงานไร้ทักษะอีกต่อไปแล้ว และอีกสิ่งที่เปลี่ยนไปซึ่งเห็นชัดเจนก็คือ…ระบบการจ้างงานแม่บ้าน จากเดิมจะเป็นแบบนายจ้างกับลูกจ้าง ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบลูกค้ากับผู้ให้บริการแทน”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน