“ไลน์ทาง” สัปดาห์นี้  พาไปดูเรื่องราวของโหมดเดินทางทางน้ำกันบ้าง ด้วยการอัปเดตการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะ (เฟส) ที่ 3 หนึ่งในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าการลงทุนรวม 1.14 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 47% และเอกชน 53% 

โครงการเริ่มจากส่วนท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ขณะนี้กิจการร่วมค้า CNNC (ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด บริษัทลูกของบริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน เป็นผู้รับจ้างวงเงิน  21,320 ล้านบาท) กทท. ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่หลังท่าแล้ว อยู่ระหว่างถมทะเลพื้นที่ส่วนที่ 3 เป็นส่วนของท่าเทียบเรือประกอบด้วย E0 และ F 

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 มีความคืบหน้าภาพรวมอยู่ที่ 17.34% ล่าช้ากว่าแผน 1.67% แต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 ทำงานได้เร็วกว่าแผน โดยเดือน พ.ย. ทำได้ 2.08% จากแผน 1.90% เดือน ธ.ค. ทำได้ 2% จากแผน 1.99% สาเหตุที่ล่าช้า เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน และนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศได้ 

ปัจจุบันผู้รับจ้างนำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มจากเดิม 120 คน เป็น 400 คน รวม 520 คน และนำเครื่องจักรทางน้ำ (เรือขุด) เข้ามาปฏิบัติงานเพิ่ม 30 ลำ จากเดิม 37 ลำ รวม 67 ลำ เมื่อมีความพร้อมมากขึ้น กทท. ได้เร่งผลักดันให้งานเดินหน้าเร็วกว่าแผน 3% ต่อเดือน เพื่อส่งมอบงานให้ กทท. ได้ในเดือน มิ.ย. 2567 

จากนั้น กทท. จะส่งมอบพื้นที่ F1 ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาภายในเดือน พ.ย. 2568 เพื่อบริหารโครงการฯ คาดว่าจะเปิดบริการท่าเทียบเรือ F1 ได้ในปี 2570 รองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มจากปัจจุบันได้อีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. รวมเป็น 13 ล้าน ที.อี.ยู. 

ความโดดเด่น (ไฮไลต์) ของโครงการนี้  นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ อธิบายว่า ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือต้องเปลี่ยนสภาพของทะเล หรือการถมทะเล 5,194,593 ตารางเมตร (ตร.ม.) หรือ 3,246 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ท่าเทียบเรือของโครงการฯ แบ่งเป็นพื้นที่ 1 พื้นที่ 2 และบริเวณท่าเรือ E 1,250,000 ตร.ม. หรือ 781 ไร่, บริเวณพื้นที่ 3 ท่าเรือ E0, F1 และ F2 จำนวน 2,544,593 ตร.ม. หรือ 1,590 ไร่ และพื้นที่สำหรับการพัฒนาในอนาคต 1,400,000 ตร.ม. หรือ 875 ไร่

การทำงานประกอบด้วย 1.งานขุดลอก 56.05 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิว แบ่งเป็น ขุดลอกแอ่งจอดเรือ และร่องน้ำเดินเรือหลัก 52.66 ล้าน ลบ.ม. ขุดลอกแอ่งจอดเรือ และร่องน้ำเดินเรือท่าเรือชายฝั่ง 0.45 ล้าน ลบ.ม. และขุดลอกแอ่งจอดเรือ และร่องน้ำเดินเรือท่าเรือบริการ 2.94 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมขุดไปแล้ว 14.38 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับประเทศไทยต้องขุดลึกถึง 18.5 เมตร จากปกติ 7-12 เมตร เพื่อให้เรือขนาดใหญ่มาเทียบท่าใช้บริการได้ หากเทียบกับประเทศในแถบเดียวกัน มีความลึกในระดับใกล้เคียงกับท่าเทียบเรือของประเทศสิงคโปร์ และศรีลังกา แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องขุดลึกเหมือนไทย เพราะทะเลลึกโดยธรรมชาติ 16-20 เมตรยู่แล้ว ดินที่ขุดได้จะนำไปถมทะเล

2.งานถมทะเล แบ่งเป็น ถมทะเลพื้นที่ 1 พื้นที่ 2 และบริเวณท่าเรือ E 16.64 ล้าน ลบ.ม., ถมทะเลพื้นที่ 3 บริเวณท่าเรือ E0, F1 และ F2 จำนวน 16.23 ล้าน ลบ.ม. ถมทะเลพื้นที่สำหรับการพัฒนาในอนาคต 10.74 ล้าน ลบ.ม. และขนย้ายดินเลนจากการขุดลอกไปบ่อตกตะกอน 22.51 ล้าน ลบ.ม. ใช้ปริมาณทรายถมทะเลรวม 43.61 ล้าน ลบ.ม. ถมทะเลพื้นที่ 3แล้ว 4.3 ล้าน ลบ.ม. จากชายฝั่งต้องถมทะเลยาวออกมากว่า 2,000 เมตร หรือกว่า 2 กิโลเมตร (กม.) ให้กลายสภาพจากทะเลเป็นพื้นดินทรายสำหรับใช้ประโยชน์พื้นที่ดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือ

3. งานปรับปรุงคุณภาพดิน ได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพดินพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 โดยการถมบดอัดทราย วัสดุถม 0.36 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงคุณภาพดินพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 โดยการขุดขนย้ายดินเลน วัสดุถม 1.60 ล้าน ลบ.ม. และถมบดอัดทราย วัสดุถม 1.80 ล้าน ลบ.ม. และปรับปรุงคุณภาพดินท่าเรือชุด E วัสดุถม 4.0  ล้าน ลบ.ม.

4. งานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล ความยาว 22,950 เมตร

5. เขื่อนกันคลื่น ความยาว 3,130 เมตร, 6. งานติดตั้งเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ 37 ชุด 7. งานประตูระบายน้ำ 3 แห่ง พร้อมท่อลอด และ 8. การปรับปรุงคลองบางละมุง ซึ่งบุคลากรและเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพิ่มนั้น จะเข้ามาทำงานในส่วนของงานขุดลอกและถมทะเล, งานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล และงานเขื่อนกันคลื่น

ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ บอกด้วยว่า การขุดลอกและถมทะเล เฟส 3 มีความท้าทาย และยากที่สุด เมื่อเทียบกับเฟส 1 และเฟส 2 เนื่องจากขุดลอกลึกกว่า ขนาดใหญ่ และกว้างกว่ามาก ปริมาณดินขุดลอกก็มากกว่ามาก ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ นอกจากนี้ พื้นที่ก่อสร้างเฟส 3 ยังอยู่ใกล้แหล่งชุมชน จึงต้องระมัดระวังผลกระทบด้านตะกอนแขวนลอยกับชุมชนใกล้เคียง ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วย

ใจความสำคัญที่สุด….เมื่อพัฒนาท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จเปิดบริการปี 2570 จะเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ลึก 18.5 เมตร มีความยาวหน้าท่า 2 กม. รองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่าเรือแม่ได้ด้วย

————————
นายสปีด