“ถ้าคุณบินไม่ได้ ก็ต้องวิ่ง ถ้าวิ่งไม่ได้ก็เดิน ถ้าเดินไม่ได้ก็คลาน ทำยังไงก็ได้ให้เคลื่อนไปข้างหน้า ความหวังคือสิ่งเดียวที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อได้”

กลายเป็นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญไปทั่วประเทศ สำหรับเรื่องราวของอาชญากรเด็ก ที่ร่วมกันอุ้มฆ่า น.ส.บัวผัน ตันสุ อายุ 47 ปี หรือ “ป้าบัวผัน” ผู้ที่มีสติไม่สมประกอบ ซึ่งถูกรุมทำร้ายอย่างทารุณ ก่อนเอาไปโยนทิ้งบ่อน้ำบริเวณถนนสุวรรณศร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

แม้ว่าตอนแรก ตำรวจจะนำตัว นายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก อายุ 56 ปี สามีป้าบัวผัน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยมาสอบสวน และพยายามยัดเยียดข่มขู่ให้ลุงเปี๊ยกรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายเมียตัวเองจนเสียชีวิต

แต่สุดท้ายความจริงก็ปรากฏว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นแก๊งอาชญากรเด็กรวม 5 คน อายุอยู่ระหว่าง 13-16 ปี ประกอบด้วย ด.ช.แบงค์ อายุ 13 ปี, ด.ช.กั๊ด อายุ 13 ปี, ด.ช.โก๊ะ อายุ 14 ปี, นายบิ๊ก อายุ 16 ปี และ ด.ช.เชน อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรอง สว.สส.สภ.อรัญประเทศ

กระทั่งมีการจับกุม “แก๊งอาชญากรเด็ก” ทั้ง 5 คน ส่งไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสืบข้อมูลส่วนตัว การศึกษา พฤติกรรมคดี กับญาติและครอบครัวของทั้ง 5 คน ก่อนประมวลจัดทำรายงานเสนอศศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระแก้ว

ในเมื่อมีเด็กและเยาวชนถูกจับในคดีอาญา จึงอยากนำเสนอว่ากฎหมายระบุโทษและการดำเนินคดีที่เป็นเด็กและเยาวชนไว้อย่างไร แล้วในทางกฎหมายจำแนกเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิดว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนอย่างไร และแต่ละช่วงวัยได้รับโทษแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

การจำแนกเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน ในกระบวนการและขั้นตอนการจับกุมเด็กและเยาวชน มีกฎหมายที่ใช้หลักๆ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดนิยามของคำว่า เด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ดังนี้

เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์

เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

การแบ่งเกณฑ์อายุเด็กในกรณีกระทำความผิดอาญา โดยเด็กหรือเยาวชนเมื่อทำผิดจะถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัว จะมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่เป็นกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชน มีเจตนารมณ์และบทบัญญัติที่มุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดทางอาญามากกว่ามุ่งลงโทษ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำแนกตามเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชน ดังนี้

หากอายุต่ำกว่า 12 ปี ตำรวจต้องส่งเรื่องแจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กจะดำเนินการดังนี้ 1.สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก 2.จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง และการเยียวยาผู้เสียหาย

หากอายุ 12-15 ปี ตำรวจต้องส่งเรื่องแจ้งผู้ปกครองและสถานพินิจฯ เพื่อดำเนินการสืบเสาะ และจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ อัยการ ศาล ภายใน 30 วัน แล้วนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมง หากศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการต่างๆ คือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ปล่อยตัวชั่วคราว (มีหรือไม่มีประกัน) 3.ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษาหรือฝึกอบรม 4.มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควร

หากอายุ 15-18 ปี เมื่อตำรวจดำเนินการส่งตัวมาที่สถานพินิจ จะมีการส่งเรื่องต่อไปยังอัยการและจะนำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 24 ชั่วโมง 1.หากศาลเห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนอายุ 12-15 ปี 2.หากศาลเห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการดังนี้ 2.1 ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญา 2.2 สั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

จากรายละเอียดการจำแนกเกณฑ์อายุเด็กและเยาวชน และแนวทางดำเนินการข้างต้น เด็กและเยาวชนแม้ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่งโดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็ก ซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่ “อายุยังไม่เกิน 10 ปี” แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าเด็กอายุ 12 ปี กับ เด็กอายุ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญาจริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ

อีกทั้ง เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก ดังนั้น จึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปี ได้รับผลดีมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากร ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้

ปัญหาอาชญากรเด็กนับวันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงและต่อเนื่องมากขึ้นๆ ทุกวัน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ถึงขึ้นจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดอายุผู้กระทำผิด แต่การแก้กฎหมายลดอายุนั้น..จะใช่ทางออกที่ถูกต้องจริงๆ หรือ.

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานกิจการยุติธรรม

ข่าวสารตำรวจ

ซ้อมเผชิญเหตุใน รพ.
ที่โรงพยาบาลระยอง พ.ต.อ.วีพงษ์ กงแก้ว ผกก.สภ.เมืองระยอง พร้อมด้วย พ.ต.ท.ถาวร คำวัตร สว.ป.สภ.เมืองระยอง และจนท.ตร.ป้องกันและปราบปราม (สายตรวจ) พร้อมด้วยอาวุธครบมือ เข้าซ้อมแผนเผชิญเหตุผู้ป่วยจิตเวชใช้ความรุนแรงมีอาวุธอาละวาดขณะตรวจรักษา ภายใน รพ. โดยได้สมมุติจำลองเหตุการณ์มีผู้ป่วยจิตเวชคลุ้มคลั่งใช้มีดไล่แทงญาติผู้ป่วยภายใน รพ. หลังจากได้รับแจ้ง จนท.ตร.สายตรวจ ได้นำอุปกรณ์ป้องกันเข้าระงับเหตุทันที โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้แจ้งให้กับญาติผู้ป่วยได้รับทราบ ได้จำลองสถานการณ์เสมือนเกิดขึ้นจริง โดย พ.ต.อ.วีพงษ์ กงแก้ว ผกก.สภ.เมืองระยอง กล่าวว่า สำหรับการซ้อมแผนของ จนท.ป้องกันและปราบปราม (สายตรวจ) สภ.เมืองระยอง นั้น ได้กำหนดในการซ้อมแผน เพื่อให้ จนท.ตร. ได้ตระหนักตื่นตัวตลอดเวลา ในการใช้อุปกรณ์และยุทธวิธีในการป้องกันเหตุ การประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า การช่วยหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ การรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ ตร. ต้องทำงานตามขั้นตอนและยุทธวิธีให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการสูญเสียเกิดขึ้น

กิจกรรมวันเด็ก
พ.ต.อ.รักชาติ เรืองเจริญ ผกก.สภ.ชุมแพ จว.ขอนแก่น นางนฤมล เรืองเจริญ ประธานแม่บ้านตำรวจ สภ.ชุมแพ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์ จิตอาสา เจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร งานอำนวยการ สภ.ชุมแพ ร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่ทางเทศบาลเมืองชุมแพ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี พร้อมนำอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าร่วมจัดแสดง ให้ความรู้แก่เด็กๆ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

กต.ตร.สภ.เพ ชุดใหม่ประชุมนัดแรก
ที่สวนอาหารตำนานป่า รีสอร์ท ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเพ หรือ กต.ตร.สภ.เพ ได้จัดประชุม กตร.ตร.สภ.เพ นัดแรก ครั้งที่ 1/2567 หลังมีการเลือก กต.ตร.สภ.เพ ชุดใหม่ โดยมีนายสำราญ รุ่งโรจน์ เป็นประธาน กต.ตร.สภ.เพ คนใหม่ และมี พ.ต.อ.ปรีดิ์ภาวัต ชัยเพ็ชรโยธิน ผกก.สภ.เพ นำ ตร.สภ.เพ เข้าร่วมประชุมฯ ทั้งนี้ การประชุม กต.ตร.สภ.เพ ดังกล่าว เพื่อรับฟังแนวทางและความคิดเห็นของภาคประชาชน กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการงานตำรวจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนส่วนรวม ในการร่วมมือกับตำรวจพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ตำบลเพ โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

อวยพรปีใหม่
พ.ต.อ.สุรสิทธิ์ เนื่องจำนงค์ ผกก.สภ.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี มอบกระเช้าให้กับ สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเข้าอวยพรและขอพรปีใหม่ 2567 ที่สำนักงานศูนย์ประสานงาน “เลขาฯ ต้น” สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ หมู่บ้านพรีมิโอ ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง ซึ่งมี ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ร่วมอวยพรจำนวนมาก

แจกของขวัญวันเด็ก
พ.ต.อ.สมชาย ทิวงษา ผกก.สภ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.สิทธา ช่อเกตุ สวป.สภ.บ้านบึง, พ.ต.ต.บุญนาค เกื้อกูล สว.อก.สภ.บ้านบึง และข้าราชการตำรวจ สภ.บ้านบึง ร่วมกิจกรรมงานวันเด็ก ของเทศบาลเมืองบ้านบึง ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านบึง ภายในงานได้มีการจัดบูธตำรวจแจกของขวัญวันเด็ก รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้มาร่วมงาน โดยมี พิชชา ตรีวรรณกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองบ้านบึง เนรมิตร์ ขาวชูศรี ประธานสภา สท.ยศกร ตรีวรรณกุล สมาชิกสภาเทศบาลเมืองบ้านบึง ร่วมแจกด้วย

*********************************

คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป