“ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มาใช้ชีวิตไกลถึงต่างประเทศ เพราะฐานะทางบ้านของเราไม่ได้ร่ำรวยอะไร ติดจะค่อนข้างลำบากเสียด้วยซ้ำ จนมาก แถมหนี้ก็เยอะ และพวกเราทั้งครอบครัวยังเคยต้องนอนข้างถนนมาแล้ว” เป็นเรื่องราวที่สาวไทยคนหนึ่งบอกเล่าไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึง “ชีวิตที่เกินคิด” ของเธอในวันนี้ ที่จากสมาชิกของครอบครัวที่ยากจน จากเด็กที่เรียนไม่เก่งสักเท่าใด แต่ด้วยความเพียรและความพยายามของเธอ ต้องการจะสร้างชีวิตให้ดีกว่าเดิม ในที่สุดเธอก็ผลักดันชีวิตตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งวันนี้เรามีวิธีคิดและเส้นทางชีวิตของเธอคนนี้มานำเสนอ…

สาวไทยเจ้าของเรื่องราวนี้ เธอมีชื่อว่า “โอ๋-นิตยา นามรัง” ปัจจุบันวัย 33 ปี โดยเธอเป็นอีกหนึ่งคนดังในโลกโซเชียล จากการที่เธอได้ก่อตั้งเพจชื่อ “สาวไทยเดิ้ง รีวิวสวีเดน” ขึ้นมา ซึ่งเส้นทางชีวิตของเธอก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น เธอเล่าว่า พื้นเพเป็นคน จ.บุรีรัมย์ โดยเธอมีพี่สาวอีก 2 คน ที่อายุห่างกับเธอเกือบ 10 ปี ส่วนคุณพ่อคุณแม่นั้นมีอาชีพค้าขายอาหารทั่วไป

เธอเล่าย้อนว่า ตอนอายุ 12 ปี ครอบครัวของเธอได้ย้ายมาอยู่ จ.นครปฐม โดยเธอเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหลังเรียนจบก็ได้ทำงานเป็นลูกจ้างประจำที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง ทำอยู่ราว 3 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเองที่ทำให้เธอได้ทำงานกับคนต่างชาติไม่ต่ำกว่าปีละ 1-2 ครั้ง จึงทำให้มีโอกาสได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว แต่ก็ยังสื่อสารได้ไม่คล่อง ต่อมาหลังจากทำงานได้ประมาณ 2 ปี เธอเห็นว่าเงินเดือนที่ได้นั้นไม่ขยับเลย โดยยังได้เงินเดือนเท่ากับปีแรกที่เริ่มงาน นั่นคือที่ 15,000 บาท ขณะที่เพื่อน ๆ ได้เงินเดือนมากกว่า เธอจึงมานั่งคิดว่า จะทำยังไงให้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น และหนึ่งในทางออกที่คิดได้ก็คือ “ต้องไปเรียนต่อ” แต่ก็มีข้อจำกัดคือ เธอจะเอาเงินที่ไหนมาใช้เป็นค่าเทอม ไหนจะค่ากินค่าอยู่อีก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เลิกให้เงินเธอตั้งแต่วันที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ก็ทำให้เธอมองที่ทางออกที่สอง นั่นคือ “ต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้ แล้วหางานใหม่ทำ เพื่อให้มีโอกาสชีวิตมากขึ้น” …โอ๋-นิตยา เล่าไว้ถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต

พร้อมกับเล่าให้ฟังต่อไปว่า การที่เธอจะได้งานใหม่ การที่จะได้เงินเดือนเยอะขึ้น เธอมุ่งมั่นว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้อยากฝึกภาษาอังกฤษ โดยเธอพยายามฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ผ่านวิธีการหลาย ๆ แนวทาง เช่น ฝึกจากการดูหนังฟังเพลง และการออกเดทกับคนต่างชาติ ซึ่งเธอก็พบว่าไม่เวิร์ค แต่ครั้นจะฝึกด้วยการเขียนไดอารีทุกวัน เธอก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางที่ใช่สำหรับเธอ จนสุดท้ายเธอก็เลือกฝึกภาษาด้วยการหาเพื่อนชาวต่างชาติที่พูดไทยไม่ได้ จนทำให้เธอได้เพื่อนชาวต่างชาติหลายคน ซึ่งบางคนก็ยังคุยกันคบหากันอยู่จนถึงทุกวันนี้

“การคุยกับเพื่อนต่างชาตินี่เปลี่ยนชีวิตโอ๋ที่สุด แถมทำให้ได้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย โดยหลังฝึกภาษาครบ 1 ปี ก็พอจะพูดคุยโต้ตอบได้เร็วขึ้น จึงตัดสินใจไปต่างประเทศเพื่อเรียนต่อปริญญาโท ภาคอินเตอร์ ตามที่เคยวางแผนไว้ โดยเพื่อนคนเยอรมันแนะนำให้ไปเรียนเยอรมัน เพราะค่าเทอมแค่ประมาณ 200 ยูโร โอ๋ก็เลยมุ่งไปทางนั้นเลย ซึ่งเหตุผลง่าย ๆ ที่เลือก ก็คือค่าเทอมที่เราพอสู้ไหว ถ้าเป็นอังกฤษจะแพงเกินไป ค่าเทอมพอ ๆ กับเรียนภาคอินเตอร์ที่เมืองไทย ขณะที่อเมริกาก็แพงไป” เธอเล่าถึงสาเหตุที่เลือกไปเรียนต่อที่เยอรมัน

หลังตกลงใจว่าต้องไปเยอรมัน เธอบอกว่า แผนต่อไปก็คือ เธอจะต้องไปหางานทำ โดยเป็นสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า อยากเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพียงแต่ติดที่ระดับภาษาของเธอยังสูงไม่พอที่จะทำงานตรงกับสายที่ร่ำเรียนมา คือตำแหน่งงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เธอจึงตัดสินใจไปทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เนื่องจากมองว่ามีข้อดีคือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และไม่ต้องหาห้องเช่า แถมยังได้เรียนภาษาอีกด้วย เพราะครอบครัวที่จะต้องไปอยู่ด้วยนั้นจะส่งเธอให้ไปเรียนภาษาก่อน และที่ก็สำคัญคือ ครอบครัวที่เธอจะไปทำงานและอยู่ด้วย เมื่อเซ็นสัญญาแล้วต้องมีประกันสังคมให้กับเธอด้วย

“ตอนนั้นสู้มาก ๆ (หัวเราะ) เริ่มจากหาครอบครัวโฮสต์ก่อน ซึ่งโอ๋ก็ต้องไปรับการสัมภาษณ์อยู่หลายครอบครัวเพื่อดูว่าเราจะเข้ากับเขาได้ไหม ทั้งเรื่องทัศนคติ การใช้ชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่ เมื่อต่างฝ่ายต่างสนใจกันก็ทำสัญญา และตกลงว่าจะมาทำงานเมื่อไหร่ ซึ่งบางครอบครัวเขาจะมองหาพี่เลี้ยงเด็กล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เมื่อได้ครอบครัวที่จะทำงานด้วยเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ไปเดินเรื่องขอวีซ่า ซึ่งค่าวีซ่าอยู่ที่ 2,500 บาท และก็จะมีค่าตั๋วเครื่องบินราว 16,000 บาท กับค่าประกันเดินทางอีกประมาณ 800 บาท” โอ๋เล่าถึงขั้นตอนก่อนเดินทางไป

และเล่าเพิ่มเติมว่า “ระหว่างเตรียมตัวจะไปเมืองนอก โอ๋ไม่บอกใครเลยว่าจะไปเยอรมัน เพราะกลัวหลายเรื่อง กลัวคนทำร้ายความคิด กลัวคนมาซ้ำเติมว่าลาออกไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก กลัวคนขัดขวาง และกลัวตัวเองจะทำไม่ได้ ซึ่งก่อนจะบิน คุณพ่อก็ให้เงินก้นถุง 20,000 บาท และวันนี้ยังนึกขอบคุณพ่อเสมอที่วันนั้นพูดกับโอ๋ว่า ลูกบ้านอื่นเรียนจบมาสูงยังมาขายน้ำพริก ก็ไม่เห็นมีใครว่าเลย ถ้าโอ๋ไปแล้วไปต่อไม่ได้ก็กลับมาขายของที่บ้านก็ได้ ซึ่งคำพูดของคุณพ่อทำให้โอ๋อุ่นใจว่าแม้เราจะตามความฝันไม่สำเร็จ เราก็ยังมีครอบครัว มีบ้านให้เรากลับมาเลียแผล”

โอ๋กับคุณพ่อและคุณแม่

เธอเล่าถึงคำพูดคุณพ่อที่บอกกับเธอก่อนเดินทางจากบ้านไปเยอรมัน ก่อนจะขออนุญาตอธิบายแทรกเกี่ยวกับเรื่องที่มีหลาย ๆ คนเข้าใจผิด กรณีที่เคยบอกว่าย้ายประเทศด้วยเงิน 40,000 บาท ที่อันที่จริงหมายถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมในการเดินทางออกนอกประเทศไทยครั้งแรก ขณะที่ส่วนที่ยากที่สุดสำหรับเธอก่อนจะได้ไปเยอรมันคือ เธอต้องเรียนและสอบภาษาเยอรมัน ระดับพื้นฐาน คือ A1 ให้ได้ก่อน เพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศเยอรมัน แต่เธอไม่มีเงิน จึงต้องเรียนด้วยตัวเอง ด้วยการพิมพ์ข้อสอบเก่าที่สถาบันให้มา นำมาฝึกเอง กับฝึกจากยูทูบ โดยมีเวลาแค่ 1 เดือนเตรียมตัว แต่เธอก็สอบผ่านได้ด้วยคะแนนที่ฉิวเฉียด

โอ๋-นิตยา บอกว่า ใครที่คิดจะย้ายตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ ก่อนอื่นที่ต้องบอกเลยก็คือ มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีหลาย ๆ เรื่องที่ต้องพบเจอ โดยเธอยกตัวอย่างจากชีวิตของเธอว่า ปกติเธอจะเป็นคนกล้าพูดในสิ่งที่ต้องการ แต่พอไปอยู่บ้านโฮสท์ เธอจะรู้สึกตัวเล็กมาก ๆ เพราะไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของคนที่ไปทำงานด้วย แต่จะคิดว่าเธออาศัยเขาอยู่ ดังนั้นเวลาที่ครอบครัวนายจ้างพูดอะไร จึงกังวลไปหมดว่าเขาจะโกรธจะเคือง ทั้งที่นายจ้างอาจจะแค่ให้คำแนะนำ อาทิ บอกให้พาน้องไปโรงเรียน และเอาเสื้ออีกตัวไปเปลี่ยนด้วยนะ แต่เธอลืมหยิบไปทั้งที่เตรียมไว้แล้ว พอกลับมานายจ้างก็เรียกไปคุย เพราะเขาไม่พอใจ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ จะมีเกิดขึ้นบ่อย ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก

นอกจากนี้เธอยังเล่าว่า ช่วงที่อยู่บ้านโฮสท์ประมาณ 10 เดือน เธอก็เรียนภาษาเยอรมันไปด้วย เพราะเป็นกฎหมายของอาชีพพี่เลี้ยงเด็ก ที่ครอบครัวผู้ว่าจ้างจะต้องส่งคนดูแลเรียนภาษา ส่วนภารกิจประจำวันในฐานะพี่เลี้ยงเด็กของเธอ โอ๋-นิตยา บอกว่า เริ่มจากตื่นเช้ามาเตรียมอาหารให้เด็ก ซึ่งไม่ได้ทำอาหาร แต่นำอาหารที่เตรียมไว้ในตู้เย็นมาอุ่น หรือเติมซีเรียลลงไปตามที่เด็กต้องการกิน เสร็จแล้วก็พาเด็กไปแปรงฟัน แต่งตัวไปโรงเรียน จากนั้นก็เตรียมกระเป๋าแล้วพาเด็กไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนที่เยอรมันจะอยู่ใกล้บ้าน เรียกว่าเดินไป 10 นาทีก็ถึงแล้ว หลังจากส่งเด็กเข้าโรงเรียนแล้วเธอก็จะเดินทางต่อเพื่อไปเรียนภาษาเยอรมัน 3 ชั่วโมง จากนั้นก็รอเวลาเด็กเลิกเรียน ประมาณบ่าย 3 โมง ก็ไปรอรับ ซึ่งเวลารอยต่อระหว่างเรียนภาษากับรอเด็กเลิกเรียนนั้น อยู่ที่การตกลงกับทางนายจ้างว่าเราอยากจะใช้ช่วงเวลานี้ทำอะไร เพราะเป็นช่วงเวลาพักของเรา โดยสามารถไปอ่านหนังสือ ชอปปิ้ง หรือกลับบ้านไปพักก็ได้ แต่สำคัญคือต้องไปรับเด็กให้ตรงเวลา โดยควรไปรอก่อนเวลา

ทั้งนี้ มีหลายคนสงสัยและถามเธอเยอะมากว่าทำไมเธอถึงทำงานนี้แค่ 10 เดือน โดยเรื่องนี้เธอเฉลยว่า ภาษาเยอรมันจะมีอยู่ 6 ระดับ คือ A1 A2 B1 B2 C1 C2 ซึ่งเนื่องจากความเข้าใจแรกที่สถานทูตบอกว่า ถ้าจะได้วีซ่านักเรียนเธอจะต้องได้ภาษาเยอรมันในระดับ B2 นี่คือเหตุผลที่เธอเรียนไปด้วย ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กไปด้วยเพื่อให้ได้เรียนภาษา แต่หลังจากได้ไปคุยกับมหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่าภาคเรียนอินเตอร์ไม่ต้องใช้ภาษาเยอรมัน โดยสาเหตุที่เธอไปถามเพราะเรียนภาษาเกือบปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึง พอได้รู้เรื่องนี้ เธอจึงไปคุยกับสถานทูตว่า ทางมหาวิทยาลัยบอกว่าไม่เอาภาษาเยอรมัน สถานทูตเลยบอกว่าถ้าเช่นนั้นสถานทูตก็ไม่เอา โดยหลังได้ยินเช่นนี้ เธอบอกว่า อยากจะร้องกรี๊ดดัง ๆ เพราะสู้อดทนเรียนมาตั้งเกือบปี

“แต่ยังไงโอ๋ก็ดีใจนะ ที่ได้ไปใช้เวลา 10 เดือนที่บ้านของครอบครัวนายจ้างครอบครัวนี้ เพราะทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรม อีกอย่างทางสามีภรรยานายจ้างของเราเขาก็ดูแลช่วยเหลือเราเต็มที่ ทั้งช่วยคัดกรอง ทั้งช่วยดูเอกสารที่เราส่งไปสมัครเรียน อีกทั้งยังช่วยเขียนจดหมายแนะนำตัวเราให้กับมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งโอ๋เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเยอรมัน ทั้งที่คะแนนจากไทยเราได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 3.00 ด้วยซ้ำ แต่พอได้จดหมายจากครอบครัวนายจ้างก็ช่วยทำให้โปรไฟล์เราดีขึ้น” เป็นความรู้สึกดี ๆ ที่สาวไทยในต่างแดนคนนี้ประทับใจ

หลังเลิกทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เธอก็บินกลับไทย และเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยการที่จะสอบติดได้นั้นจะมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ส่งจดหมายแนะนำตัว ใบเกรด และยื่นเอกสารตามที่มหาวิทยาลัยระบุ ซึ่งถ้ามองว่าน่าสนใจ เขาจึงจะเชิญไปสอบ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์สอบเข้า แต่จะต้องได้รับการเชิญให้ไปสอบก่อน ซึ่งเธอก็ได้รับเชิญให้ไปสอบ แต่ปีแรกสอบไม่ผ่าน โดยตกไป 4 คะแนน ทำให้ต้องรอสอบใหม่ในปีถัดไป ซึ่งระหว่างนั้นเธอก็ทำงานเป็นคนสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติ เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย โดยเมื่อสอบครั้งที่ 2 เธอก็สอบผ่านได้เข้าเรียนในที่สุด

“ก่อนบินไปเรียนที่เยอรมัน โอ๋เตรียมตัวด้วยการเรียนกับ Google Ads ในการดูแลโฆษณา โดยทาง Google สอนเอง เพราะโอ๋ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานออนไลน์ เนื่องจากมองแล้วว่า เรียน 8 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น เราคงไม่มีแรงไปทำงานต่อแน่นอน ถ้าต้องทำงานเสาร์-อาทิตย์ด้วย เราก็จะไม่มีเวลาใช้ชีวิตเลย จึงอยากทำงานออนไลน์ เพราะทำงานที่ที่พักได้เลย โดยเรียนออนไลน์มันจะมีคอร์สให้เรียนเยอะแยะ แล้วก็มีงานให้เลือกทำมาก พอบินไปที่เยอรมันอีกครั้งโอ๋ก็ทำงานออนไลน์ คือดูแลโฆษณาให้ทาง Google และให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ รวมถึงบริษัทอื่น ๆ”

สวีทกลางหิมะกับแฟนชาวสวีเดน

เธอบอกว่า ถ้ามีช่วงว่าง ๆ ทั้งจากการเรียนและการทำงาน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เธอจะไปปีนเขา หรือไม่ก็ไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ โดยหลังเรียนจบวิทยาศาสตร์ ภาคอินเตอร์ เธอก็ไปลงเรียนการออกแบบเว็บไซต์เพิ่มเติม เพราะแฟนของเธอนั้นทำธุรกิจออนไลน์อยู่ที่ประเทศสวีเดน โดยช่วงที่เธอเรียนจบ ก็เกิดโควิด-19 พอดี แฟนของเธอจึงแนะนำให้ไปทำวีซ่าประเทศสวีเดนไว้ เพราะวีซ่าที่นี่กว่าจะให้ก็ใช้เวลาพิจารณานานเป็นปี พอได้วีซ่าสวีเดนปุ๊บ เธอก็ย้ายไปอยู่สวีเดน โดยเธอเปิดบริษัทของตัวเอง เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเธอตั้งใจเอาไว้แล้วว่า “อยากจะขอสัญชาติสวีเดน”

ก่อนลากัน “โอ๋-นิตยา” สาวไทยเจ้าของเพจ “สาวไทยเดิ้ง รีวิวสวีเดน” กล่าวกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า เรื่องงาน มีคนถามเยอะมาก เพราะเธอต้องเปลี่ยนสายจากนักวิทยาศาสตร์มาเป็นนักการตลาด หลายคนมองว่าคนละขั้วเลย แต่เธอก็บอกว่า แม้จะคนละขั้ว แต่เธอทำได้ แถมทำได้อย่างสนุกอีกด้วย ส่วนที่บางคนมองว่าชีวิตเธอประสบความสำเร็จแล้ว เรื่องนี้เธอได้บอกว่า… “ถ้าจะถามว่าชีวิตสมบรูณ์แบบหรือยัง สำหรับเราคิดว่าไม่เลย เพราะยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก ๆ อย่างบริษัทที่เราเปิดเอง ตอนนี้ก็ปิดไปแล้ว เพราะเสียภาษีสูงมาก ก็สู้ไม่ไหวจริง ๆ ตอนนี้เราก็ทำงานเป็นพนักงานประจำ ทำหน้าที่ออกแบบเว็บไซต์และทำด้านการตลาดไปด้วย แต่ส่วนตัวแล้วเรามองว่า…ชีวิตตอนนี้ก็สนุกดี…ทำให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอด”.

หนาวยะเยือก -28 องศาฯ

กลั่นประสบการณ์ให้คำปรึกษา

“โอ๋-นิตยา นามรัง” สาวไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างแดนคนนี้ เธอยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันเธอยังมีอาชีพเสริมอย่างหนึ่งคือ “ให้คำปรึกษา” ให้บริการกับคนที่สนใจประมาณ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะให้คำปรึกษากับน้อง ๆ ที่สนใจอยากไปเรียนต่อ หรือคนที่อยากไปทำงาน โดยเธอบอกว่า “ใช้ประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานของตัวเองมาให้คำแนะนำ” เพื่อให้คนอื่น ๆ มีความเข้าใจในการต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ และเธอยังตั้งใจจะเปิดเวิร์คช็อปด้วย เพราะเธอสังเกตว่าคนที่ปรึกษามักจะบอกว่าเวลาไม่พอ เพราะหลายคนอยากเรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมตัว การเตรียมโปรไฟล์ การทำสัญญา หรือแม้แต่การดูสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้มีความพร้อมมากที่สุด.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน