“เราเกิดในครอบครัวช่างบายศรี แต่เอาจริง ๆ เรากลับไม่ได้มีความคิดที่จะสืบทอดการทำบายศรีที่เป็นรากเหง้าของครอบครัวเลย แถมพยายามจะหนีจากตัวตนนี้ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น จนต้องกลับมารับช่วงต่อ” เป็นเสียงจาก “กอล์ฟ-ธนกร สดใส” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี และเจ้าของแนวคิด “ปลุกกล้วยผีสู่การเป็นราชินีกล้วย” ที่บอกกับเราในช่วงต้นของการสนทนา ซึ่งแนวคิดนี้ของเขาได้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้เขานำ “กล้วยตานี” ที่มีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่าเป็น “กล้วยผี” มาสร้างสรรค์ต่อยอดและเพิ่มคุณค่า ด้วยการนำมาพัฒนาเป็นสินค้า ภายใต้แบรนด์ชื่อไทย ๆ อย่าง “ตานีสยาม (Tanee Siam)” ที่ไม่เพียงจะกลายเป็นสินค้าแฟชั่น แต่ยัง สร้างงาน-สร้างเงิน-สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านเกิด ของเขาอีกด้วย ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้…

“กอล์ฟ-ธนกร” เล่าย้อนประวัติของตัวเขาให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เกิดและโตที่ ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทั่วไปและเป็นเกษตรกร อีกทั้งครอบครัวของเขายังถือเป็นหนึ่งในครอบครัว “ช่างทำบายศรี” ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย และตัวเขาถือเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล โดยกอล์ฟบอกว่า เขาต้องฝึกหัดทำบายศรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งที่เขาไม่ชอบอาชีพนี้เลย และคิดอยู่ตลอดว่าอยากหนีจากวงจรอาชีพนี้ไปให้พ้น ๆ ซึ่งเหตุที่ทำให้ไม่ชอบอาชีพนี้ เขาบอกว่า คงเป็นเพราะช่วงวัยรุ่นเขาเองก็อยากจะใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นคนอื่นทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ต้องมานั่งสวดมนต์ นั่งจีบใบตองทำบายศรี ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะหนีจากตัวตนตรงนั้น เขาจึงไม่พลาดที่จะเลือกไปตามเส้นทางที่ตัวของเขาอยากเป็น

“หลังจบมัธยมต้น ผมก็ไปเรียน ปวช. แผนกเคมีสิ่งทอ ที่วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม โดยพยายามหาเงินเรียนด้วยตัวเอง หลังเรียนจบก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อเรียนจบก็ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ถึงจุดหนึ่งผมก็มานั่งคิดว่า ผมไม่ได้นำสิ่งที่ได้เรียนมาใช้ประโยชน์อะไรเลย โดยตอนแรกผมทำงานเป็นเซลล์ จากนั้นก็เป็นพนักงานโรงหนัง แล้วก็เปลี่ยนเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งเปิดร้านดอกไม้ของตัวเอง แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำล้มเหลวหมด จนเริ่มเหนื่อยกับชีวิต ก็มาคิดว่าคงใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ได้แล้ว จึงตัดสินใจมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด”

การกลับบ้านเกิด กอล์ฟ บอกว่า ก็ทำให้ชีวิตเขาต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เขาเคยพยายามหนีมาตลอด นั่นคือรับช่วงสืบทอดการทำบายศรีของครอบครัว โดยเปิดร้านดอกไม้ควบคู่ไปด้วย ก่อนที่จะกลายมาเป็น ครูสอนทำบายศรี จากการที่ได้รับเชิญให้ไปสอนโดยสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.นนทบุรี ซึ่งทำให้เขาได้มุมมองใหม่ ๆ โดยกอล์ฟเล่าว่า หลังเป็นครูสอนทำบายศรีอยู่ 2 ปี เขาก็ตัดสินใจเปิด ศูนย์เรียนรู้งานพิธีกรรมงานบายศรี ที่มีรูปแบบเป็นกึ่ง ๆ เวิร์กช็อป กึ่ง ๆ คาเฟ่ โดยตอนนั้นเขาอยากจะอนุรักษ์การทำบายศรี แต่ปรากฏหลังจากเปิด คนที่มาส่วนใหญ่กลับเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ ไม่ก็เป็นลูกหลานคนในท้องถิ่นที่พ่อแม่เอามาฝากไว้เพราะไม่มีเวลาดูแลลูก เนื่องจากต้องทำงานหาเงินหารายได้กัน

กอล์ฟเล่าย้อนต่อไปว่า ศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดนี้มีเป้าหมายคืออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำบายศรี แต่พบอุปสรรคและความท้ายทายใหญ่ คือศูนย์นี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขาดเงินหมุนเวียนที่จะใช้ดำเนินการ แต่เขาก็ไม่คิดปิดศูนย์นี้ เพราะมีสิ่งที่ต้องแบกรับ นั่นก็คือ “บายศรี” ทำให้เขาพยายามคิดหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดไอเดียที่จะทำสินค้าจากส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นกล้วย เกิดการรวมกลุ่มทำงานฝีมือขึ้นมา เริ่มตั้งแต่งานหัตถกรรมจักสานจากเชือกกล้วย ก่อนจะพัฒนามาเป็นการนำกาบกล้วยมาใช้เป็นวัสดุทำสินค้า และเกิดเป็น “กระเป๋าจากหนังกาบกล้วย” โดยเขาตั้งชื่อแบรนด์ว่า “ตานีสยาม (Tanee Siam)” ที่ต่อมาเป็นจุดเริ่มทำให้เกิด “วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี” และวันนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี

“เราเห็นปัญหาในกลุ่มเด็ก ๆ ที่มาอยู่กับเราก่อน ก็มองย้อนไปที่ครอบครัวของเด็ก ทำให้รู้ว่าเด็กขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว เพราะพ่อแม่ต้องไปขายแรงงานที่ต่างจังหวัด ไม่ก็ต้องไปถึงต่างประเทศ ทำให้การพัฒนาการของเด็กไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้เรายังเห็นว่าพ่อแม่ของเด็กในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยถูกตามทวงหนี้จากเจ้าหนี้นอกระบบ เราเห็นข้อผิดพลาดของชุมชนของเรา ที่สาเหตุหลัก ๆ เกิดมาจากความยากจน จากความไม่มี ที่เป็นปัจจัยใหญ่ที่ผลักให้ทุกคนต้องออกนอกพื้นที่เพื่อไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว”

…กอล์ฟพูดถึง “รากแห่งปัญหา” ที่เกิดขึ้น และบอกว่า เมื่อเห็นปัญหามาก ๆ เข้า ก็ทำให้เขารับไม่ได้ และสงสารเด็ก ๆ ทำให้ตัดสินใจจะโอบอุ้มช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก ๆ เหล่านี้ ด้วยการควักกระเป๋าตัวเอง ใช้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิตที่มีอยู่ประมาณ 4-5 แสนบาท นำไปจ่ายหนี้นอกระบบแทนให้กับครอบครัวของเด็ก ๆ โดยเขาช่วยจ่ายหนี้ไปได้ประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งครอบครัวเหล่านี้ต่อมาก็คือครอบครัวที่เป็นจุดตั้งต้นของการรวมกลุ่มอาชีพทำสินค้าจากต้นกล้วย

“ตอนนั้นไม่คิดอะไรเลย (หัวเราะ) แค่เห็นภาพที่พ่อแม่เด็กถูกทวงหนี้แล้วรู้สึกรับไม่ได้เท่านั้นเอง เราก็เลยรับภาระปิดหนี้ให้ครอบครัวเด็ก และชวนให้มาอยู่กับเรา ให้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทั้งที่เวลานั้นยังไม่มีแนวทางอะไรเลย ตอนนั้นแค่ทำบายศรีขาย และก็เปิดโรงเรียนสอนฟรี ต่อมาก็มาคิดว่าการที่จะช่วยคนอื่นได้เราต้องช่วยตัวเองให้รอดได้ก่อน จนตกตะกอนความคิด จึงนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มคุณค่าให้กล้วยตานี โดยนำมาทำเป็นกระเป๋าหนังกาบกล้วย ซึ่งการทำธุรกิจนั้นเราก็ต้องคิดหาแนวทางใหม่ ๆ มาเสริม ทีนี้ก็เห็นว่ากล้วยตานีเป็นต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน ที่สามารถทำให้เกิดมูลค่าและเลี้ยงคนในชุมชนได้ เราจึงคิดหาวิธีแปรรูป ใช้เวลาทดลองอยู่เป็น 10 ปี จนที่สุดก็แปรรูปเป็นหนังกาบกล้วยได้สำเร็จ และนำไปต่อยอดเป็นกระเป๋า เป็นสินค้าแฟชั่น” เป็นอีกส่วนจากคำบอกเล่า

ส่วน “คีย์เวิร์ด” เกี่ยวกับการ “ปลุกกล้วยผีเป็นราชินีกล้วย” นั้น กอล์ฟเล่าว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปั้นแบรนด์ตานีสยาม โดยเขาบอกว่า “ตอนที่คนรอบตัวรู้ว่าเรามีแนวคิดนำกล้วยตานีมาแปรรูปเป็นสินค้า ทุกคนก็ทักท้วงว่า กล้วยตานีเป็นกล้วยผี ถ้าเอามาทำสินค้าแล้วใครจะซื้อ ซึ่งเมื่อเกิดประเด็นนี้ เราก็เลยต้องมาคิดว่าจะทำยังไงดีกับการที่คนยังมองว่ากล้วยตานีเป็นกล้วยผี เป็นกล้วยที่ใช้ทำพิธีกรรม จนพบไอเดียว่า เราก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนความเชื่อ ไม่เปลี่ยนความเชื่อคน แค่ต้องเปลี่ยนให้มีมูลค่า” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรีเล่าไว้ผ่านน้ำเสียงมุ่งมั่น

ในช่วงท้าย “กอล์ฟ-ธนกร” ที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้สนทนาด้วยจากการร่วมคณะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของลูกค้าที่ให้การสนับสนุนทุนในพื้นที่ จ.ราชบุรี เขายังบอกว่า… “คนเรามีโชคชะตากำหนดไว้ อย่างเช่นผม ตั้งแต่เด็กพยายามหนีให้หลุดออกมาจากชีวิตช่างทำบายศรี แต่สุดท้ายวงล้อของโชคชะตาก็หมุนวนและพัดพาให้กลับสู่จุดเริ่มต้น ทำให้ตัดสินใจที่จะยอมรับโชคชะตาที่ถูกขีดเขียนมา พร้อมกับบอกตัวเองว่า ให้เปิดใจ ให้ลองเปิดมุมมองใหม่ ๆ จนทำให้ค้นพบว่า… ต้องเข้าใจ…และต้องรู้จักตัวเอง…รู้จักตัวเอง…ชีวิตคนเราจึงจะสุขได้”

เบื้องหลังสำคัญ “ทีมงานตานี”

‘น้ำทิพย์’ ที่ ‘ชะล้างคราบน้ำตา’

กว่าจะสำเร็จอย่างที่น่าพอใจในวันนี้ได้ “กอล์ฟ-ธนกร สดใส” บอกว่า เส้นทางของเขาต้องข้ามฝ่าขวากหนามและอุปสรรคสารพัดมากมาย ชนิดที่ว่า…บนรอยเท้าที่เดินมาหากมองย้อนไปก็ต้องเห็นคราบน้ำตาของเขาแน่ ๆ โดยเขาเจอมาทุกรูปแบบ ถูกคนรู้จักโกง หักหลัง ถูกคนแอบแฝงเข้ามาหาประโยชน์ ถูกฟ้อง ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ติดคุก ก็เคยมาแล้ว หรือพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างก็เจอวิกฤติโรคระบาดถาโถมจนล้มกลิ้ง นี่ก็เคย แต่ “สิ่งที่ทำให้ฮึด” ก็คือ “ครอบครัว” ที่ทำให้ลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาได้จนถึงวันนี้… “พ่อแม่ผมจะคอยให้กำลังใจ คอยให้สติผมเสมอ ซึ่งคำพูดง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำ กลับเป็นเสมือนน้ำทิพย์ทำให้เราสู้และยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ได้… ส่วนเป้าหมายในอนาคตนั้น ผมตั้งใจจะเดินหน้าเพิ่มศักยภาพคนในชุมชนให้พึ่งพาตัวเองได้ ไปพร้อม ๆ กับสร้างคนใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทนของเราให้ได้มากที่สุด”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน