พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นจากการตรัสรู้ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เอง ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งในสภาวธรรมที่มีสามัญลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยจำแนกสภาพธรรมเป็น 2ประเภท คือ นามธรรมหรือนามธาตุหรือนามขันธ์ ประเภทหนึ่ง คือ จิตและเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ รูปธรรมหรือรูปธาตุหรือรูปขันธ์ อีกประเภทหนึ่ง คือ รูปซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่ถูกรู้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงสภาพธรรม ซึ่งมีทั้งธรรมที่เป็นกุศล (กุศลาธรรมา) ธรรมที่ไม่เป็นกุศล (อกุศลาธรรมา) ธรรมที่ไม่เป็นกุศลและธรรมที่ไม่เป็นอกุศล (อพยากตาธรรมา) ชาวพุทธพึงทราบว่าในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล มีจิตคิดชั่ว (อกุศลจิต) มากกว่าจิตคิดดี ( กุศลจิต ) เพราะแต่ละบุคคลต่างล้วนเป็นปุถุชนที่มีกิเลสหยาบหนาทั้งสิ้น หากได้รับการขัดเกลากิเลสด้วยการละความไม่รู้ (อวิชชา) โดยการฟังธรรมตามกาล จะเป็นเหตุให้จิตคิดดีมีกำลังมากขึ้น ในขณะที่จิตคิดชั่วมีกำลังน้อยลง เนื่องจากมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) จึงมีความละอายชั่วและกลัวบาป

เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ชาวพุทธอย่างถูกต้องในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอนำการสนทนาธรรมของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโอกาสและวาระต่างๆ มาให้ได้พิจารณาในสิ่งที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม) ดังนี้

การสนทนาธรรมที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2541 อ.สุจินต์ กล่าวว่า “…ศีลเป็นเรื่องของการประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งทุกชาติทุกศาสนาก็คงจะมีคำสอนในเรื่องศีล คงจะไม่มีการให้กายเบียดเบียนหรือว่าวาจาไปเบียดเบียน แต่ว่าถ้าไม่เป็นไปกับปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะแล้ว ก็ขณะนั้นอาจจะบอกว่าเป็นศีลที่ไม่ล่วง เป็นศีลที่ไม่หวัง แต่ถ้าไม่ใช่ประกอบด้วยปัญญาก็ยังไม่ใช่วิสุทธิ เพราะฉะนั้นศีลวิสุทธิต้องเป็นไปกับสติปัฎฐาน สมาธิในขณะนั้นที่เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิจึงจะเป็นจิตตวิสุทธิ เพราะเหตุว่าถ้าอ่านคำอธิบายเรื่องของวิสุทธิ 7 จะพบคำอธิบายเรื่องของปัญญาระดับสูงมาก คือ อัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ แต่เวลาที่ศึกษาธรรมะต้องทราบว่า ไม่ว่าจะกล่าวถึงข้อความใด พระผู้มีพระภาคจะยกสภาพธรรมะตั้งแต่ต่ำจนถึงสุดยอด เพราะฉะนั้นในเรื่องของขณิกสมาธิก็เป็นธรรมดา เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง แม้ขณะที่เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ แต่เป็นไปกับปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ จึงจะเป็นจิตตวิสุทธิ เพราะว่าถ้าเป็นผู้ที่เพียงอบรมเจริญฌานขณะนั้นก็ถึงอัปปนาสมาธิ แต่ยังมีความเป็นเรา ถ้ายังมีความเป็นเราจะทำให้ถึงทิฏฐิวิสุทธิไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนั้นเมื่อไม่เป็นหนทางหรือว่าไม่ใช่สมาธิที่จะทำให้ถึงทิฏฐิวิสุทธิ สมาธินั้นก็ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ เพราะเหตุว่าบางครั้งได้ยินคำว่า จิต แต่หมายความถึงสมาธิ และที่ทรงแสดงทุกระดับก็ตั้งแต่อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพราะว่าขณิกสมาธิก็เป็นปกติอยู่แล้ว …”

การสนทนาธรรมระหว่างการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2542 อาจารย์สุจินต์ กล่าวว่า “…ในโลกที่มีขันธ์ 5 มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม รูปเกิดจากจิตก็มี แต่ในที่นี้เราไม่พูดถึงรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร จะขอกล่าวถึงเฉพาะรูปที่เกิดจากจิต ซึ่งเป็นทางหรือทวารของจิต เนื่องจากมีรูปซึ่งเป็นทางที่จะทำให้รู้ว่าจิตใจของคนนั้น ในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ด้วยกายและวาจาของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นศีลก็หมายความถึงปกติ ธรรมดา… เวลาที่จิตเกิดขึ้นนั้น ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆทั้งสิ้น ขณะนั้นไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าสภาพจิตของบุคคลนั้นดีหรือชั่วอย่างไร เพราะว่าไม่มีอาการที่จะปรากฏให้รู้ได้ แต่เวลาที่มีกาย วาจา ปรากฏเราก็สามารถที่จะรู้ได้…

สภาพธรรมต้องเป็นไปตามจิต เพราะเหตุว่ากาย วาจา เป็นทางออกของจิตที่จะแสดงว่าขณะนั้นจิตเป็นอะไร ด้วยเหตุนี้ ถ้ารู้จักคำว่าศีลซึ่งหมายความถึงปกติ มีทั้งกุศลศีล อกุศลศีล และอพยากตศีล ส่วนใหญ่พอพูดถึงเรื่องศีล เราคิดถึงความประพฤติที่เป็นไปในทางที่ดี แต่ว่าความเป็นจริง เมื่อศีลเป็นปกติ จิตก็เป็นปกติ มีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ถ้าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีทั้งกุศลศีลและอกุศลศีล แต่ไม่มีอภยากตศีล ที่จะเป็นอภยากตได้ก็ต้องเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์…

เวลาที่กุศลจิตเกิดต้องเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะใดที่ไม่ได้เป็นไปในเรื่องการให้ ซึ่งเป็นระดับหนึ่งของกุศลจิตที่อาศัยวัตถุ ขณะนั้นต้องเป็นศีลหรือภาวนา แต่เวลาที่ภาวนาเกิด คนนั้นมีศีลไหม เพราะว่าปกติถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลศีล ขณะนั้นไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย วาจา แต่ว่าระดับของจิตสูงขึ้น ไม่ใช่เพียงขั้นงดเว้นเฉยๆ ยังมีเมตตาประกอบด้วย ซึ่งเป็นฝ่ายภาวนา ถ้าไม่ใช่เป็นกุศลระดับทาน ศีล สามารถที่จะถึงอรหัตเลย เพราะว่ามีศีลต่างๆที่เราจะค่อยๆ พูดถึงไปเรื่อยๆจากปกติที่เคยเข้าใจว่า ศีลคือการวิรัติทุจริต แต่ ศีลมี 2 อย่าง เวลาที่กุศลจิตเกิด แม้ไม่วิรัติทุจริต แต่เป็นศีลอีกประเภทหนึ่ง คือ จาริตตศีลก็ได้ การที่แสดงความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ นอบน้อมในบุคคลที่ควรนอบน้อม ขณะนั้นไม่ใช่การให้ ไม่ใช่การวิรัติ แต่เป็นศีลเพราะว่าขณะนั้นเป็นการแสดงออกของจิตที่เป็นกุศลทางกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของสภาพของจิตที่เป็นไปในกุศลระดับศีล….

เราจะรู้ว่าศีลของคนนั้นมีศีลที่บริสุทธิ์ได้อย่างไรบ้าง คือ จากอันแรก ปาฏิโมกขสังวรศีล ซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่ทรงแสดงไว้ว่าเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ ถ้าละเมิดก็หมายความว่าไม่บริสุทธิ์ แล้วก็โดยอาชีวะ มีอาชีพสุจริตหรือไม่ ถ้าอาชีพไม่สุจริตก็หมายความว่าไม่มีศีล ถ้าอาชีพสุจริตก็เป็นปาริสุทธิศีลได้ เพราะว่าบริสุทธิ์โดยอาชีพ หรือว่าอินทรียสังวรศีล ซึ่งเป็นการสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ที่มีศีลตามควรหรือไม่ แล้วก็ปัจจยสันนิสสิตศีล คือ การพิจารณาในขณะที่บริโภคหรือใช้สอย นี่คือบริสุทธิ์มากสำหรับพระภิกษุที่เป็นแบบนี้ สำหรับฆราวาส ไม่ถึงขั้นนั้นเลย เพราะฉะนั้นก็ตามควรคือศีล 5 แต่ทั้งหมดทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ศีลนั้นแม้ว่าจะบริสุทธิ์ รักษาได้อย่างนั้นๆ ก็ไม่ใช่ศีลวิสุทธิ…

ถ้าเป็นศีลวิสุทธิ ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิสุทธิ 7 ความบริสุทธิ์ตามลำดับที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีศีล แต่ก็ยังเป็นเรา เป็นเขาอยู่ ก็ยังไม่ใช่ความบริสุทธิ์จากความเยื่อใย ความเป็นตัวตน จะต้องมีขั้นอื่นๆ ต่อไปอีก…

ถ้าศึกษาพระอภิธรรมเข้าใจก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ศีลทั้งหมดก็คือสภาพของจิตที่เป็นกุศลระดับต่างๆ ซึ่งจะต้องอบรมให้เจริญขึ้น แล้วก็มีทั้งวาริตตศีลที่ควรงดเว้น และจาริตตศีลที่ควรประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่มีแต่งดเว้นทางฝ่ายอกุศล แล้วทางฝ่ายกุศลที่เป็นกาย วาจาที่ดีไม่ประพฤติเลย ก็เป็นเรื่องการขัดเกลาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง…”

การสนทนาธรรมในหัวข้อเรื่อง “อกุศลศีล” เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 64 ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์สุจินต์ กล่าวว่า “…ศีล คือ ปกติธรรมดาของสภาพธรรม ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น เวลาที่อกุศลเกิดขึ้นก็เป็นปกติเป็นธรรมดา เป็นธรรมที่ประกอบด้วยอกุศลจึงเป็นอกุศลศีล แต่ว่าทุกคนก็มีใช่ไหม? แล้วความดีทุกคนก็มีเหมือนกันก็เป็นกุศลศีล แต่ว่ามีความเข้าใจอะไรหรือเปล่าในคุณของกุศลศีลและโทษของอกุศลศีล ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้… ถ้าเป็นอกุศลที่เป็นธรรมดา สมโลภะ ความยินดีในสิ่งที่มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กลิ่น เสียงต่างๆ ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร เป็นโทษกับคนอื่นหรือเปล่า ไม่เป็นเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นโทษกับตนเอง ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะต้องรู้ว่ามีหลายระดับ ระดับที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็คือ ควรจะมีการวิรัติงดเว้นทุจริตกรรมที่ถึงขั้นที่จะให้โทษกับตนเองและบุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำที่ใช้ คือ ศีล 5 เพราะพิจารณาแล้วว่า ทั้ง 5 ข้อ นำมาซึ่งโทษใหญ่หลวง …

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องศีลว่าซึ่งสมควรที่จะเว้น คือ วิรัติ แต่ว่าทั้งหมดโดยความเป็นอนัตตา และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือว่า ศีลนั้น ไม่ใช่เรา ก็ต้องอีกขั้นหนึ่ง เป็นศีลสังวร เป็นอธิศีลสิกขา มีคุณธรรมที่ดีขึ้น แต่ต้องมาจากความเข้าใจที่ถูกต้อง…

จะมีประโยชน์อะไรถ้ากล่าวถึงศีล 5 โดยไม่รู้จักศีล 5 ว่าเป็นอกุศลธรรมที่ถึงขั้นควรเว้น เพราะว่าเป็นโทษอย่างมากกับตนเองและกับบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละข้อก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของการล่วงศีล…ใครล่ะที่สามารถที่จะเป็นผู้ที่มีศีล 5 สมบูรณ์ ไม่ล่วงทุจริตเลย คือ พระโสดาบันบุคคล…

ขณะใดก็ตามที่จะถึงกับกระทำทุจริตกรรม จะทำหรือไม่ทำ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี คือ วิรัติเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เว้นความประพฤติที่เป็นโทษทางกาย และที่เป็นโทษทางวาจา และเป็นโทษในการที่จะมีอาชีพที่ผิด… ถ้าไม่เห็นถูก ไม่มีทางเลยที่อวิชชาจะสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจนกระทั่งหมดจดได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม บริสุทธิ์หมดจดที่จะทำให้คนสามารถเข้าใจถูกต้อง ไม่มีใครจะทำให้ใครมีศีล 5 ได้เลย นอกจากความเข้าใจของคนนั้นซึ่งเกิดจากความเข้าใจพระธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรมแล้ว ใครจะมีศีล 5 ได้ครบถ้วน ไม่ล่วงละเมิดเลย…

ผศ.อรรณพ หอมจันทร์วิทยากรมูลนิธิฯ ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า ภิกษุยอมผิดวินัยเพื่อรักษาธรรม “คำกล่าวเหล่านี้ก็เป็นคำกล่าวจากการที่ไม่เข้าใจธรรมไม่เข้าใจวินัยจึงกล่าวว่า ยอมผิดวินัยเพื่อรักษาธรรม อย่างเช่น เมตตาธรรม เป็นธรรม อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า จากการที่คิดว่าอาบัติเล็กน้อย แต่ก็นำไปสู่อาบัติที่มากขึ้น กรณีคฤหัสถ์ที่เป็นผู้นำในการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ก็มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือด้วย ในขณะนั้นก็มีจิตเป็นกุศล แต่หากเป็นบรรพชิต ท่านอาจารย์สุจินต์ฯ บอกว่า ไม่สงบ ประการนี้เป็นเช่นไร? แล้วพระภิกษุท่านมีกิจที่ควรกระทำอย่างยิ่งอยู่แล้ว คือ การศึกษาและอบรมเจริญปัญญา เช่น ถ้าต้องการไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยต่างๆ ก็ต้องใช้สิ่งของเงินทอง แล้วก็ต้องมีเรื่องของการเรี่ยไร…”

อาจารย์สุจินต์ ตอบว่า “ผิดวินัยแล้วจะรักษาธรรมได้อย่างไร? ธรรมวินัยของบุคคลนั้นเป็นเครื่องวัดใจ ไม่ว่าโดยสถานการณ์ใดๆที่จะรู้จักตัวเองว่าพร้อมที่จะเป็นภิกษุหรืออยากจะเป็นอย่างคฤหัสถ์ ใครก็ตามที่ไม่สามารถที่จะดำรงเพศภิกษุได้ ไม่ควรทำให้พระธรรมวินัยเศร้าหมอง การละเมิดพระวินัยจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้คนคิดว่าใครก็ละเมิดพระธรรมวินัยได้ แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติไว้ทำไม ต้องรู้จุดประสงค์ด้วย แต่เพราะเหตุว่าเขามีใจที่จะศึกษาพระธรรมและดำเนินชีวิตตามรอยพระบาท

สิ่งใดพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เขาก็ต้องทำตาม เป็นบุตรของบิดา เป็นคนของเรา ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ คนของพระองค์จะทำสิ่งที่พระองค์ไม่ทำ ได้ไหม? หรือว่าจะทำสิ่งที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติว่าไม่ควรทำ แต่ก็ทำ แล้วก็บอกว่าเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเคารพไม่ใช่การแสดงด้วยคำพูดว่าเคารพ แต่ต้องด้วยการกระทำและด้วยใจจริง ถ้าใจจริงมุ่งที่จะสงเคราะห์คฤหัสถ์ สาธารณสงเคราะห์ นั่นไม่ใช่กิจของพระภิกษุก็ลาสิกขา แล้วก็สงเคราะห์ได้ ไม่ผิดอะไรเลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคฤหัสถ์ แต่ว่าสำหรับบรรพชิตถ้าทำอย่างนั้น ดีหรือ? แล้วใครจะศึกษาพระธรรมวินัย และถ้ามัวสงเคราะห์เป็นโครงการใหญ่ๆตลอดเวลา จิตก็มุ่งคิดแต่เรื่องนั้น แล้วไม่ได้มุ่งคิดที่จะสงเคราะห์ด้วยพระธรรม แล้วเป็นภิกษุเพื่ออะไร เพราะขณะที่สงเคราะห์ชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ได้แสดงความเป็นเพศที่ขัดเกลายิ่งกว่าคฤหัสถ์

ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน จะไปเฝ้าไหมว่าขอผิดพระวินัยที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติแล้ว กล้าอย่างนั้นไหมเพื่อจะไปช่วยคน ถ้าจะช่วยก็ไม่ว่ากันแต่ก็ต้องลาสิกขาบท แม้สิกขาบทที่เขาอาจจะคิดกันว่าเล็กน้อยมาก แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีความมั่นคง สิ่งที่เล็กน้อยสำหรับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ใหญ่มากสำหรับพระภิกษุที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม แล้วสงบไหม คิดจะไปช่วยเขา โครงการต่างๆ มากมาย สงบไหม

เพราะฉะนั้น ภิกษุคือใคร? ถ้าไม่มีความต่างกันระหว่างคฤหัสถ์และบรรพชิต จะเป็นบรรพชิตทำไม เป็นเพื่อวันหนึ่งไม่รู้จะทำอะไรหรือว่าวันหนึ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทำอย่างนั้นหรือ? นั่นไม่ใช่พระภิกษุในธรรมวินัย ต้องรู้ความต่างกันอย่างยิ่ง แล้วทำไมคฤหัสถ์ไหว้พระ อยู่ดีๆ ไหว้ไหม? เข้าไปในห้างซื้อของเหมือนชาวบ้าน จะไหว้ไหม?

สำหรับคฤหัสถ์ทำสิ่งที่ดี ก็ไม่เห็นมีใครจะชื่นชมมากเท่าภิกษุที่ทำผิดวินัยแล้ว ก็บอกว่า สาธุ พระนี้ทำดี ไปช่วยชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ? คฤหัสถ์ต่างหากที่ควรที่จะได้รับการยกย่องอย่างยิ่งที่แม้ไม่ใช่บรรพชิตยังทำสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง…”

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”