ชื่อ “ดร.จ๊ะ-ชญณา ศิริภิรมย์” โดดเด่นอยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัย ในฐานะซีอีโอบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลาออก เพื่อมา “ตามความฝัน” ของตัวเอง นั่นก็คือ… “ปั้นแบรนด์ผ้าไหมไทย” ซึ่งถึงแม้ความฝันนี้ของเธอจะดูแตกต่างจากอาชีพที่ทำมานานเกือบ 30 ปี แต่เธอก็ได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะ “ปรัชญาการทำงานของคนญี่ปุ่น” อย่าง “อิคิไก (Ikigai)” ที่เป็นแนวทาง “สร้างคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง” เธอคนนี้ได้นำมาปรับใช้กับชีวิตเพื่อตามฝัน ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…

“อิคิไก…คือหลักในการทำให้ชีวิตมีคุณค่าอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหนึ่งในปรัชญาชีวิตที่สำคัญของคนญี่ปุ่นเกือบทุกคนก็ว่าได้ โดยแนวคิดนี้คือ คนเราต้องรู้ว่า…ตื่นเช้ามาเราจะต้องทำอะไรให้ชีวิตที่เหลืออยู่ หรือรู้ว่า…ต้องมีชีวิตเพื่ออะไร โดยทำใน 4 สิ่งต่อไปนี้คือ 1.ทำสิ่งที่ชอบ 2.ทำสิ่งที่ถนัด 3.ทำสิ่งที่มีรายได้เลี้ยงชีพเพียงพอ 4.ทำสิ่งที่มีประโยชน์กับโลกใบนี้ ซึ่งถ้าใครทำได้ครบ 4 สิ่งนี้ อิคิไกย่อมเกิดแน่นอน” …เสียงจาก “ดร.จ๊ะ-ชญณา” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าไหมไทย “Chayanna” ที่ออกเสียงว่า “ชะ-ยัน-น่า” อธิบายถึง “ปรัชญาอิคิไก” ที่เธอยึดถือและนำมาใช้จนทำให้พบความสุข

ดร.จ๊ะ เล่าว่า… ตอนที่ตัดสินใจจะออกมาทำแบรนด์ผ้าไหมของตัวเอง ก็มีหลายคนเตือนว่า… เธอจะทำได้เหรอ? เพราะไม่ใช่ผ้าไหมทั่วไปด้วย แต่เป็นผ้าไหมธรรมชาติที่หาคนทำยาก ต้องใช้เวลาในการทำ และต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ด้วยความที่ผูกพันกับผ้าไหม เธอจึงตัดสินใจทำ เพราะซึมซับความรักในผ้าไหมมาจากคุณแม่ของเธอ ที่เป็นนักเก็บสะสมผ้าไหมตัวยง โดยคุณแม่ของเธอมีผ้าไหมเก็บไว้นับร้อยผืน และความรักจากคุณแม่ก็ถ่ายทอดมาที่ตัวของเธอ ซึ่งใครที่เคยได้สัมผัสผ้าไหมจริง ๆ จะรู้ดีว่า ทำไมถึงหลงรักผ้าประเภทนี้? โดย ดร.จ๊ะ บอกว่า ผ้าไหมมีความพิเศษ เพราะเป็นผ้าที่มีชีวิตชีวา โดยนอกจากงดงามด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อผ้ายังปรับอุณหภูมิได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นชุดในแบบที่ทันสมัย ก็สามารถสวมใส่ออกงานได้ หรือจะใช้ในชีวิตประจำวันก็โก้เก๋ไม่ซ้ำใคร

“จุดเริ่มต้นที่คิดว่า…เราควรจะนำผ้าไหมซึ่งเป็นศิลปะแห่งภูมิปัญญา ที่ออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้าน มีเรื่องราวในทุกผืนผ้า มาพัฒนาเป็นแฟชั่น ที่สามารถสวมใส่ได้หลากสไตล์ลงตัวในทุกโอกาสในแบบที่เป็นตัวเอง และสามารถทำตลาดได้ทั่วโลกนั้น เริ่มขึ้นตอนที่ได้พบกับ คุณเอ๋-สุวลักษณ์ มาศยะ เจ้าของแบรนด์ผ้าไหมโชติกา ที่มีชื่อเสียงมาก อยู่ที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งครอบครัวของคุณเอ๋ในอดีตเคยทอผ้าไหมแบบธรรมชาติ แต่ด้วยความนิยมที่ลดลง เพราะต้องใช้เวลาในการทอนาน หาคนทอยาก และขายยากด้วย ทำให้ครอบครัวคุณเอ๋จึงต้องปรับตัวไปใช้เคมีแทน และจะย้อมสีธรรมชาติสำหรับการประกวดเท่านั้น แต่สุดท้าย คุณเอ๋ และคุณย่าบัวตอง (แม่สามีของคุณเอ๋) ซึ่งแพ้สารเคมี ก็ต้องหันไปทำอาชีพอื่น และด้วยความเสียดายว่าฝีมือและภูมิปัญญานี้จะหายไป เราก็เลยสั่งทำจากครอบครัวของคุณเอ๋ ให้ทำเฉพาะผ้าสีธรรมชาติเดือนละเป็นร้อยเมตร ภายใต้แบรนด์ Chayanna และขอให้คุณเอ๋กับคุณย่าบัวตองหวนคืนกลับมาสู่กี่ทอผ้าอีกครั้ง ซึ่งทั้งสองท่านก็มีความสุขกับการได้ทอผ้าไหม”

…ทาง ดร.จ๊ะ เล่าจุดเริ่มต้นแบรนด์ผ้าไหมของเธอ พร้อมกับบอกว่า ลวดลายที่คุณย่าบัวตองหลงใหล และมักจะเลือกทอเป็นหลัก คือ “ลายดอกบัว” โดยมีคุณเอ๋เป็นผู้ควบคุมการให้สีของผ้าไหม ซึ่งการนำ 2 ยอดฝีมือกลับมาทำงานสร้างสรรค์ผ้าไหม ทำให้ผ้าไหมภายใต้แบรนด์นี้มีความสวยงาม และยากต่อการเลียนแบบ จนเป็นจุดเด่นของแบรนด์ ทั้งนี้ ดร.จ๊ะ บอกว่า เธอได้เรียนรู้จาก 2 ยอดฝีมือ และก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาด้วยการอ่านตำรับตำราด้วยตัวเองอีกด้วย โดย “หนึ่งในตำราเล่มสำคัญ” ก็คือ “หนังสือสีสร้างสรรค์ Color Creation” หนังสือที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานไว้ให้ศึกษา ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้สำหรับครอบครัวเธอ

ฟัง ดร.จ๊ะ เล่าจุดเริ่มต้นแล้ว ลองมาฟังอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ อย่าง “เอ๋-สุวลักษณ์ มาศยะ” ที่เล่าว่า… ผ้าไหมแต่ละผืนที่ทำออกมา ต้องผ่านกรรมวิธีพิถีพิถันและละเอียดอ่อนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกเส้นไหม ตั้งแต่ต้นน้ำสำคัญในการผลิตผ้า

เอ๋-สุวลักษณ์ มาศยะ ฟันเฟืองสำคัญ

“การย้อมสี สีที่ใช้ย้อมจะเลือกใช้วัตถุดิบธรรมชาติตามฤดูกาลและหาได้ในท้องถิ่น เช่น ใบสัก ถ้าเป็นใบอ่อน ๆ ก็จะให้สีชมพูอ่อน หากเป็นใบแก่ก็จะมีสีน้ำตาลทอง หรือใบสบู่เลือด หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกใบตุ๊กตา ก็จะได้สีเขียว หรือถ้าเป็นฝักคูนดิบ จะให้สีโทนเหลือง แต่ถ้าฝักแก่ จะให้สีโทนน้ำตาล ส่วนตัวครั่ง สีที่ได้จะออกแดง ชมพู และโอลด์โรส ขึ้นกับจำนวนครั้งในการย้อม ขณะที่ถ้าเป็นมะเกลือดิบ จะให้สีเขียวเข้ม แต่ถ้านำมาตากแดดหลาย ๆ ครั้ง สีก็ได้เป็นโทนน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีความมหัศจรรย์คือ ถ้านำสีที่ได้ไปผสมโคลน เราจะได้สีที่เข้มขึ้น เช่น ครั่งผสมกับโคลน จะได้สีม่วงกะปิ มะเกลือผสมโคลน จะให้สีเทาเขียว และถ้าผสมปูนขาวก็จะเปลี่ยนสีได้อีก”

นี่เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “สีธรรมชาติ” จากกูรู และเอ๋-สุวลักษณ์ ยังบอกอีกว่า… เมื่อได้สีแล้ว ก็เป็นการโอบสี นำเชือกฟางมาโอบไว้ให้แน่น เพื่อแยกให้ได้สีตามต้องการ จากนั้นนำมาย้อมสีพื้น แล้วแก้เชือกฟางที่โอบออกทั้งหมด ก่อนนำไปกวักอีกครั้ง แล้วปั่นใส่หลอดไปทอ ซึ่งกระบวนการนี้สำคัญ เพราะวางลวดลายไว้แล้ว ดังนั้นถ้าไหมขาดต้องต่อให้สนิทกลับคืน

แอนโทเนีย โพซิ้ว

“ผ้าไหมธรรมชาติแต่ละผืนจะมีความยาวประมาณ 4 เมตร ซึ่งต้องใช้เวลาทอเป็นเดือน ๆ จึงเป็นเหตุผลว่า…ทำไมชาวบ้านจึงไม่นิยมทำกัน แต่เมื่อได้ผ้าออกมา ผ้าจะโดดเด่นมาก ๆ คือแวววาวสะท้อนแสงเหมือนเพชรร้อยเหลี่ยม ที่มองมุมไหนก็สวย ผ้าไหมทุกผืนจะต่างกันด้วยสีสันและลวดลาย จากการใช้วัสดุธรรมชาติและทำมือ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความสวยงาม ความมีชีวิต นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์ของผ้าไหมคือ เป็นผ้าที่ปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศได้ เช่น ฉ่ำเย็นเมื่ออากาศร้อน และอบอุ่นเมื่ออากาศเย็น” …เอ๋-สุวลักษณ์ เล่าถึงจุดเด่นของผ้าไหม

ส่วน “คำถามยอดฮิต” ที่คนขายผ้าไหมมักจะเจอเสมอ ก็คือคำถาม อาทิ สีจะตกไหม? จะซีดเร็วหรือเปล่า? เรื่องนี้ เอ๋-สุวลักษณ์ ตอบด้วยเสียงจริงจังว่า… สีสันที่มาจากธรรมชาติฆ่าไม่ตาย สมัยก่อนคนโบราณใช้ยางกล้วยผสมในการย้อมผ้า ทำให้ได้สีที่คงทน ไม่ตกสี แถมยิ่งซักยิ่งสวย ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า

สลับกลับมาที่ ดร.จ๊ะ เธอบอกว่า… ผ้าไหมแบรนด์ของเธอนั้นมีทั้งที่ทอเต็มผืน และที่นำมาตัดเย็บเป็นชุดสำเร็จรูปที่มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส โดยจะมีอยู่ 4 ลวดลายที่นำลายโบราณมาประยุกต์ให้มีเอกลักษณ์และเรื่องราวเพิ่มขึ้น คือ ลายดวงใจดอกแก้ว ที่ประยุกต์จากลายประจำกระทรวงมหาดไทย นำมาทำให้ละมุนอ่อนช้อยสะดุดตา, ลายบัวหลวง ที่ออกแบบเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์การบูชาคุณความดี, ลายกุหลาบเล่นไฟ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความสวยสะดุดตา และ ลายคั่นนาคพิง ที่ประยุกต์การใส่เทคนิคหมี่คั่นโบราณเข้ามาในผ้า เพื่อให้เห็นถึงความมีสไตล์ในแบบผู้มาก่อนกาลของคนโบราณ

นักเทนนิสสาวรัสเซีย

นอกจากนี้ในเรื่องของ “รูปแบบ” ทาง ดร.จ๊ะ ก็ได้บอกว่า… ได้นำลายทั้ง 4 นี้มาออกแบบเป็น 3 คอลเลกชัน คือ Nirvana หรือ “นิพพาน” เพื่อสะท้อนถึงความอิ่มเอมในชีวิต กับให้ความหมายของชีวิตที่สงบ และด้วยความที่ต้องการให้แฟชั่นเซ็ทนี้เป็นชุดที่เย็นสบาย จึงออกแบบเป็น KIMONO ROBE เพื่อบ่งบอกถึง Unisex Dress ที่มีความทันสมัยโดดเด่นในแบบที่เป็นตัวเอง ถัดมา Diplomat เป็นการนำคุณค่าของผ้าไหมไทยมาออกแบบให้เป็น Luxury Dress ที่มีความสุภาพเรียบหรู สามารถสวมใส่เป็นทางการได้ โดยให้ความรู้สึกความเป็นชุดสำหรับ Business ที่ยังคงความ Friendly หรือสามารถเข้าถึงได้ ส่วนคอลเลกชันสุดท้ายคือ Metroriental ที่นำความเป็นไทยของผ้าไหมมาออกแบบให้มีกลิ่นอายคนเมืองแบบเอเชีย

“ที่ดีใจล่าสุด ที่เราทำได้ ที่ทำให้ผ้าไหมก้าวหน้าไปอีกขั้นของแบรนด์เราก็คือ ได้น้องแอนโทเนีย โพซิ้ว ใส่เดินแบบร่วมกับนักเทนนิสสาวชาวรัสเซียชื่อดัง ซึ่งมาแข่งเทนนิสไทยแลนด์โอเพ่นเมื่อเร็ว ๆ ทำให้โลกได้เห็นความงดงามของผ้าไหมไทยธรรมชาติ” …ดร.จ๊ะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าไหมไทย Chayanna เล่าเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่ภูมิใจ

ก่อนจบการสนทนากัน ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้ถามถึง “เป้าหมายชีวิตต่อไป” ซึ่งทาง “ดร.จ๊ะ-ชญณา ศิริภิรมย์” ก็พาเราย้อนกลับไปที่บทสนทนาเริ่มต้นของเรากับเธอ ด้วยการพูดถึง “ปรัชญาอิคิไก” ว่า… น่าจะพอเป็นคำตอบของคำถามได้ เพราะแนวคิดเรื่องนี้ทำให้เธอรู้ถึงคุณค่าการใช้ชีวิตในแต่ละวัน… “ชีวิตวันนี้ถือว่าเราค้นพบความสุขแล้ว เพราะวันนี้ได้ทำครบหมดทั้ง 4 ข้อตามปรัชญาอิคิไกแล้ว คือเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ทำในสิ่งที่ถนัด ได้ทำในสิ่งที่มีรายได้เลี้ยงชีพเพียงพอ และสุดท้ายคือ เราได้ทำในสิ่งที่…มีประโยชน์กับโลกนี้แล้ว.

วิถีผ้า ‘ฟื้นชีวิตชีวาชุมชน’

อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ที่เป็นคนค้นลำหมี่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการทอผ้าไหม คือ “สุรัตน์ มาศยะ” คุณพ่อของ “เอ๋-สุวลักษณ์” โดยเขาได้บอกเล่าว่า… ครอบครัวทำอาชีพทอผ้าไหมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ โดยเป็นการทอผ้าไหมแบบธรรมชาติ ซึ่งในยุคหลัง ๆ ช่วงหลัง ๆ ที่กระแสนิยมผ้าไหมธรรมชาติลดลง คนที่จะทำก็ค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ เนื่องจากการทำผ้าไหมธรรมชาติแท้ ๆ มีกระบวนการ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน ต้องใช้เวลาทำนานมาก จึงทำให้แทบจะหาคนผลิตผ้าไหมธรรมชาติไม่ค่อยได้แล้ว ซึ่งก็ดีใจที่ได้เจอ “ดร.จ๊ะ-ชญณา” ที่สนใจอนุรักษ์สืบสานผ้าไหมธรรมชาติ

“ดีใจมากที่คุณจ๊ะมาช่วยพลิกฟื้นอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ ผมได้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในงานผ้าขึ้นมาใหม่ ส่วนอันไหนที่มีแล้วแต่ไม่ได้ใช้งานมานาน ผมก็ซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ ทำให้ทุกวันนี้บอกได้ว่าเรามีความสุขมาก ๆ เพราะลูกหลานได้มารวมตัวกันทอผ้าอีกครั้ง ตอนนี้ก็เริ่มมีออเดอร์เข้ามาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มกระจายรายได้ไปยังชาวบ้านที่มีความชำนาญในการทอ ทำให้จากเดิมที่ชุมชนเคยเงียบเหงา ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน