แต่ล่าสุดก็เกิดกรณี เด็กเกรียนอย่าง “ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” ป่วนขบวนเสด็จเด็จฯ สร้างความไม่พอใจแก่คนไทยจำนวนมากเพิ่มดีกรีความร้อนแรงทางการเมือง พรรคก้าวไกลถูกตั้งคำถามทันทีอยู่เบื้องหลังหรือไม่ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรในมุมนักวิชาการและจะทำให้การเดินหน้าแก้มาตรา 112 สะดุดหรือไม่ 

โดย“รศ.ดร.ยุทธพร” ได้เปิดประเด็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมานั้นมีความชัดเจนถึงขอบเขตว่าจะทำอะไร ได้แค่ไหน เพียงใด โดยศาลชี้ว่า การยกเลิกมาตรา 112 นั้น ไม่สามารถทำได้ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ยังสามารถทำได้ แต่ต้องเสนอด้วยวิธีการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโดยสรุป คือ สามารถเสนอแก้ไขได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แบบที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ ในเรื่องการย้ายหมวด บทบัญญัติต่างๆ เรื่องข้อเสนอในการลดโทษ หรือข้อเสนอในการจำกัดเฉพาะผู้ที่จะเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ ดังนั้นหากไม่เข้าประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงทำได้ และการดำเนินการจะต้องเสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องไปดูว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอาไว้ อย่างเช่น การรณรงค์ การไปปราศรัยตามที่ต่างๆ ต้องระมัดระวัง

@  การเดินสายจัดกิจกรรม ไม่สามารถพูดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ได้เลยใช่หรือไม่

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าห้ามพูด แต่ในวินิจฉัยได้พูดถึงพฤติการณ์ของ “พิธา” ของพรรคก้าวไกล และคนในพรรคก้าวไกล ว่า การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการติดสติ๊กเกอร์ในช่องคำถามว่าจะแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112  หรือการเดินสายหาเสียง การไปเป็นนายประกันผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 เป็นต้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า ถ้าเป็นบุคคลอื่นๆ จะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ศาลท่านพูดถึงเฉพาะกรณีที่มีในคำร้องที่เกิดขึ้นเท่านั้น

@  เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมา ดังนั้น พรรคก้าวไกล หรือบุคคลอื่นๆ ควรเดินหน้าเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ในช่วงนี้หรือไม่

พรรคก้าวไกลไม่ควรไปหยิบจับประเด็นนี้มาในระยะนี้ เพราะจะทำให้เป็นผลทางลบต่อพรรคก้าวไกลมากกว่า เพราะกระบวนการในการเสนอกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางไว้  ก็คงต้องไปทบทวน หรือไปพิจารณากันสักระยะว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 112 เป็นประเด็นที่อ่อนไหว และจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งกันได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบมาใช้เป็นพื้นที่ทางการเมืองแล้วทำให้เกิดปัญหาขึ้น

อย่าลืมว่า มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรอบสำคัญในเรื่องนี้ ดังนั้น การจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ กฎหมายใดๆ ก็ตาม ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ไม่เช่นนั้น เสนอไปแล้ว กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ กฎหมายนั้นก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ยิ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง จริงๆ สามารถดูได้ตั้งแต่ชั้นของการร่างได้เลย ไม่ต้องถึงขั้นออกมาเป็นกฎหมายเลยด้วยซ้ำ

@ กรณีป่วนขบวนเสด็จฯ ทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนคนไทยในส่วนที่รักสถาบันฯจึงเกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงขึ้นเป็นการสะท้อนว่า ยิ่งไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่

อาจจะทำให้คนส่วนหนึ่งคิดเช่นนี้ได้ เพราะเหตุการณ์นี้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามต่อพฤติกรรมแบบนี้เหมือนกันว่า ไม่เหมาะสม เป็นการกระทำที่เกินเลยเกินไป และทำให้คนในสังคมเห็นว่า มาตรา 112 ยังมีความสำคัญ จำเป็นอยู่  ทั้งนี้ในต่างประเทศที่มีระบบกษัตริย์นั้น จะมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ แตกต่างกันไปตามแต่ระบบทางการเมือง หรือบริบททางการเมืองของแต่ละประเทศ แต่ก็แทบไม่ค่อยเห็นว่า ต่างประเทศมีการใช้เรื่องนี้มาสร้างประเด็นทางการเมือง เพราะในต่างประเทศอาจจะไม่ได้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง หรือโทษทางการเมือง

@ สังคมมีความเห็นเป็น 2 ฝั่ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากแก้มาตรา 112 ตรงนี้จะสร้างความเข้าใจให้อยู่ร่วมกับสถาบันได้อย่างไร

ประเด็นต่างๆ ที่เป็นปมแห่งความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องนี้ หรือเรื่องอื่นก็แล้วแต่ คิดว่า การพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญ และการที่ทุกฝ่ายต้องเคารพในกติกา มีวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย วันนี้ไม่ใช่ว่าจะไปแสดงอะไรที่สุดโต่ง หรือสะท้อนถึงความไม่มีวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย เพราะว่าไม่ได้เป็นหนทางที่จะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเลย คือ การเคารพซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

@ ตอนนี้ประเทศเองก็อยู่ในบริบทของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ แต่เหมือนมีความพยายามปลุกกระแสทางการเมืองในช่วงนี้ด้วยประเด็นมาตรา 112 มองว่า เป็นเพราะอะไร

วันนี้ภาวการณ์แบ่งขั้วทางการเมืองในสังคมไม่ได้หายไปไหนยังคงอยู่ในสังคม เพียงแต่จะมีเหตุการณ์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไรที่ทำให้ ประเด็นความขัดแย้งโดดเด่น หรือถูกจุดขึ้นมาในสังคม ดังนั้นปัญหาใหญ่ต้องแก้ที่สาเหตุ คือการแบ่งขั้วทางการเมือง และความขัดแย้งนั้นจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน มีพื้นที่ในการเดินร่วมกันมากกว่า

การผลักดักกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองจากนี้ควรเป็นอย่างไร

เราอยู่บนความขัดแย้งมา 20 ปี แล้ว มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมมานาน แต่ไม่เคยสำเร็จ และที่ผ่านมามักออกในสมัยรัฐประหาร แต่วันนี้เราอยู่ในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ที่คลี่คลายมากขึ้น มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การพูดคุยเรื่องนี้ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยก็น่าจะเปิดกว้างมากขึ้น น่าจะมีความคิดเห็นจากคนทุกมุมทุกกลุ่ม ที่จะมาให้ความคิดกันอย่างหลากหลาย ส่วนจะ นิรโทษกรรม ประเด็นไหน คดี ประเภทใด ช่วงเวลาใดตรงนี้ก็ จะต้องมาตั้งหลักในเรื่องของหลักการนิรโทษกรรม ต้องเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ไม่ควรมีคำตอบอยู่ในใจก่อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม ต้องมาคุยหาข้อสรุป และทางออกร่วมกัน หากมีการตั้งธงไว้ในใจก่อนโอกาสที่จะสำเร็จได้ก็เป็นเรื่องที่ยาก.