“เริ่มจากความชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้จักงูบอลไพธอน แต่ก็ไม่ได้คิดจะซื้อมาเลี้ยง เพราะกลัว แต่ด้วยความที่ลูกอยากเลี้ยงจึงยอมให้ลูกซื้อ ซึ่งก็ไม่เคยคิดจะจริงจัง จนมีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลีในกลุ่มสัตว์เอ็กโซติกเพ็ท จึงค่อย ๆ หลงรัก ผูกพัน ห่วงใยสัตว์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” เป็นเส้นทางที่ทำให้คลุกคลีกับ “สัตว์แปลก-สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” ที่ทาง “สุทธิลักษณ์ นากผสม” บอกเล่าไว้ถึงจุดเริ่มต้นของเธอ ที่ต่อมาด้วยความหลงใหลและพยายามเป็นคนกลางช่วยดูแลเพื่อน ๆ ที่มีความชื่นชอบแบบเดียวกัน ทำให้เธอได้รับเลือกเป็น นายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Thailand Exotic Pet Keepers Association) ที่ช่วยเหลือดูแล ช่วยทำให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับเธอ…

“สุทธิลักษณ์” เล่าย้อนชีวิตของเธอว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นชาว จ.แพร่ แต่เธอเกิดที่กรุงเทพฯ และใช้ชีวิตเติบโตที่ จ.นนทบุรี โดยจบการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภาคค่ำ เพราะกลางวันเธอต้องทำงานประจำส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบก็แต่งงาน โดยเธอประกอบอาชีพจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ออกแบบ รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า ซึ่งหลังแต่งงานได้ 10 ปี มีลูกชาย 1 คน เธอได้เลิกรากับสามี ซึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งนี้ทำให้เธอกับลูกชายเกิดภาวะซึมเศร้า แต่ก็เป็นการชักนำให้เธอกับลูกชายได้มีโอกาสสัมผัสกับ “สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” หรือ “เอ็กโซติกเพ็ท” เป็นครั้งแรก

“ช่วงนั้นลูกชายป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หลังลูกหายป่วยเราได้พาลูกไปเดินเล่นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการจัดงานวันปลาสวยงามแห่งชาติ มีการนำสัตว์แปลก ๆ มาโชว์ด้วย ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ได้เห็นสัตว์แปลก ๆ อาทิ แมงมุม ยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจมาก และยิ่งมองก็ยิ่งรู้สึกว่าสัตว์เหล่านี้สวยจัง ส่วนลูกชายก็ชอบ และอยากเลี้ยง แต่เรายังไม่มั่นใจ และยังกลัวอันตราย เพราะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยง ซึ่งทางทีมสต๊าฟที่ดูแลบูธอยู่คงเห็นว่าเราสนใจ แต่ยังไม่กล้า เขาก็เลยเอาโบรชัวร์กลุ่มเลี้ยงแมงมุมและเลี้ยงงูให้เรากับลูกกลับไปอ่านเพื่อศึกษาดูก่อน”

เธอเล่าอีกว่า หลังจากนั้นปรากฏลูกชายมาขอให้พาไปเดินงานนี้อีก เธอจึงพาไปอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เดินจากบูธแมงมุมไปถึงบูธงูบอลไพธอน ซึ่งเธอเองก็เพิ่งเคยเห็นงูชนิดนี้เป็นครั้งแรก เมื่อได้เห็นก็รู้สึกชอบมาก และคิดว่างูอะไรทำไมสวยแบบนี้ ขณะที่ลูกชายก็รบเร้าขอเลี้ยง แต่ราคาตอนนั้น หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาสูงมากอยู่ที่ 20,000 บาท ก็คิดหนัก แต่ลูกอยากเลี้ยง ถึงขั้นร้องไห้รบเร้าให้ซื้อให้ ที่สุดก็เลยขอวางเงินมัดจำไว้ก่อนที่ 5,000 บาท แล้วอีกวันจึงนำส่วนที่เหลือไปจ่าย และรับงูกลับบ้านมาเลี้ยง

“วันที่ไปรับงู เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าไปในวงการเอ็กโซติกเพ็ท เพราะได้เจอกับประธานชมรม Siam Reptiles เขาก็ชวนเราให้ไปช่วยงานของชมรม ตอนนั้นเพิ่งเลี้ยงงูเป็นครั้งแรกก็เลยเข้าไปเป็นสมาชิก จะได้มีคนคอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำในการเลี้ยงงู แต่ก็ยังไม่ได้คิดจริงจัง” สุทธิลักษณ์กล่าว พร้อมเล่าต่อถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ได้เข้าร่วมทำงานกับสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โดยบอกว่า กิจกรรมแรกที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทในกลุ่มเอ็กโซติกเพ็ทนั้น มีอยู่วันหนึ่งพี่ที่เป็นประธานกลุ่มให้เธอไปประชุมงานมหกรรมสัตว์เลี้ยงแทน ซึ่งเธอมองว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก็ตัดสินใจไป โดยในการประชุมเธอนำเสนอความคิดในการจัดงานแบบตรงไปตรงมา ทั้งมุมคนเข้าชม มุมผู้จัดงาน จนกลายเป็นว่าโดนใจผู้ใหญ่ที่จัดงาน จึงทำให้ได้รู้จักผู้ใหญ่มากขึ้น และวันหนึ่งเธอก็มีโอกาสได้จัดงานสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเอง ทำให้ได้รู้จักกลุ่มเอ็กโซติกเพิ่มขึ้น จนรู้สึกประทับใจคนที่อยู่ในกลุ่มชอบสัตว์แปลก ที่ทำให้เธอคิดได้ว่างานตรงนี้ถือเป็นการช่วยเติมเต็มความฝันให้กับคนอื่น เป็นบ้านหลังที่ 2 ให้น้อง ๆ ที่มีปัญหา

ที่สุด สุทธิลักษณ์ ก็เข้าสู่วงการนี้เต็มตัว โดยเธอบอกว่า “ประโยชน์ที่ได้รับ” จากการเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ นี้ก็คือ ช่วยทำให้เธอกับลูกชายหายป่วยจากภาวะซึมเศร้า โดยก่อนหน้านั้นเธอกับลูกชายเป็นซึมเศร้า ซึ่งจิตแพทย์ได้แนะนำให้เธอและลูกออกไปพบคนใหม่ ๆ ดูบ้าง และเป็นจังหวะที่เธอและลูกเริ่มเข้ากลุ่มสัตว์แปลกพอดี โดยจากการที่ได้พบปะพูดคุยกับคนในกลุ่มก็ทำให้อาการเริ่มดีขึ้น จนตอนที่เธอเป็นแกนหลักจัดงานเอ็กโซติกเพ็ท ก็ทำให้เธอมองว่า มีสิ่งหนึ่งที่ในโรงเรียนไม่มีสอน คือการที่เด็ก ๆ จะได้ถือสัตว์เลี้ยงของตัวเอง 1 ตัวออกไปยืนต่อหน้าผู้ชม และบอกเล่าเรื่องราวสัตว์ที่ตัวเองชื่นชอบว่าเป็นสัตว์ชื่ออะไร มาจากประเทศไหน เลี้ยงอย่างไร ซึ่งทำให้เด็กเกิดประสบการณ์ในการพูดคุยกับคนอื่น ทำให้ได้พัฒนาบุคลิกภาพ โดยตัวอย่างเรื่องนี้ดูได้จากลูกชายเธอ ที่พอได้ดูแลสัตว์แปลกอาการซึมเศร้าและสมาธิสั้นก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นตัวแทนโรงเรียนนานาชาติต้อนรับแขกผู้ใหญ่ เพราะครูบอกว่ามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ซึ่งก็อยากมอบสิ่งดี ๆ แบบนี้ให้น้อง ๆ ที่เข้าร่วมสมาคมด้วย

กับการร่วมงานใน สมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ของตัวเธอเองนั้น ทาง สุทธิลักษณ์ เล่าย้อนว่า เริ่มช่วยงานด้านนี้จากเหตุการณ์ที่มี “ดราม่าสัตว์แปลก” หลังมีกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มหนึ่งเข้าไปที่ตลาดนัดสวนจตุจักร แล้วบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งค้าสัตว์เถื่อน พร้อมกับระบุว่า มีคนกลุ่มหนึ่งชอบนำสัตว์มาใช้เป็นเครื่องประดับ และชอบซื้อสัตว์ราคาแพง ๆ มาโพสต์อวดโชว์ความร่ำรวย โดยเรียกชื่อกลุ่มเอ็กโซติกเพ็ท ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบกับกลุ่มค้าขายสัตว์แปลก ทำให้ต้องเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยและชี้แจงทำความเข้าใจ จนทำให้ทางกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มนี้เกิดความเข้าใจ และยอมทำหนังสือขอโทษกลุ่มเอ็กโซติกเพ็ท

“เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่รู้กฎหมายที่ชัดเจน หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดความไม่ยุติธรรมต่อกลุ่ม เนื่องจากผู้คนยังรู้จักเราเป็นส่วนน้อย ยังมีความรังเกียจในสัตว์เลื้อยคลาน การแสดงความเห็นต่าง ๆ เชิงลบอาจเกิดผลกระทบตามมาอีกเรื่อย ๆ ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงคนเดียวตอนนั้น แต่พูดจาฉะฉาน จึงถูกยกหน้าที่ให้เป็นแนวหน้าเจรจา เพราะมองว่าผู้หญิงน่าจะเจรจาได้ง่ายกว่า ซึ่งถ้าวันนั้นการเจรจาไม่เกิดขึ้น ก็คงยิ่งทำให้สังคมเข้าใจผิดไปกันใหญ่ และอาจทำให้กลุ่มคนที่เลี้ยงเอ็กโซติกเพ็ทถูกสังคมตีตราว่าเป็นพวกค้าสัตว์เถื่อน เพราะตอนนั้นคนยังไม่ค่อยเข้าใจสัตว์ที่ทางกลุ่มเลี้ยง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่ผิดกฎหมาย” สุทธิลักษณ์ระบุ และเล่าอีกว่า หลังจากเรื่องนี้จบไป ทางเพื่อน ๆ ผู้เลี้ยงเอ็กโซติกเพ็ทก็มีการชวนกันตั้งชมรมขึ้น โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ชมรมภาคีเครือข่ายเอ็กโซติกเพ็ท” ที่เป็นการรวม 5 กลุ่มสัตว์แปลก เข้ามาอยู่ด้วยกัน ได้แก่ 1.กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 2.กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 3.กลุ่มสัตว์ปีก 4.กลุ่มสัตว์น้ำ และ 5.กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีการขอร้องให้เธอเป็นประธานกลุ่ม เธอก็รับหน้าที่โดยไม่เต็มใจนัก เพราะคิดว่ามีคนอื่นที่เหมาะสมมากกว่า หลังจากนั้นก็มีการจัดงานสัตว์เลี้ยงขึ้นเรื่อย ๆ ที่ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้สังคมเริ่มรู้จักทางกลุ่มมากขึ้น

สุทธิลักษณ์ กับลูกชาย

ผ่านไปอีกราว 3 ปี ก็เกิด ดราม่าแมงมุมกัดคนตาย ที่แพร่ เธอก็มีโอกาสเข้าประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องราวนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางกลุ่ม เพราะไม่ได้มีการนำเข้าแมงมุมชนิดนั้น ก็ทำให้สังคมเข้าใจกลุ่มมากขึ้น จึงมีผู้ใหญ่แนะนำให้จัดตั้งสมาคมฯ ให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง คอยเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเพื่อน ๆ สมาชิกก็มองว่าควรจัดตั้งเป็นสมาคม จึงตั้ง “สมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” หรือ “Thailand Exotic Pet keepers Association” ที่ใช้ชื่อย่อว่า “TEPA” เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยเป็นองค์กรอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ที่รัก-ชื่นชอบ กับผู้ที่เพาะพันธุ์-เพาะลี้ยง “เอ็กโซติกเพ็ท” โดยหลังจากนายกสมาคมคนเก่าหมดวาระ เธอก็ได้รับเลือกให้เข้ารับหน้าที่ทำงานต่อ โดยเธอได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกสมาคมนี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว

เธอบอกว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ช่วยขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่คุ้มครองผู้เพาะพันธุ์เอ็กโซติกเพ็ท โดยร่างกฎหมายฉบับปี 2562 มีหลายข้อที่กระทบโดยตรงกับผู้เลี้ยง-ผู้ประกอบการ ที่มีมากว่า 20 ปี สัตว์ในบ้านเรามี พ.ร.บ.คุ้มครอง สัตว์ต่างประเทศมีอนุสัญญาไซเตสคุ้มครอง โดยก่อนหน้าจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีการนำเข้า-ส่งออก-ผ่านแดน การเลี้ยง เพาะ ค้า ในประเทศเสรี จะมีบางชนิดเท่านั้นที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเลี้ยงได้ ซึ่งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของไซเตสโลก โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ ไทยต้องมีกฎหมายรองรับ ดูแลสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงต้องนำสัตว์ในบัญชีไซเตสเข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ. เช่นนี้ไทยจึงจะเลี้ยง เพาะ ค้า ได้อย่างสง่างามในสายตาชาวโลก ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นแหล่งลักลอบค้าสัตว์

แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรกออกมา มีระเบียบให้การครอบครองสัตว์ในบัญชีไซเตสต้องขออนุญาต ต้องมีใบนำเข้าทุกตัว ถ้าไม่มีใบนำเข้า ให้แจ้งครอบครองได้ แต่ไม่ให้เพาะ-ค้า เป็นได้แค่สัตว์เลี้ยงอย่างเดียว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนมากไม่มีใบนำเข้า เนื่องจากก่อนมีกฎหมายการครอบครองเสรี จึงไม่มีใครเรียกหาใบนำเข้า ซึ่งกว่า 90% ของผู้ประกอบการทำฟาร์มมากว่า 20 ปี สัตว์ในฟาร์มกลายเป็นสัตว์เลี้ยง ค้าไม่ได้ บางฟาร์มถึงขั้นปิดตัวลง ยิ่งหากบังคับใช้จะทำให้กระทบและสร้างความเสียหายมากมายให้วงการนี้แน่ ๆ ทางเธอและสมาชิกสมาคมฯ จึงรวมตัวกลุ่มผู้ประกอบการตบเท้าเข้าไปหาหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ จนเกิดกฎหมายฉบับใหม่ที่กลุ่มเอ็กโซติกเพ็ทใช้ได้จริง และประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของไซเตสโลก

กับภารกิจนายกฯ TEPA

“กว่าที่จะเดินทางมาถึงตอนนี้จนแข็งแรงได้ พวกเราทุกคนต้องต่อสู้มากว่า 10 ปี กว่าที่คนจะยอมรับ ซึ่งเรื่องที่ภูมิใจมากคือทำให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบที่มีต่อเอ็กโซติกเพ็ท ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจ กับผลักดันจนทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเก่าให้มีความชัดเจนมากขึ้น จนทำให้วันนี้กลุ่มคนที่รักและชื่นชอบเอ็กโซติกเพ็ทมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราจะมาถึงวันนี้ไม่ได้เลยถ้าขาดสมาชิกที่เป็นจิตอาสา น้อง ๆ TEPA พี่ ๆ กลุ่มเก่าที่ปูทางไว้ กลุ่มผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ ที่รักและไว้ใจสมาคมฯ จับมือเดินมาด้วยกันมาโดยตลอด” นายกสมาคม TEPA กล่าว

สุทธิลักษณ์ พูดถึง “เป้าหมายที่ตั้งใจ” อยากผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตว่า อยากมีส่วนร่วมทำให้ให้สัตว์ทุก ๆ ประเภทมีชมรม หรือมีกลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยกันสอดส่องดูแลให้เกิดแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ยังช่วยให้เกิดการให้คำแนะนำ ความรู้ความเข้าใจ กับคนเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ อีกด้วย แต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นภารกิจหลักที่ต้องทำให้ดีก็คือหน้าที่ในฐานะนายกสมาคม TEPA และต่อไปแม้จะหมดวาระจากตำแหน่งนี้แล้ว แต่กับวงการ “สัตว์แปลก-เอ็กโซติกเพ็ท” นี้ เธอเน้นย้ำว่า…“ไม่ทิ้งแน่นอน เพราะรักและผูกพัน”.

ทีมสำรวจ-จับอีกัวน่าที่ถูกปล่อยทิ้ง

โซ่ข้อกลาง ‘เอ็กโซติกเพ็ท’

ภารกิจสมาคม “TEPA” นั้น “สุทธิลักษณ์ นากผสม” ยังบอกว่า นอกจาก ดูแลสมาชิกและผู้ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์แปลก ก็ยังมีการ ส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอ็กโซติกเพ็ทอย่างถูกต้อง ทั้งถิ่นกำเนิด อุปนิสัย รวมถึงให้คำแนะนำการเลี้ยง ครอบครอง เพาะพันธุ์ อย่างถูกกฎหมาย และอีกภารกิจที่ทำด้วยก็คือ ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างวงการเอ็กโซติกเพ็ทกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน… “ตอนนี้ก็พยายามเพิ่มบทบาทของเราให้มากขึ้น… ตลอดจนคอยสอดส่องไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น รวมไปถึงเป็นตัวแทนเปิดพื้นกลางสำหรับรับดูแลเอ็กโซติกเพ็ทต่อจากคนที่อยากเลิกเลี้ยง เพื่อลดกรณีปัญหาจากการนำเอ็กโซติกไปปล่อยตามแหล่งสาธารณะ เหล่านี้เป็นหน้าที่หลักของสมาคมฯ ที่จะแก้ไข ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจต่อคนในสังคม”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน