วันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.นี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีชื่อเป็น 1 ในจำนวน 930 คน ที่จะได้รับ “พักโทษ” เนื่องจากถูกจัดอยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ และอายุเกิน 70 ปี

เป็นการ “พักโทษ” ตามกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา 52 ที่พิจารณาจากบุคคลที่รับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 หากอันไหนมากกว่ากันก็ใช้อันนั้นเป็นเกณฑ์ โดยต้องมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี

พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงขั้นตอนการปล่อยตัวนายทักษิณที่ถูกควบคุมอยู่บนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ว่าการปล่อยตัวผู้ที่ถูกส่งมารักษาจะขึ้นอยู่กับทางกรมราชทัณฑ์ หากราชทัณฑ์แจ้งว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วยว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว

โดยขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณนั้น ญาติไม่สามารถมารับตัวได้ แม้จะมีคำสั่ง “พักโทษ” ก็ตาม แต่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับไปเท่านั้น รับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติหรือมีขั้นตอนอย่างไร เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

ส่วนระยะเวลาการขอรับตัวที่ผ่านมา ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวมารักษา จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ทางกรมราชทัณฑ์จะประสานกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งกับทางโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงเที่ยงคืน 1 นาทีของวันที่มีการพักโทษ ก็สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้ หากราชทัณฑ์มีความประสงค์จะเอาตัวออกจากโรงพยาบาลตำรวจ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มี.. 66 (ก่อนการเลือกตั้ง) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตอบโต้นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่ามีการแก้กฎกระทรวงเพื่อรองรับนายทักษิณไม่ต้องติดคุกในเรือนจำ แต่อาจใช้สถานคุมขังอื่นตามกฎกระทรวง เช่น บ้านพัก หรือโรงพยาบาล เป็นสถานที่คุมขัง ว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

เนื่องจากข้อเท็จจริง คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 60 เริ่มร่างเมื่อปี 58 เพื่อปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ด้วยการยกเลิก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ซึ่งใช้มา 80 ปี โดยขณะนั้นนายสมศักดิ์ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งรมว.ยุติธรรม แต่นายสมศักดิ์เข้ามาปี 62

ส่วนการออกกฎกระทรวงใหม่เป็นขั้นตอนสืบเนื่องจากการออก พ.ร.บ.เมื่อประกาศใช้ปี 60 ส่วนราชการเจ้าของกฎหมายต้องยกร่างกฎกระทรวงใหม่ โดยเริ่มยกร่างมาตั้งแต่ พ.ร.บ.ยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี จากกรมราชทัณฑ์ไปกระทรวง ส่งเข้าครม. ส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่าง แล้วถึงส่งคืนมาให้รมว.ยุติธรรมลงนามในปี 63 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีวี่แววว่านายทักษิณจะกลับเข้ามาในประเทศไทย

ส่วนที่มีการกำหนดสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำนั้น เจตนาของกฎหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ต้องขังบางประเภทที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ อันเป็นเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม และทางด้านการปกครองเรือนจำเป็นสำคัญ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ใกล้จะพ้นโทษ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระกรมราชทัณฑ์ด้วย แต่ไม่ใช่นักโทษเข้าใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่ปี 60 ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เอาเป็นว่าวันที่ 18 ..นี้ นายทักษิณอดีตนายกฯ ที่ถูกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 ..49 จะได้รับการ “พักโทษ” ตามระเบียบทางราชการ

ไม่ใช่การ “นิรโทษกรรม” ให้ตัวเองและพวกพ้องเหมือนคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหารในปี 49 และปี 57 เพื่อตัดตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อตัดตอน “คดีกบฏ” ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ระหว่างคนที่กำลังจะได้รับการ “พักโทษ” กับกลุ่มคนทำรัฐประหารที่ “นิรโทษกรรม” ให้ตัวเองไปแล้ว! และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ “ต้องโทษ” จากผลงานปิดสนามบิน-ปิดล้อมขัดขวางการเลือกตั้ง! ใคร? -ทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองเสียหาย และอับอายขายขี้หน้าชาวโลกมากกว่ากัน ไปคิดกันเอาเอง!!.

……………………………
พยัคฆ์น้อย.