ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของไบเดน เพื่อเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ ทว่าพรรครีพับลิกัน กลับวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสหรัฐ ซึ่งใช้แอปพลิเคชันที่ถูกแบนบนอุปกรณ์ของหน่วยงานกลาง เนื่องจากกลัวว่ามันจะรวบรวมข้อมูลให้รัฐบาลปักกิ่ง แม้แต่ทำเนียบขาวเองก็ยอมรับว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับติ๊กต็อกอยู่

“มันยังคงมีความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ เกี่ยวกับการใช้ติ๊กต็อกบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล และมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนั้นแต่อย่างใด” นายจอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังถูกถามซ้ำหลายครั้ง เกี่ยวกับประเด็นข้างต้น

แม้กฎระเบียบการเลือกตั้งของสหรัฐ ห้ามมิให้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับประเด็นการหาเสียง แต่ทำเนียบขาวตระหนักถึงความกลัวว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ติ๊กต็อก อาจเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนได้

อนึ่ง ติ๊กต็อก ของบริษัท ไบต์แดนซ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ถูกนักการเมืองสหรัฐหลายคน กล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลปักกิ่งใช้ แม้บริษัทปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทีมหาเสียงเลือกตั้งของไบเดน ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่า การมีส่วนร่วมกับติ๊กต็อกนั้นมีความคุ้มค่า ในการชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อย ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ กับคู่แข่งอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังหวังพึ่งโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว เพื่อบรรเทาความกังวลของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เกี่ยวกับอายุของไบเดน หลังอัยการพิเศษกล่าวว่า ผู้นำสหรัฐเป็น “ชายสูงอายุที่มีเจตนาดี แต่มีความจำไม่ดี”

ในบัญชีรณรงค์หาเสียง “@bidenhq” ของไบเดน โพสต์ต่าง ๆ กล่าวถึงประเด็นที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปจนถึงเกมการแข่งขันชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลอาชีพประจำปีของเนชันแนลฟุตบอลลีก (เอ็นเอฟแอล) หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์โบวล์”

“การเปิดตัวบนติ๊กต็อกของประธานาธิบดี ซึ่งมียอดการดูมากกว่า 5 ล้านครั้ง และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่น และความสำเร็จของพวกเรา ในการค้นหาวิธีใหม่ เพื่อเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” นายร็อบ ฟลาเฮอร์ตี รองผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของไบเดน กล่าวในแถลงการณ์

การสำรวจสื่อใหม่นี้ ช่วยอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมไบเดนจึงจัดงานแถลงข่าวน้อยกว่าบรรดาผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลจากโครงการประธานาธิบดีอเมริกัน ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา เผยให้เห็นว่า ไบเดนจัดงานแถลงข่าว 33 ครั้ง ในช่วงสามปีแรกของการดำรงตำแหน่ง เมื่อเทียบกับนายบารัค โอบามา และทรัมป์ ซึ่งอยู่ที่ 66 ครั้ง และ 52 ครั้ง ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES