“ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอ ทีมมัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์) อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ที่ได้มีโอกาสโชว์ความสามารถต้อนรับและแนะนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารและขนมไทย จากชุมชนคุณธรรมต่างๆ ในลพบุรีให้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ที่มาเยี่ยมชมกิจกรรมลานวัฒนธรรมที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรีร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมจัดขึ้นในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567

โดยทีมมัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์) ประกอบด้วย “น้องวีด้า” ด.ญ.นภัสสร ประไพ ชั้นป.3 “น้องนัฐ” ด.ช.ภัทรพงศ์ ยอดศักย์ชนรัญ ชั้นป.5 “น้องญาดา” ด.ญ.วิชญาดา เคารพ ชั้นป.5 “น้องเตย” ด.ญ.กัณฐภรณ์ ทันวงษ์ ชั้นม. 2 และ “น้องปูนหอม” ด.ญ.ปวันรัตน์ นางงาม ชั้นม. 3

“น้องญาดา” บอกว่า พวกเราได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากคุณครูณัฐกานต์ สังข์กรมและคุณครูประภาศรี รักษาพล รวมทั้งดร.พรรณวดี ปามุทา ผอ.โรงเรียน ก็มาให้กำลังใจ รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารและขนมไทยของลพบุรีให้แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งจ.ลพบุรีมีผลิตภัณฑ์ชุมชนและขนมไทยที่มาจากมรดกภูมิปัญญาไทยมากมาย เช่น ดินสอพอง ซึ่งที่หมู่บ้านหินสองก้อนผลิตดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน เพราะพื้นที่บริเวณนั้นมีดินสีขาวเป็นจำนวนมาก และดินสีขาวไม่สามารถนำมาปลูกพืชได้ ด้วยภูมิปัญญาไทยจึงนำดินสีขาวมาทำเป็นดินสอพองซึ่งสามารถนำแปรรูปหรือผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ เช่น แป้ง เครื่องสำอาง ยาสีฟันและสีทาบ้าน และทำไข่เค็มดินสอพองที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของลพบุรี มีรสชาติอร่อยกว่าไข่เค็มที่แช่น้ำเกลือทั่วไปเพราะเป็นไข่เค็มที่มีความมัน หรือขนมบัวลอยดอกพิกุลที่ใช้เผือกมาแกะสลักเป็นรูปดอกพิกุล เพื่อสื่อความหมายว่า “ดอกพิกุล” เป็นดอกไม้ประจำจ.ลพบุรี

ด้าน “น้องนัฐ” เล่าว่า ได้มีโอกาสแนะนำ “ขนมหัวเราะ” ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นขนมไทยเชื้อสายจีนที่ครั้งหนึ่งเคยนิยมกินคู่กับกาแฟโกปี๊ในตอนเช้าและเป็นขนมที่ทำให้คนที่กินต้องลุ้นว่าหน้าขนมจะแตกและเรียกเสียงหัวเราะหรือไม่

ส่วน “น้องวีด้า” ที่รับหน้าที่เล่าความเป็นมาของ “ข้าวแช่” บอกว่า ภูมิใจที่ได้เล่าความเป็นมาของข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหารชาวมอญ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นเมืองเพชรบุรี มีการนำข้าวแช่ถวายแด่พระองค์ ทำให้ชาววังรู้จักข้าวแช่มานับตั้งแต่นั้นมา และมีเครื่องเคียงในการกิน เช่น ไชโป๊หวานผัด ลูกกะปิทอด เป็นต้น

ขณะที่ “น้องญาดา” บอกว่า ในฐานะตัวแทนทีมมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์) ดีใจที่ได้มาแนะนำผลิตภัณฑ์ชุมชนและขนมไทยที่มาจากมรดกภูมิปัญญาไทยในลพบุรีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ที่โรงเรียนสอนทำขนมไทยด้วย เพื่อให้นักเรียนฝึกสมาธิ มีความอดทนและใจเย็น และร่วมสืบสาน อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาไทย

นับได้ว่า โรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์) เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และร่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาไทยโดยเฉพาะขนมไทยได้เป็นอย่างดี