ดร. แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

สองปีต่อมา ทำไมประเด็นยูเครนจึงยังคงสำคัญ รวมถึงสำหรับประเทศไทย

ลองนึกภาพตามนี้ ทุกวันมีขีปนาวุธโจมตีใส่เมืองที่ท่านอาศัยอยู่ หลายลูกถล่มอาคารที่พักอาศัย มีการแจ้งเตือนภัยทางอากาศเกือบทุกคืน ทำให้ต้องเข้าไปหลบภัยในสถานีรถไฟใต้ดิน เด็ก ๆ ต้องเรียนหนังสืออยู่ใต้ดินเพื่อความปลอดภัย สงครามสนามเพลาะนองเลือด ผู้สังเวยชีวิตหลายคนเป็นชายหนุ่มที่ท่านเคยรู้จัก

ท่านคิดว่า ภาพเหล่านี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ใช่หรือไม่ แต่สิ่งนี้คือความจริงอันเลวร้าย ที่ชาวยูเครนต้องประสบพบเจอทุกวัน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของตนอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อสองปีก่อนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน รัสเซียได้ปฏิเสธเรื่องการวางแผนรุกรานยูเครนและได้กล่าวหาผู้ที่ออกมาเตือนว่ามีพฤติการณ์ “เกลียดกลัวรัสเซีย” (Russophobia) ผู้นำรัสเซียคาดว่าจะสามารถพิชิตกรุงเคียฟได้ภายในสามวัน ดังนั้น พลรถถังรัสเซียจึงนำเครื่องแบบสวนสนามติดตัวไปด้วย ในขณะบุกข้ามพรมแดน

หอไอเฟลประดับไฟเป็นสีธงชาติยูเครน 25 ก.พ. 2565 ภาพ: MEAE / Jonathan SARAGO

นี่ไม่ใช่การโจมตียูเครนครั้งแรกของรัสเซีย ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2557 รัสเซียได้จัดตั้งกลุ่มติดอาวุธเข้ายึดไครเมียและภาคตะวันออกของยูเครนภายใต้การปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ในขณะที่ทั่วโลกต่างมองเหตุการณ์อย่างไม่เชื่อสายตา เมื่อกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวเผชิญแรงกดดันทางทหาร รัสเซียจึงนำกองกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ พร้อมกับอ้างว่า กลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นเป็นทหารที่ “อยู่ในช่วงลาหยุด” และ “ได้หา” อาวุธหนักมาเอง

หลังจากสองปีของการสู้รบ รัสเซียได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องประสบกับความถดถอยมากมาย ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล การทหาร เศรษฐกิจ และการทูต แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในยูเครนได้ตามที่คาดหวังไว้ และไม่สามารถปล่อยให้รัสเซียชนะได้ด้วย การนองเลือดที่ไร้ประโยชน์นี้จะต้องยุติเสียที แต่จะทำอย่างไร

ดร.ฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน

หลังปี 2557 ได้มีการพยายามเจรจาภายใต้ความริเริ่มของเยอรมนีและฝรั่งเศส จนนำมาสู่ “ข้อตกลงกรุงมินสก์” (Minsk agreements) และข้อตกลงหยุดยิงตลอด “แนวเส้นปะทะกัน” (line of contact) ที่สั่นคลอน อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าการได้มาซึ่งดินแดนยังไม่เพียงพอต่อรัสเซีย ดังนั้น รัสเซียจึงเปิดฉากโจมตีอีกครั้งในปี 2565 ซึ่งครั้งนี้เป็นไปอย่างเปิดเผยและเต็มรูปแบบ

ไม่มีอะไรที่สามารถมารองรับความชอบธรรมของการกระทำดังกล่าวได้ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ในมาตรา 2 (4) ที่ห้ามมิให้รัฐคุกคามหรือใช้กำลังต่อกันและกัน มีเพียงข้อยกเว้นเดียว คือ กรณีการป้องกันตนเอง หรือ การให้ความช่วยเหลือ ในการป้องกันตนเองของอีกรัฐหนึ่งจากการถูกรุกราน ดังนั้น จึงไม่มีบทบัญญัติใดที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายสำหรับการรุกรานของรัสเซีย ไม่ว่ารัสเซียจะแต่งทฤษฎีที่สวนทางข้อเท็จจริงและไม่น่าเชื่อถือขึ้นมา เพื่อสร้างความสับสนทางความคิดก็ตาม อีกทั้ง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็มีท่าทีค่อนข้างชัดเจน ด้วยการอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ว่ายูเครนไม่มีสิทธิที่จะมีอยู่ในฐานะรัฐเอกราช ทั้งที่ นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีรัสเซียคนก่อน ได้เคยให้การรับรองยูเครนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งยังรับรองพรมแดนของยูเครนด้วย

แล้วสิ่งนี้สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย

ทั้งยุโรปและไทย เราต่างอยู่ในศตวรรษที่ 21 ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ เราล้วนได้รับประโยชน์จากการค้าโลกและอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ใช้บังคับกับทุกที่และทุกรัฐ การรุกรานของรัสเซียนอกจากจะก่อให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมและการเสียชีวิตของผู้คนมากมายในยูเครนแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อโลกอีกด้วย ดังเช่น การที่รัสเซียปิดล้อมและทำลายท่าเรือของยูเครน ได้ขัดขวางการส่งออกธัญพืชจากยูเครน นำไปสู่การขาดแคลนอาหารทั่วโลก ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อประเทศกำลังพัฒนา ตามที่สหประชาชาติได้เน้นย้ำในคำเตือน นอกจากนี้ ยังทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของฝรั่งเศสที่ส่งไปยังยูเครนเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ภาพ: MEAE / Jonathan SARAGO

ทุกคนต่างก็จะได้รับผลกระทบหาก ในโลกมีประเทศมหาอำนาจที่มีกำลังทางทหารขนาดใหญ่ที่สามารถรุกราน และพยายามทำลายล้างประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าได้ตามอำเภอใจ เราต้องการโลกที่ปกครองด้วยกฎเกณฑ์สากลของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ใช้บังคับกับทุกรัฐ และคุ้มครองเราจากผู้ที่อาจรุกราน

เราต้องปกป้องตนเองจากผู้ที่อาจรุกราน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในยุโรป หรือในเอเชีย หรือในที่อื่น ๆ ดังนั้น การต่อต้านการรุกรานไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดและการสนับสนุนฝ่ายที่ถูกโจมตี จึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์โดยตรงของเราเอง ประเทศเป็นกลางหลายประเทศทั่วโลกได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย กับการรุกรานของรัสเซียอย่างชัดเจน แต่ละประเทศย่อมมีสิทธิที่จะมีความเป็นกลางทางทหารได้ แต่ก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนเมื่อต้องเผชิญกับการละเมิดสันติภาพระหว่างประเทศ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างโชคดีที่ได้อยู่ในโลกที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ดีนี้ทำให้ความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น การสนับสนุนและปกป้องระเบียบสันติภาพ ที่คุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่าจากมหาอำนาจจึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเราเอง

ดังนั้น การสนับสนุนและปกป้องระเบียบโลกบนพื้นฐานของกฎหมาย และการประณามการโจมตีที่ไม่เคารพระเบียบดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทุกชาติ รวมถึงประเทศไทย การรุกรานยูเครนของรัสเซียถือเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งจะกำหนดรูปแบบโลกที่เราจะอยู่ในอนาคต.

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป