เกาหลีใต้และคิวบาแลกเปลี่ยนเอกสารอย่างเป็นทางการ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ทั้งนี้ คิวบาและเกาหลีใต้จัดการเจรจากันครั้งแรก เมื่อปี 2492 เพื่อปูทางสู่การสถาปนาความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมีอันต้องหยุดชะงัก เมื่อนายฟิเดล คาสโตร ขึ้นสู่อำนาจหลังการปฏิวัติคิวบา ในอีก 1 ทศวรรษต่อมา หรือเมื่อปี 2502 และต่อจากนั้น คิวบาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้และคิวบายังคงมีความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนระดับทวิภาคีกันในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเกาหลีใต้เปิดสำนักงานการค้า ในกรุงฮานาวา เมื่อปี 2548 และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกาหลีใต้และคิวบา สามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการได้ในที่สุด

การที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา มิตรประเทศเพียงไม่กี่แห่งซึ่งเกาหลีเหนือ “ถือเป็นสหายเคียงบ่าเคียงไหล่” คือชัยชนะทางการเมืองและการทูตครั้งล่าสุดของรัฐบาลโซล ในการแข่งขันกับเกาหลีเหนือบนเวทีโลก นอกจากนั้น ยังจะเป็นการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้ ในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรหลายอย่างของคิวบา

ด้านคิวบาจะได้รับการลงทุนจากเกาหลีใต้ และการแลกเปลี่ยนทางการค้า ตลอดจนอีกหลายมิติ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีการสถาปนาความร่วมมือ น่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของคิวบาที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก ด้วยผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ยังคงอยู่ และการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว ซึ่งยังคงทำให้เศรษฐกิจของคิวบาฟื้นตัวลำบาก

นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ให้การต้อนรับประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-กาเนล ผู้นำคิวบา ที่กรุงเปียงยาง 5 พ.ย. 2561

จนถึงปัจจุบัน เกาหลีเหนือยังไม่เคยแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการที่เกาหลีใต้และคิวบาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นส่งผลต่อรัฐบาลเปียงยางในเชิงจิตวิทยาอยู่พอสมควร

หนังสือพิมพ์ โรดอง กระบอกเสียงของพรรคคนงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลตลอดกาลของเกาหลีเหนือ ไม่นำเสนอข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับคิวบา โดยข่าวสุดท้ายที่เกี่ยวข้องและมีการนำเสนอ คือการที่นายบรูโน โรดริเกซ รมว.การต่างประเทศคิวบา กล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ประณามการที่กองทัพอิสราเอลยังคงปฏิบัติการทางทหาร ต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

ขณะที่สำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ไม่เอ่ยถึงคิวบา ในรายงานการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 82 ปี นายคิม จอง-อิล อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับ ซึ่งผู้แทนการทูตจาก 26 ประเทศ และตัวแทนจากหน่วยงานอีกหลายแห่งในสังกัดสหประชาชาชาติ ( ยูเอ็น ) เข้าร่วมงาน ระหว่างวันที่ 23-24 ก.พ. ที่ผ่านมา

เมื่อมองจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาตลอด ด้วยรูปแบบการปกครอง และสภาพสังคมที่คล้ายคลึงกัน เกาหลีเหนือไม่อยู่ในสถานะที่จะใช้มาตรการอะไรกับคิวบามากนัก แต่มีความเป็นไปได้สูงมาก ว่ารัฐบาลเปียงยางน่าจะไม่พอใจและมีความหวาดหวั่นปนอยู่ด้วยมาก

นายโจ แท-ยุล รมว.การต่างประเทศเกาหลีใต้ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐ 23 ก.พ. 2567

แม้ความสัมพันธ์กับคิวบายังคงดำเนินต่อไปในระดับปกติ แต่การก้าวเข้ามาอย่างเต็มตัวของเกาหลีใต้ อาจทำให้เกาหลีเหนือเหมือนอยู่ในสถานะ “เสียเหลี่ยม” และยิ่งเน้นย้ำ ปัญหาด้านนโยบายภายในของรัฐบาลเปียงยาง โดยเฉพาะภารกิจทางการทูต

นับตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย. 2566 จนถึงปัจจุบัน เกาหลีเหนือทยอยปิดสถานเอกอัครราชทูตในยูกันดา กินี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ( ดีอาร์คองโก ) แองโกลา ลิเบีย เนปาล เซเนกัล บังกลาเทศ และสเปน นอกจากนี้ ยังมีการปิดสถานกงสุลใหญ่ในฮ่องกง และมีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงลิมา ในเปรู อาจยุติดำเนินงานเป็นแห่งต่อไป

รัฐบาลเปียงยางให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงว่า “เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ ผ่านการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ภายนอก” เพื่อให้นโยบายการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันมากขึ้น การดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ “จะมีทั้งที่ปิดตัวและเปิดใหม่” และทิ้งท้ายว่า “ไม่ใช่ครั้งแรก”

สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ กรุงโรม ประเทศอิตาลี

เกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 159 ประเทศ แต่มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่อยู่ในยังไม่ถึง 50 ประเทศ โดยประเทศซึ่งมีสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือเปิดดำเนินงานอยู่ ณ เวลานี้ รวมถึง อียิปต์ บราซิล เม็กซิโก อิตาลี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และไทย

การอยู่ในภาวะที่ทรัพยากรทุกด้านมีอยู่อย่างจำกัด และผลกระทบสืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ที่มีวัตถุประสงค์กดดันให้รัฐบาลเปียงยางยุติโครงการนิวเคลียร์ ทำให้เกาหลีเหนืออยู่ในสถานะโดดเดี่ยวและย่ำแย่ในแทบทุกด้านมากพออยู่แล้ว ทว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และภัยธรรมชาติซึ่งเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้สถานการณ์ของเกาหลีเหนือยิ่งเลวร้าย

อาคารกระทรวงการต่างประเทศ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ระบุว่า สถิติผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ รวมถึง กลุ่มนักการทูตและครอบครัว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษล่าสุด ตอกย้ำภาวะวิกฤติของประเทศแห่งนี้ ที่ทำให้แม้แต่กลุ่มชนชั้นนำยังต้องหลบหนี

แม้เกาหลีเหนือยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้าวในทางการทูต แต่การที่คิวบาซึ่งเป็นพันธมิตรเพียงไม่กี่แห่งของตัวเอง สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบกับเกาหลีใต้ ประเทศที่เกาหลีเหนือประกาศว่า “เป็นปรปักษ์หมายเลขหนึ่ง” และการปิดสำนักงานการทูตซึ่งน่าจะเกิดขึ้นอีก น่าจะทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลเปียงยางต้องขบคิดอย่างจริงจังให้มากกว่านี้ ว่าความโดดเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นอยู่หรือไม่.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP