สถานการณ์ความเป็นไปภายในเฮติ ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งมีประชากรราว 11 ล้านคน สำหรับผู้ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งอาจรับรู้ในระดับค่อนข้างจำกัด ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ซึ่งห่างไกลกันมาก สภาพเศรษฐกิจ และบริบททางสังคม แต่สำหรับสหรัฐ ประเทศแห่งนี้ “อยู่ในสายตามาตลอด”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเฮติสังเกตการณ์ การประท้วงในกรุงปอร์โตแปรงซ์

เฮติสูญเสียเสถียรภาพแทบทุกด้าน โดยเฉพาะการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ จากการเผชิญกับวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่ผ่านพ้นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อปี 2553 เส้นทางของการฟื้นฟูยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน ทว่าสถานการณ์ทุกด้านในประเทศซึ่งถดถอยมากพออยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก นับตั้งแต่เหตุการณ์ลอบสังหาร ประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส เมื่อปี 2564

หลังจากนั้น นายอาเรียล อ็องรี นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งผู้นำเฮติโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อ็องรียืนกรานปฏิเสธจัดการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า การฟื้นฟูความมั่นคงภายในประเทศ คือวาระเร่งด่วน และเป็นเรื่องซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จเป็นลำดับแรก

นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น นายอาเรียล อ็องรี นายกรัฐมนตรีเฮติ และนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ แถลงร่วมกันที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐ 22 ก.ย. 2566

กระนั้น การที่เฮติไม่เคยมีการเลือกตั้งในทุกระดับ นับตั้งแต่ปี 2559 และแนวโน้มของการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปยิ่งเลือนลาง เมื่ออ็องรีเข้ามาบริหารประเทศ หมู่ประชาชนมีคำถามมากขึ้น เกี่ยวกับ “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลรักษาการ

ท่ามกลางภาวะอดอยากแร้นแค้น ที่กัดกร่อนคุณภาพชีวิตของชาวเฮติมานานหลายทศวรรษ ประชาชนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าสถานการณ์ภายในประเทศเลวร้ายจนไม่น่าจะตกต่ำไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว แต่รัฐบาลเฮติทุกสมัยกลับยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้ บรรยากาศตึงเครียดและสิ้นหวังในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในสังคม มีแต่จะยิ่งทำให้เส้นทางการฟื้นฟูประเทศต้องเป็นอัมพาต และเฮติกำลังอยู่บนปากเหวของการตกลงไปใน “ปล่องระเบิด”

นายจิมมี เชอริซิเยร์ สมญานาม “บาร์บีคิว” อดีตตำรวจที่กลายมาเป็นหัวหน้าแก๊ง “จี9”

เฮติเผชิญกับภาวะวิกฤติระลอกใหม่ในเดือนนี้ ที่ป็นการลุกฮือของแก๊งอาชญากรรม นำโดยแก๊ง “จี9” ของนายจิมมี เชอริซิเยร์ หรือ “บาร์บีคิว” ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ ก่อเหตุโจมตีเรือนจำ สถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายแห่ง จนบ้านเมืองเป็นอัมพาต โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ คือการที่อ็องรีต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขู่ว่า หากเจ้าตัวเดินทางกลับเข้ามาในเฮติ ความรุนแรงอาจลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

บรรยากาศตึงเครียดปกคลุมเฮตินานหลายวัน จนกระทั่งอ็องรีประกาศลาออก เพื่อถ่ายโอนอำนาจให้แก่คณะมนตรีเปลี่ยนผ่าน ที่จะเป็นการจัดตั้งขึ้นโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคมเฮติเข้าร่วม ตามมติของประชาคมตลาดร่วมแคริบเบียน ( แคริคอม )

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ

กระนั้น การจัดตั้งคณะมนตรีเปลี่ยนผ่าน น่าจะเป็นได้เพียงการยื้อเวลามากกว่า เนื่องจากบรรดาแก๊งอาชญากรรมยังคงมีอิทธิพล แม้คนกลุ่มนี้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านก็ตาม 

จนถึงตอนนี้ สถานะของอ็องรียังไม่เป็นที่แน่ชัด นับตั้งแต่การเยือนเคนยา เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. โดยการยืนยันครั้งล่าสุด คือการที่ทางการเปอร์โตริโกเปิดเผย ว่าเครื่องบินประจำตำแหน่งของอ็องรีจอดแวะพักที่นี่ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าอดีตผู้นำเฮติ วัย 74 ปี จะลี้ภัยในสหรัฐ หลังมีรายงานว่า ทำเนียบขาว “เปิดโอกาส”

ด้านรัฐบาลวอชิงตันพยายามพยุงสถานการณ์ ด้วยการมอบความสนับสนุนเพื่อมนุษยธรรมให้แก่เฮติ เพิ่มอีก 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1,175.20 ล้านบาท ) และเพิ่มอีก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3,561.20 ล้านบาท ) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ของกองกำลังรักษาเสถียรภาพนานาชาติในเฮติ ภายใต้การนำของเคนยา ที่แม้จนถึงตอนนี้ยังแทบไม่เป็นรูปธรรมเลยก็ตาม

ขณะที่ก่อนหน้านั้น สหรัฐอพยพเจ้าหน้าที่การทูตแทบทั้งหมดออกจากเฮติ ตามด้วยสมาชิกสหภาพยุโรป ( อียู ) หลายประเทศ ซึ่งอพยพเจ้าหน้าที่การทูตของตัวเองเช่นกัน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

วิกฤติการณ์ในเฮติรอบนี้จะคลี่คลายไปในทางใดยังยากจะคาดเดา เพราะเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน และพัวพันกับหลายปัจจัย ทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอน ว่าสมาชิกคณะมนตรีเปลี่ยนผ่านจะเป็นใครบ้าง 

นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดรอบใหม่ในเฮติ เกิดขึ้นเวลาเดียวกับที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งสู้รบกันอย่างเดือด ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566

ทั้งนี้ บรรดาประเทศมหาอำนาจล้วนให้ความสนใจกับสมรภูมิทั้งสองแห่ง มากกว่าสถานการณ์ในเฮติอย่างชัดเจน ด้วยความที่ยูเครนและอิสราเอลเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ของภูมิศาสตร์การเมืองโลก สงครามในทั้งสองภูมิภาคเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจหลายฝ่าย และสร้างแรงกระเพื่อมรุนแรงให้กับเศรษฐกิจโลก

ภาพถ่ายจากมุมสูง กรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ

ดังที่กล่าวว่า การที่เฮติเป็นประเทศเกาะห่างไกล ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน และแทบไม่มีบทบาทโดยตรงบนเวทีโลก ความสนใจของประชาคมโลกจึงน้อยลงตามไปด้วย แต่การที่บริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งใน “เขตอิทธิพล” ของสหรัฐ จึงไม่เหนือความคาดหมาย ที่รัฐบาลวอชิงตันจะต้องมีปฏิกิริยาไม่ว่าแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อการรักษา “เสถียรภาพ”และผลประโยชน์” ให้กับตัวเองในระยะยาว เพื่อไม่ให้วิกฤติที่เกิดขึ้น สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าแก๊งอาชญากรรมยังคงมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านชุดใหม่ สหรัฐจะเป็นหัวหอก ดำเนินการเพื่อจัดการหาทางออก หรือ “บรรลุข้อตกลง” กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้หรือไม่ แม้เฮติกำลังจะล่มสลาย แต่การเป็นหนึ่งใน “หลังบ้าน” ของสหรัฐในทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลวอชิงตันไม่สามารถปล่อยให้เฮติล้มเหลวไปมากกว่านี้ได้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP