หลังจากเข้าฉายไป 1 สัปดาห์ “Poor Things” ถือเป็นหนังฝรั่งติดเรท +20 (อายุเกิน 20 ปี ถึงจะรับชมได้) เนื่องจากเนื้อหามีความเป็นอิโรติกสูง จนเรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ชื่นชอบและไม่ชอบ ซึ่งความจริงแล้วหนังระดับเข้าชิงรางวัลระดับโลก มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึงและนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ของไทยเท่าที่ควร ด้วยเหตุที่ว่า ไม่ใช่หนังทำเงินหรือหนังแนวตลาด ที่ต้องเน้นความเป็น แอ๊คชั่น สยองขวัญ คอมานดี้ ไปจนถึงดราม่าหนักหน่วง ในขณะที่หนังแนวชิงรางวัล จะเน้นในเรื่องการจัดสร้างผลงาน บทและความคมคาย วลี ประโยคที่จะถูกถ่ายทอดออกมาได้แบบกระแทกใจคนดู โดยเหล่านักวิจารณ์ในไทย ต่างเทคะแนนให้เรื่องนี้อยู่ที่ 7-9 คะแนน ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงพอสมควร

เรื่องย่อ Poor Things “เบลลา แบ็กซ์เตอร์” (เอมมา สโตน) หญิงสาวที่เสียชีวิตจากการไปกระโดดน้ำ ทั้งที่เธอตั้งครรภ์ลูกน้อยใกล้คลอด โดย ดร.กูดวิน แบ็กซเตอร์ (มาร์ค รัพฟาโล) นักวิทยาศาสตร์ ที่ชอบทำการทดลองแบบแปลก ๆ ได้นำร่างของเธอมาทำการทดลองโดยใช้สมองของเด็กที่อยู๋ในครรภ์ เอามาใส่ในร่างของแม่เด็ก ก่อนกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าให้กลับคืนชีพ เวลาผ่านไป “เบลลา” มีพัฒนาการทางร่างกายและการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงความสุขทางเพศ หรือ “เซ็กส์” ที่เธอชื่นชอบ

ชีวิตของ “เบลลา” ดูจะสวยหรูไม่ต่างกับคุณหนูที่ถูกตามใจ แต่ทว่ากลับพลิกผันอย่างเหลือเชื่อ แทนเธอจะเลือกแต่งงานใช้ชีวิตคู่กับ คู่หมั้น เธอกลับเลือกออกไปเรียนรู้โลกกว้างกับ ทนายจอมเจ้าเล่ห์ “ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น” ซึ่งระหว่างทางได้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมากมายและมันทำให้ “เบลลา” ตระหนักได้ถึงความน่าสงสารของชีวิต สรรพสิ่งที่อยู่รอบกายของเธอ รวมไปถึงการค้นหาตัวตนที่แท้จริงก่อนที่เธอจะถูก “ดร.กูดวิน” ผ่าตัดคืนชีพ

จุดแข็ง เป็นหนังที่ถูกทำออกมาแบบประณีตทั้งมุมมองทางสังคม ค่านิยมทางเพศ ไปจนถึง บทสนทนา ภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่าง มีความคมคายสุดโต่ง แรกเริ่มสีของภาพจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นโทนขาว-ดำ เหมือนกับเป็นการบ่งบอกอารมณ์ของ “เบลล่า” ตัวละครหลัก ที่เลือกได้แค่เพียง “ชอบ กับ ไม่ชอบ” ก่อนจะค่อย ๆ ปรับโทนให้สว่างและสดใสขึ้นเรื่อย ๆ เสมือนกับเป็นพัฒนาการภาวะทางอารมณ์ที่มีการเจริญเติบโต หรือมีวุฒิภาวะมากขึ้น

ขณะที่ ฉากต่าง ๆ ตั้งแต่ภายบ้านพัก เมือง ท้องทะเล ไปจนถึงภายในลำเรือ ต่างก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม ทั้งมุมมองปกติ และมุมองแนวโค้งของเลนส์ Fisheye lens เพื่อให้เกิดความแปลกตา และที่น่าชื่นชมมากสุดคงไม่พ้นความเป็น “อิโรติก” ที่ยัดความเป็น “ตลกร้าย” ใส่ลงไปแบบไม่ยั้ง โดยหนังเรื่องไม่ได้ต้องการโชว์เนื้อหนังมังสาของตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่กำลังบ่งบอกเหตุผลต่าง ๆ ในฉากอิโรติกนั้น ว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร มีความน่าสงสารอย่างไร หรือ ปลอบประโลมอย่างไร ท้ายที่สุด เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบแล้วก็จะรู้ได้ทันทีว่า แต่ละตัวละครล้วนมีความน่าสงสาร ความหดหู่ใจแฝงอยู่ในทุกบริบทได้อย่างไร.

จุดอ่อน การขยี้ปมความน่าสงสารเป็นเพียงผิวเผิน แต่ก็ตรงไปตรงมา เหมือนกับต้องการบิ้วให้อารมณ์ของผู้ชมหดหู่ใจ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สุด ประกอบกับการปูพื้นเรื่องในตอนแรก ๆ ดูจะยาวนานเกินไปหน่อย ยังดีที่องค์หลังของหนังมีพล็อตที่ดึงดูดใจและมีความกระชับสั้น ทำให้น่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม

3/5 กะโหลก เรียกว่าเกือบจะดีแล้งเชียว ถ้าหากไม่ยัดเยียดความน่าสงสารแบบพยายามบิ้ว หรือการปูพื้นเรื่องในช่วงแรกนานเกินไปนัก

———————————————

คอลัมน์ : ดูหนังกับหมี
โดย : แพนด้าอ้วน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 20th Century Studios Thailand