“คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ“รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า เรื่องการนิรโทษกรรมยังจำเป็นหรือไม่และพรรคก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างไร  และ จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผลพวงทำให้พรรคก้าวไกลต้องปล่อยให้เยาวชน นักเคลื่อนไหว ต่อสู้เรื่อง มาตรา 112 อย่างโดดเดียวหรือไม่

โดย“รังสิมันต์ โรม” เปิดประเด็นว่าผมคิดว่าคงพูดยากว่าเป็นการต่อสู้ที่โดดเดี่ยวหรือไม่โดดเดี่ยว บรรยากาศในช่วงนี้มันแปลกในช่วงแรกๆ ฝ่ายต่างๆ เขาอาจจะรอดูท่าทีของรัฐบาลเป็นอย่างไร แต่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกรณีของ “ตะวัน” น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  ที่ถูกดำเนินคดี และยังไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งเราไม่เห็นรีแอคชันของรัฐบาลในเรื่องเสรีภาพอะไรต่างๆ เลย เมื่อเทียบกับคุณเศรษฐา ทวีสิน ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่าคุณเศรษฐาเองก็อาจจะเคยลงข้อความในโซเชียลมีเดียที่อาจจะมีมุมมองเห็นใจกับเยาวชนคนรุ่นใหม่

ผมคิดว่าท่าทีของรัฐบาลมีส่วนสำคัญต่อสถานการณ์ในวันนี้ ฝ่ายต่างๆ เขาอาจจะประเมินแล้วว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก และอาจจะมีมุมมองว่าถ้าอย่างนั้นการดำเนินคดีต่างๆ ก็สามารถเร่งปัดกวาดกับคนที่เห็นต่างทางการเมืองได้

ส่วนหนึ่งผมก็คิดว่า ผมไม่อยากจะใช้คำว่าไฟเขียว แต่มันอาจจะเป็นการที่ไม่มีการให้ไฟแดงกับการดำเนินคดีต่างๆ ดังนั้นเมื่อเป็นลักษณะแบบนี้ ก็จะมีคนที่เห็นต่าง ถูกดำเนินคดีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้

ผมคงไม่อยากไปบอกว่าต่างหรือไม่ต่างจากยุค คสช. แต่ว่าถ้าปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงจะถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลเศรษฐาไม่ได้ต่างกัน แต่ผมก็ยังอยากจะคิดว่า รัฐบาลควรจะทำอะไรหน่อยไหม เพราะคนที่เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก ถูกดำเนินคดีแบบนี้ไม่ได้เป็นผลดี และจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งครั้งหนึ่งก่อนที่จะเป็นรัฐบาล คุณก็เคยเห็นว่ามันเลวร้ายอย่างไร

@ พรรคก้าวไกลจะวางตัวในการเดินหน้าสู้ต่อ หรือจะก้าวไปทางไหนอย่างไร 

การที่เราจะทำให้เรื่องพื้นที่เสรีภาพของการแสดงออกเพิ่มมากกว่านี้ได้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลพรรคเดียว พราะเหมือนการตบมือต้องมีทั้ง 2 ข้าง ดังนั้นการที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ลำพังเพียงพรรคก้าวไกลคงไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นที่เข้ามา ซึ่งวันนี้ปัจจัยนั้นยังไม่มี สิ่งที่ก้าวไกลจะทำได้มากที่สุดในเวลานี้คือการแสดงจุดยืน คือการที่เราพยายามไม่ให้เรื่องนี้ นิ่ง เงียบ หาย เราอาจจะทำให้สปอร์ตไลท์ไปถึงผู้มีอำนาจที่กำลังดำเนินการในการที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ซึ่งอาจจะชะลอได้บ้าง

แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่อยากให้มีการดำเนินคดี ถ้าเราอยากให้พื้นที่เสรีภาพมีมากกว่านี้ ผมคิดว่าก้าวไกลคงทำพรรคเดียวไม่ได้ เราจึงต้องพูดคุยและพยายามส่งเสียงไปถึงรัฐบาล เราพยายามใช้กลไกต่างๆ ที่มีในสภา แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังค่อนข้างห่างไกล ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้อาจจะกังวลกับการแสดงออกและอาจจะมีท่าทีที่ไปเบรกคนที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งอาจถูกผูกโยงว่าเป็นกลุ่มคนที่อาจจะไม่จงรักภักดี ถูกผูกโยงว่า อาจจะมีมุมมองที่เป็นการล้มล้างสถาบัน

“ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องมีความกล้าหาญในการที่จะแสดงออก ถ้าไม่แสดงอะไรเลย สุดท้ายสังคมของเราก็มีแต่จะแย่ลง แล้วการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่เสียของมากๆ”

@ การที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ คิดว่าเราควรเดินหน้าการนิรโทษกรรมไปในแนวทางใด

ผมเองยังไม่มีโอกาสได้คุยกับคุณทักษิณ และเชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็คงไม่ได้คุยกับคุณทักษิณ คงตอบยากว่า ถ้าให้มองก็คงต้องคิดต่อไปว่าจะมีแค่คุณทักษิณหรือเปล่าที่กำลังจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ยังมีกรณีอย่างคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลายๆ ฝ่ายก็อาจจะมองว่าอาจจะเดินตามรอยพี่ชายหรือไม่ ซึ่งในแง่มุมนี้ก็เลยอาจจะทำให้การแสดงออกในทางจุดยืนที่อาจจะเป็นการปกป้องเสรีภาพยากมากที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากยังมีอะไรหลายอย่างที่เขาอาจจะต้องดีลกับชนชั้นนำ

แน่นอนในเชิงการบริหารงานบ้านเมือง ถ้าผมเป็นข้าราชการผมไม่มั่นใจจริงๆ ว่าผมต้องฟังใคร ไม่ต้องข้าราชการก็ได้ ผมว่า สส.เพื่อไทย ผมยังไม่มั่นใจและไม่คิดว่า สส.เพื่อไทยฟังคุณเศรษฐาด้วยซ้ำ ดูภาษากายในการโชว์วิชั่นของคุณเศรษฐาเราก็จะเห็นว่าเมื่อมองภาษากายของคนที่ไปฟังคุณเศรษฐานั้น ดูไม่ได้มีความกระตือรือร้นอะไรเลย ผมคิดว่าวันนี้จันทร์ส่องหล้าก็คงจะเป็นแสงที่ทั้งข้าราชการประจำ  สส. และนักการเมืองฝั่งพรรคเพื่อไทยจะเห็นเต็มตามากกว่า 

และก็คงจะทำให้การบริหารบ้านเมือง เชื่อว่าจะสะดุดค่อนข้างเยอะ เอาจริงๆอย่าใช้คำว่ามีนายกฯ 2 คนเลย คือ อาจจะกลายเป็นว่าเหมือนมีนายกฯคนเดียว เพียงแค่ต้องอยู่ที่บ้านเท่านั้น โดยคุณเศรษฐาก็อาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นนายกฯ

@ ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะเดินหน้าเรื่องนิรโทษกรรมโดยรวมมาตรา 112 ด้วยหรือจะต้องสงวนท่าทีไว้ก่อน

ผมคิดว่าต้องกลับมาตั้งโจทย์ว่าเราอยากจะนิรโทษกรรมทางการเมืองไปทำไม ถ้าเรานิรโทษกรรมทางการเมืองเพราะว่าเราต้องการที่จะแก้ปัญหาทางการเมือง เราเห็นอยู่แล้วว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เป็นเชื้อไฟที่รออยู่ เหลือแค่มีคนมาราดน้ำมัน เหลือแค่จะมีใบไม้ กิ่งไม้แห้งมาลง ซึ่งพร้อมที่จะปะทุได้ตลอดเวลา  

ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 112 เป็นวงกว้างจริงๆ และทำให้สิ่งเหล่านี้พร้อมที่จะกลายเป็นประเด็นปัญหาได้เสมอ สิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลควรต้องทำคือการเริ่มต้นกันใหม่ คือ การกลับมาคุย และกลับมาหาทาง เฉพาะหน้า เฟสแรก คือ การที่เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนกลับไปสู่สภาพเดิมให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะมีการดำเนินคดีอะไรต่างๆ ทำให้ประชาชนได้มาเริ่มต้นกันอีกครั้ง

เฟสที่สองนิรโทษกรรมไม่พอเราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้การเมืองแบบในอดีตกลับมาเกิดขึ้นได้อีก ผมคิดว่าคือโจทย์ที่เราจะต้องทำ อย่าเพิ่งไปคิดถึงข้อกฎหมายก็ได้ แต่คิดว่ามีคนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางการเมืองคิดรวมๆ แบบนี้ ถ้าเราคิดแบบนี้เราก็ควรให้มีการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายมากที่สุด.