ผมไม่ได้ไปหัวหินมาหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่ไปแค่ จ.เพชรบุรี ขับรถออกจากบ้านแถว ๆ แจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปถนนกาญจนาภิเษก เจอป้ายบอกทางให้หลีกเลี่ยงถนนพระราม 2 กำลังก่อสร้าง จึงเลี้ยวเข้าถนนบรมราชชนนี-นครปฐม-ราชบุรี แวะพักรถที่ร้านข้าวแกงแม่ล้วน อ.เขาย้อย

ตลอดเส้นทาง ขับรถยาวไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีสะพานข้ามแยกหมดแล้ว ถ้าจำไม่ผิดไปเจอแยกสัญญาณไฟจราจรที่ “โพธาราม” จุดเดียวเท่านั้น

ที่เกริ่นมาเพราะสัปดาห์ที่แล้ว เห็นข่าวว่าชะอำ-หัวหิน เงียบเหงา! (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) เนื่องจากคนเบื่อรถติดถนนพระราม 2 สร้างไม่เสร็จเสียที! ซึ่งก็จริงนั่นแหละที่ว่าสร้างล่าช้า

ถนนพระราม 2 ไม่ต่างจากถนนบางนา-ตราด (ในอดีต) คือมีปัญหาเรื่องโครงสร้างทางธรณีวิทยา สร้างแล้วทรุดตัวง่าย เมื่อเจอจำนวนรถที่เยอะ รถบรรทุกหนักมาก ถนนจึงพังเร็ว ซ่อมแซมกันไม่ชนะ! จนต้องสร้างถนนแบบตอกเสาเข็ม คือทางด่วนบางนา-บางปะกง และมีทางเลือกใหม่คือถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา เพิ่มเข้ามา คนจึงเลิกบ่นถนนบางนา-ตราด แต่หันมาบ่นถนนพระราม 2 แทน!

โดยปกติถ้าจะไปหัวหิน มีทางเลือกอยู่ 3 เส้นทาง คือ ถนนพระราม 2, ถนนบรมราชชนนี-นครชัยศรี-นครปฐม-ราชบุรี-เพชรบุรี และทางรถไฟ

ปี 56 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในนี้มีโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯหัวหิน, กรุงเทพฯนครราชสีมา, กรุงเทพฯพัทยา และกรุงเทพฯเชียงใหม่ รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะจะเป็นทางเลือกใหม่ให้คนที่อยากไปชะอำหัวหิน แต่เบื่อเส้นทางพระราม 2 ก็นั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯหัวหิน ไปสิ!

แต่สุดท้ายเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาทก็จบเห่ และก็เกิดวลีให้ “ถนนลูกรัง” หมดไปจากประเทศไทยก่อน ต่อมาก็เกิดการ “รัฐประหาร” แล้วจะมาบ่นอะไรกับถนนพระราม 2 ทำไม? ไม่บ่นถนนมิตรภาพ ช่วงสระบุรี-โคราช บ้าง! ถ้ามีรถชนกัน รถจอดเสีย กินพื้นที่ถนนไป 1-2 เลน รถติดหนึบยาวหลายกิโลเมตรเหมือนกัน

จึงต้องมีทางเลือกใหม่อย่างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช โดยโครงการแรกสร้างมาแล้ว 6 ปี เพิ่งคืบหน้าไปแค่ 30% ส่วนโครงการที่ 2 สร้างมาตั้งแต่ปี 59 ป่านนี้ยังไม่เสร็จ คาดว่าจะเสร็จปี 68 ถ้าสร้างเสร็จใช้งานได้เมื่อไหร่ ก็ยกให้เป็นผลงานรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเขาไป!

ไม่ได้ล่าช้าและทำให้คนไทยต้องเสียโอกาสที่ประเมินมูลค่าไม่ได้เท่านั้น เพราะถ้าลงมือสร้างตั้งแต่ปี 56 ป่านนี้เสร็จเปิดใช้งาน ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปกินอาหารทะเลที่หัวหิน ได้ไปไหว้ย่าโมที่โคราชกันแล้ว แถมราคาค่าก่อสร้างถูกกว่ากันเยอะ! เมื่อเทียบกันต่อกิโลเมตร เพราะลงมือสร้างทีหลัง อย่างไรก็ต้องแพงกว่า!

ดังนั้นจึงต้องทบทวนตัวเองว่า เราจัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทไหน….. แล้วมี “อคติ” มากไปหรือเปล่า? ชีวิตจึงต้องลำบากเพราะต้องผูกติดอยู่กับแค่ถนนพระราม 2

ล่าสุดมาใหม่อีกแล้ว รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยากเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกัน เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี มันหายากและขุดได้น้อยลงไปทุกวัน จนต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลาง และส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า และราคาไฟฟ้า

ที่ผ่านมาไทย-มาเลเซีย พัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากว่า 10 ปีแล้ว (แหล่งเจดีเอ) เอาก๊าซธรรมชาติใต้ท้องทะเลขึ้นมาแบ่งปันกันใช้แบบ 50:50 ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีปัญหากระทบกระทั่ง อะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุยกันไม่จบ ก็อย่าไปคุย แต่ขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาแบ่งกันใช้ ได้ประโยชน์กับประชาชนสองประเทศ

แต่พอรัฐบาลเศรษฐาจะพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกับกัมพูชา เริ่มมีบางกลุ่มคนออกมาปั่นกระแส! ไม่ต้องการเสีย “เกาะกูด” ทั้งที่เกาะกูดถูกยกฐานะเป็นอำเภอของ จ.ตราด มาตั้งแต่ ก.ย. 2550

ยุคนี้ถ้าไม่มีอคติ! คงออกมาปั่นกระแส “เกาะกูด” ไม่ได้!! ที่สำคัญบทเรียนราคาแพงที่ผ่านมา ไม่เคยจดจำกันเลยหรือไร?

…………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทควมทั้งหมดที่นี่…