“ชุมชนเรามีป่าชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหลักที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทย์ที่ท้าทายเรามากที่สุดก็คือเราจะใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด และให้มีความยั่งยืนที่สุด” เสียง “ผู้ใหญ่บ้านหญิง” แห่ง บ้านสามัคคีธรรม หมู่ 5 ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ชื่อ “ลาวัลย์ มะเจียกจร” บอกเล่ากับคณะสื่อมวลชนที่ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานอาชีพชุมชนนี้ ซึ่งจากโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาทำให้เธอและชาวบ้านพยายามร่วมกันหาคำตอบ จนเกิดเป็น “วิถีที่ยั่งยืน” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปสัมผัสกับเรื่องราวของชุมชนนี้ และ “ผู้ใหญ่บ้านหญิง” คนนี้…กับมุมคิดของเธอ…

“ลาวัลย์” ผู้ใหญ่บ้านสามัคคีธรรม “ผู้นำชุมชน” ของชุมชนดังกล่าวนี้ ได้เล่าประวัติของหมู่บ้านแห่งนี้ให้ฟังว่า บ้านสามัคคีธรรมเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 162 ครัวเรือน โดยปัจจุบันมีประชากรทั้งหมด 569 คน สำหรับสภาพที่ตั้งนั้น มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะกับการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านที่นี่จึงทำอาชีพเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ในบริเวณหมู่บ้านยังมีพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์และป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์อยู่ราว 500 กว่าไร่ ที่ปลูกต้นไม้ได้หลายประเภท อาทิ ประดู่แดง มะค่าโมง ซึ่งชาวบ้านจึงมีอาชีพและรายได้อีกทางจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้จากป่าชุมชน โดยเฉพาะ “ต้นไผ่” ที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วยการนำมาแปรรูปเป็นทั้งอาหาร และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยมีการจำหน่ายทั้งผ่านระบบออฟไลน์ และออนไลน์ สร้างอาชีพ-สร้างรายได้เป็นอย่างดี

“ป่าไผ่ของชุมชนเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ให้ชาวบ้าน ซึ่งคนในหมูบ้านส่วนมากจะนำไผ่มาสานเป็นเฝือกไม้ไผ่ หรือแผงไม้ไผ่ กับต่อยอดผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ อย่างแก้วน้ำไม้ไผ่ หลอดไม้ไผ่ แผ่นไม้ไผ่อัด โดยทรัพยากรที่ใช้เหล่านี้คือผลผลิตและทรัพยากรที่ชาวบ้านทุกคนร่วมกันปลูก ร่วมกันดูแล ซึ่งทรัพยากรตรงนี้ทำให้ชุมชนเรามีอยู่มีกิน มีรายได้ มีอาชีพทำกันได้ทั้งปี จากเดิมที่แค่ทำเกษตรซึ่งทำได้ปีละ 2-3 เดือนเท่านั้น” ผู้ใหญ่ลาวัลย์กล่าว

อ่างเก็บน้ำ “ปางอุ๋งไทรโยค”

นอกจาก “ป่าไผ่” แล้ว… “น้ำ” ก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ และจำเป็นมาก ๆ ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะอาชีพหลักส่วนใหญ่ของคนที่นี่คือการทำเกษตรกรรม ซึ่งในอดีตชาวบ้านประสบปัญหาจากการขาดแคลนแหล่งน้ำ เพราะน้ำที่นำมาใช้ได้นั้นมาจากลำห้วยเพียงอย่างเดียว จนในปี 2553 ชุมชนได้รับงบประมาณจากทางกรมทรัพยากรน้ำในการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่อ่างเก็บน้ำนี้ต้องใช้หล่อเลี้ยงทั้งหมู่บ้านที่มีกว่า 162 ครัวเรือน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำไม่สามารถแก้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทางลาวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหญิง ยอมรับว่า เป็นปัญหาที่ทำให้เธอทุกข์ใจมาก ๆ ที่ต้องเห็นชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหานี้ ทำให้พยายามมองหาวิธีและทางออก เพื่อที่จะบรรเทาทุกข์นี้ให้กับชาวบ้าน

มาสคอต “ไม้ไผ่” ของดีของที่นี่

“แม้จะมีอ่างเก็บน้ำแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากหมู่บ้านจะมีน้ำใช้กันปีละ 7-8 เดือน ส่วนอีก 4-5 เดือน เราต้องหาน้ำจากภายนอก เช่น ขอรถน้ำจากหน่วยงานรัฐ หรือจากบริษัทเอกชน เพื่อให้นำน้ำมาให้หมู่บ้าน แต่การรอน้ำที่จะจัดส่งมาให้นั้น ชาวบ้านจะต้องรอกันเป็นอาทิตย์ ๆ เพราะต้องรอคิว เราจึงมองว่าถ้าแก้ปัญหาแบบนี้เราก็ต้องแก้กันทุกปี จึงคิดหาวิธีทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้แบบยั่งยืน” ลาวัลย์บอกถึง “แรงขับเคลื่อน” ที่ทำให้เธอและชาวบ้านต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้เพิ่มเติม โดยหลังจากได้ขบคิดเพื่อหาทางออก เธอก็ค้นพบว่า “แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาได้” นั่นคือเรื่องของ “ฝายชะลอน้ำ” ทำให้เธอกับชาวบ้านตัดสินใจลงมือร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อจะกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปี โดยโปรเจ็กต์นี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจากวันนั้นถึงปัจจุบัน สามารถสร้างฝายชะลอน้ำที่เสร็จสมบูรณ์ได้ทั้งหมดจำนวน 1,999 ฝาย โดยได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ

ร่วมกับชาวบ้านสร้างฝายชะลอน้ำ

อย่างไรก็ตาม แต่ในเรื่องของการ “สร้างรายได้-สร้างอาชีพ” นั้น ก็ยังเป็น “อีกหนึ่งโจทย์สำคัญ” โดยกับเรื่องนี้ทาง ผู้ใหญ่ลาวัลย์ บอกว่า โชคดีที่ได้ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เข้ามาให้ความรู้เรื่องการ “ทำบัญชีครัวเรือน” ทำให้ชาวบ้านมีการจดบันทึกบัญชีและได้รู้ถึงรายรับรายจ่ายในครัวเรือน นอกจากนั้น ธ.ก.ส. ก็ยังเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณสร้างฝายชะลอน้ำ โดยการสนับสนุนส่วนนี้ชุมชนสร้างฝายขนาดเล็กได้ 42 ฝาย กับขนาดกลางอีก 3 ฝาย ทำให้หมู่บ้านมีน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งฝายเหล่านี้ช่วยสร้างโอกาสในชีวิตให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จะทำได้แค่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปลูกผักเล็กน้อย ก็สามารถเพาะปลูกเพื่อกินเพื่ออยู่ได้ตลอดทั้งปี

โดยเฉพาะหลังจากที่ ชุมชนน้อมนำหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” และปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” พระราชทานไว้ นำมาใช้เป็นหลักดำเนินชีวิต โดยชาวบ้านหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน และปลูกผลไม้ ที่มีทั้งเงาะ ทุเรียน มะปราง มะยงชิด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่มีผลผลิตจากการเพาะปลูกให้เก็บเกี่ยวไปขายได้ตลอดทั้งปี

กับ “ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากไม้ไผ่”

และสำหรับ “อ่างเก็บน้ำ” ของที่นี่ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งน้ำสำคัญแล้ว ด้วยสภาพที่ตั้งและสภาพแวดล้อมที่เป็นพื้นที่โล่งกว้าง โอบล้อมด้วยป่าไม้และภูเขา ภายหลังก็ได้ถูกขนานนามให้เป็น “ปางอุ๋งไทรโยค” ซึ่งชุมชนมองเห็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของอ่างเก็บน้ำนี้ ได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งสันทนาการของคนในชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. เพื่อพัฒนาให้ที่นี่เป็น “พื้นที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” พร้อมกับจัดทำ “ตลาดชุมชน” ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านนำสินค้ามาขาย ก็ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริม

“จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนชุมชน ที่พลิกชีวิตชาวบ้านก็ว่าได้ เพราะทำให้ทุกคนมีรายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นนี้ ทำให้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จึงช่วยลดปัญหาหนี้ได้ด้วย” ลาวัลย์ “ผู้ใหญ่บ้านหญิง” ระบุ

ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ลาวัลย์ บ้านสามัคคีธรรม ยังกล่าวถึง “แนวคิด” ที่ใช้ “พลิกชีวิตชุมชน” จากชุมชนที่ขาดแคลนทรัพยากร และมีปัญหาสุมอยู่มากมาย กลายเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ในวันนี้ โดยเธอบอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า… “เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุก ๆ ครั้งของการเริ่มต้นจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าชุมชนมีความสามัคคี เข้มแข็ง มีความตั้งใจไม่ย่อท้อ ก็ไม่ยากที่จะพบกับความสำเร็จ วันนี้ดีใจแล้วที่ได้เห็นวันที่ดี ๆ ของหมู่บ้าน ถึงแม้จะยังไม่ดีที่สุด แต่ก็ภูมิใจแล้วที่ได้เห็น…ได้เห็นทุก ๆ คนในชุมชนมีรอยยิ้ม”.

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ไปเยี่ยมชม

‘กฎดูแลกัน’ เพื่อ ‘คนอยู่ร่วมกับป่า’

“ลาวัลย์ มะเจียกจร” ซึ่งเป็น “ผู้ใหญ่บ้านหญิง” คนเก่งแห่งบ้านสามัคคีธรรม ย้ำว่า… ป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีความท้าทายที่ทุกคนในชุมชนจะต้องช่วยกันหาคำตอบว่า… จะทำอย่างไรให้ผืนป่านี้อยู่กับชุมชนต่อไปนาน ๆ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงมีประชามติร่วมกันว่า… “ต้องมีกฎชุมชน” เพื่อให้เกิดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนมากที่สุดด้วย โดยหนึ่งในแนวทางที่ใช้ก็คือ “ระบบดูแลกันและกัน”
“การดูแลกันและกันจะเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ป่าอยู่คู่ชุมชนได้ และชุมชนก็สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันจะมีการแบ่งกำไร 10% จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปไม้ไผ่ของวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนตำบลลุ่มสุ่ม เพื่อนำไปใช้อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อให้ป่าชุมชนของทุกคนคงอยู่ต่อไป”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน