โดยทั่วไปพยาธิตัวตืดมีสีขาวนวล ลำตัวแบนคล้ายริบบิ้นประกอบด้วยปล้องต่อ ๆ กันจำนวนหลายปล้อง ส่วนหัวของพยาธิมีขนาดเล็ก ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายถ้วยเล็ก ๆ จำนวน 4 ถ้วยหรือมีร่องดูด 2 ร่อง (ขึ้นกับชนิดของพยาธิ) เพื่อใช้ยึดเกาะกับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก เมื่อพยาธิต้องการขยายพันธุ์ออกมานอกตัวแมว เจ้าของแมวอาจตกใจหรือรู้สึกรังเกียจเมื่อพบปล้องแก่ (gravid segment) ของพยาธิลักษณะคล้ายหนอนตัวสีขาวครีมที่เคลื่อนที่ได้บนมูลของแมวหรือรอบทวารหนัก รวมทั้งบริเวณที่แมวนอนอาศัยอยู่ หรืออาจพบปล้องที่แห้งแล้วลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว หรือเมล็ดแตงกวา นอกจากนี้เจ้าของอาจเคยพบแมวอาเจียนมีพยาธิตัวตืดทั้งตัวออกมาได้เช่นกัน

พยาธิตัวตืดที่พบได้ในแมวในประเทศ ไทย ได้แก่ พยาธิตืดหมัด พยาธิตืดแมว พยาธิตืดในกลุ่มพยาธิตืดปลา เป็นต้น แมวติดพยาธิเหล่านี้ได้จากการกินโฮสต์กึ่งกลางที่มีระยะติดโรคของพยาธิอาศัยอยู่ แมวติดพยาธิตืดหมัด (Dipylidium caninum) ได้จากการกินหมัดตัวเต็มวัย (ที่มีตัวอ่อน cysticercoid ของพยาธิ) เข้าไปโดยบังเอิญจากการเลียแต่งขนหรือการแทะเล็มที่ผิวหนังเมื่อมีอาการคัน นอกจากพยาธิตืดหมัดแล้ว มีพยาธิตืดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะปล้องคล้ายกับพยาธิตืดหมัดและพบได้ในแมวเช่นกัน คือ Joyeuxiella spp. ซึ่งแมวติดได้จากการกินสัตว์เลื้อยคลานแทน

Adorable kittens with fuzzy hair sitting on a white surface with two Guinea pigs

สำหรับพยาธิตืดแมว (Taenia taeniaeformis) เป็นพยาธิที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทางเดินอาหารของแมวโดยมีความยาวกว่าครึ่งเมตร ปล้องแก่ของพยาธิตืดแมวที่ปนออกมากับมูลแมวจะดูคล้ายกับของพยาธิตืดหมัด และสามารถเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกัน แมวติดพยาธิชนิดนี้ได้จากการล่าเหยื่อโดยกินหนูที่มีตัวอ่อนของพยาธิตืดแมว (strobilocercus) อยู่ในตับ การอาศัยอยู่และการขยับของตัวพยาธิภายในลำไส้หรือกรณีที่มีพยาธิอยู่กันอย่างแออัดสามารถกระตุ้นให้แมวขย้อนตัวพยาธิออกมาทางปากหรือทำให้แมวอาเจียนได้ด้วย เคยมีรายงานพบความก่อโรคเนื่องจากการติดพยาธิจำนวนมากและทำให้ลำไส้แมวอุดตัน จนถึงขั้นต้องผ่าตัดลำไส้เพื่อนำเอาพยาธิออก

แมวที่ชอบล่าเหยื่อจำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (เช่น กบ เขียด) สัตว์เลื้อยคลาน และนก มีโอกาสติดพยาธิตัวตืดชนิด Spirometra spp. โดยทั่วไปแล้วพยาธิตืดแทบจะไม่ก่อโรคในแมว เพียงแต่มาแย่งอาหารในลำไส้เล็ก แต่พยาธิ Spirometra มีความก่อโรค เช่น ทำให้แมวท้องเสีย น้ำหนักลด และอาเจียน

จากงานวิจัยของทีมผู้เขียนใน กทม. และปริมณฑลในปี พ.ศ. 2557-2558 มีการตรวจพบไข่หรือปล้องของพยาธิตัวตืดโดยรวมร้อยละ 4.9 จากแมวที่ดูสุขภาพปกติจำนวน 509 ตัว โดยทั่วไปค่าความชุกของการติดพยาธิตัวตืดจะดูต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการวินิจฉัยที่แม่นยำของการติดพยาธิในกลุ่มนี้ต้องอาศัยการตรวจหาตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กเป็นหลัก การที่เจ้าของพบปล้องแก่ของพยาธินั้นเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ช่วยวินิจฉัยได้ในเบื้องต้น เจ้าของควรเล่าประวัติความเป็นอยู่ของแมวให้สัตวแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และนำมูลของแมวที่เก็บได้ใหม่ ๆ มาให้สัตวแพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และรับยาถ่ายพยาธิที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมพยาธิเหล่านี้เป็นประจำ รวมถึงให้สัตวแพทย์รักษาและควบคุมการติดหมัดทั้งบนตัวแมวและในสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพาหะนำโรคของพยาธิตืดหมัดด้วย เพราะพยาธิตืดหมัดสามารถติดต่อสู่คนได้โดยเฉพาะในเด็กที่อาจกินหมัดเข้าไปโดยบังเอิญเช่นกัน และถือเป็นการยิงนกนัดเดียวในการควบคุมโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียจากแมวสู่คนที่มีหมัดเป็นพาหะนำโรคไปในตัวด้วย แมวเป็นสมาชิกคน (ตัว) สำคัญที่ควรได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีเนื่องจากปัจจุบันนี้เราควรดูแลสุขภาพแบบหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกทุกคนในบ้านไปด้วยกัน.

ผศ.สพ.ญ.ดร.วรพร สุขุมาวาสี หน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคติดเชื้อในสัตว์ที่มีพาหะนำโรค
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่