เรียกได้ว่า…ประเทศไทยเข้าสู่การชอปปิ้งออนไลน์แบบเต็มรูปแบบทีเดียว เพราะมูลค่าการซื้อขายนั้น เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยอย่างน้อยปีละกว่า 10% ซึ่งสูงกว่าจีดีพีของไทยหลายเท่า

ด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากที่ชอบเดินชอปปิ้ง ก็หันมาชอปปิ้งออนไลน์แทน

ไม่เพียงเท่านี้… บรรดาแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชื่อดังจากต่างประเทศ ก็ยังจัดแคมเปญสารพัดทั้งจัดเอง ทั้งร่วมกับร้านค้าในแพลตฟอร์ม แทบจะทุกวันทุกเดือน แถมมีรางวัล มีเงื่อนไข มีส่วนลด อีกสารพัด

แบบชนิดที่เรียกว่า บรรดาร้านค้าออฟไลน์ทั้งหลาย หากไม่ผันตัวมาสู้ศึกค้าออนไลน์ ก็ไปไม่รอด ต้องล้มหายปิดตัวเองไปก็ไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอเข้ากับสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาทะลุทะลวงจนปรุ โดยใช้กลยุทธ์ด้าน ราคา” เข้ามาดึงดูด หากไม่คิดอะไรมาก ใช้เงินน้อย ราคาถูก ก็ควักกระเป๋าจ่ายได้โดยไม่คิดอะไร

ทั้งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้จำเป็น สินค้าแฟชั่น ในทุกรูปแบบ ที่เรียกว่า…กวาดยอดขายกันแบบถล่มทลายจริง ๆ

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ผลิต ผู้ขายสินค้าไทย ย่อมอยู่ไม่ได้เช่นกัน แม้จะสู้กันด้วย “คุณภาพ” แต่สุดท้ายเมื่อเจอ “ของถูก” ผู้ประกอบการไทยก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

อย่าลืมว่า…ขอจำกัดของผู้ประกอบการไทย นั้นมีอยู่มากกมาย โดยเฉพาะในเรื่องของ “ค่าแรง” จึงทำให้การแข่งขันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ บางคนต้องหันไปผลิตสินค้าคุณภาพ เปลี่ยนตลาดไปสู่ระดับบน ระดับที่มีกำลังซื้อ

แต่ข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ทำให้ สะดุด” จนส่งผลกระทบต่อรายได้ และกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่อง บางรายก็ลงไปถึง แรงงาน”

เหตุการณ์นี้ กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือส.อ.ท.ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เพื่อรียกร้องอย่างกว้างขวางถึงปัญหาการสั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาถูก แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก จนส่งผลกระทบต่อคนค้าคนขายรายย่อยรายเล็ก ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง เอง เตรียมแก้กฎหมาย เพื่อยกเลิกการยกเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต  ไม่ให้ไปผูกอยู่กับการยกเว้นอากรขาเข้า

หรือ…ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือจะเรียกเก็บแวตสินค้า ทั้งกรณีที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์ม  หรือกรณีที่ซื้อตามปกติ นั่นแหล่ะ แม้ว่าสินค้าจะมีราคาไม่ถึง 1,500 บาท ก็ตาม

ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดยสินค้าที่ต้องเสียแวต เป็นทุกสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

นอกจากการสร้างความเป็นธรรม แล้วอีกนัยหนึ่งก็จะเพิ่มรายได้เข้าประเทศด้วย พราะปัจจุบันการนำเข้าสินค้าเช่นนั้นน่าจะมีเป็นแสนชิ้นต่อวัน โดย 90% สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม และอีก 10% จะนำเข้าผ่านด่านศุลกากร ซึ่งเมื่อเก็บ แวต ก็จะได้ภาษีชิ้นละกว่า 70 บาท 

ล่าสุด…ส.อ.ท. ได้เผยผลสำรวจซีอีโอ ภายใต้หัวข้อ สินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทย ภาคอุตสาหกรรมรับมืออย่างไร?

บรรดาซีอีโอ ต่างรวมใจกันตอบว่า ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกและสินค้าไม่มีมาตรฐานที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย มีมากถึง 65.8% ทีเดียว ขณะเดียวกันยังมีคำตอบที่ระบุว่า…ทำให้ยอดขายสินค้าไทยลดลง 10-30% ทีเดียว

จากผลสำรวจนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความกังวลต่ออนาคตสินค้าไทยที่แข่งขันไม่ได้ในเรื่องต้นทุน ที่สำคัญ…เรื่องของการไม่มีมาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู้ข้อเรียกร้อง… ที่ว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดกับการตรวจจับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานที่ใช้การสำแดงเท็จนำเข้ามาในไทย รวมไปถึงที่มีอยู่แล้วในไทยในเวลานี้

ที่สำคัญ!! การเก็บภาษีแวต ตามมาตรการของกระทรวงการคลัง นั้น ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งช้าก็ยิ่งส่งผลกระทบ ส่งผลร้ายของเอกชนไทย ซึ่งสุดท้ายเอง ก็หนีไม่พ้นส่งผลกระทบต่อประเทศ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่