ล่าสุด กระทรวงการคลัง โดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล หรือดร.ออฟ เลขานุการรมว.คลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ไว้ชัดถ้อยชัดคำ ว่า  กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เตรียมที่จะทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใหม่อีกครั้ง

เรื่องของเรื่อง…การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปีนี้  ปี 2567 จากเดิม…ต้องถือว่าเป็นปีที่ต้องจัดเก็บแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ 100% ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆให้กับใคร ๆ ทั้งสิ้น

เพราะที่ผ่านมาได้ลดหย่อนให้แล้วถึง 15%  ถือว่าผ่อนปรนกันมาพอสมควรแล้ว ที่ตามไทม์ไลน์แล้ว ก็จะต้องเริ่มเสียภาษีกันในช่วงเดือนมิ.ย.นี้นั่นแหล่ะ

ทั้งนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562  และได้เริ่มเก็บภาษีกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 แต่ด้วยเหตุการณ์โควิด ทำให้รัฐบาลต้องยอมปรับลดอัตราภาษี มาตั้งแต่ปี 63 จนถึงปี 66 ที่มีการลดอัตราภาษีให้ถึง 90% (ในปี 63 – 65) และลดให้อีก 15% ในปี 67

ก็ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ สภาพ!! เศรษฐกิจ ก็ยังลุ่ม ๆ ดอนๆ ใช่ว่าจะทะยานขึ้นสูงปรี๊ด มีเงินมีทองใช้กันถ้วนหน้า ต่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารนานกว่า 6 เดือนแล้วก็ตาม

ต้องยอมรับกันว่า สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งภายใน ภายนอกประเทศ ก็เป็นข้อจำกัดสำคัญ ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาชนคนไทยต้องหืดจับกันไม่น้อยเช่นกัน

**ด้วยเหตุนี้…รัฐบาลจำเป็นที่ต้องไม่สร้างภาระ ต้องไม่ซ้ำเติมให้ประชาชนเดือดร้อน เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก จากภาษีที่ดินฯ ซึ่งกาปรับปรุงหรือการทบทวนในรอบนี้ ดร.ออฟ บอกว่า จะทำทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและในเรื่องของอัตราภาษี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด

ส่วนการทบทวน จะออกมาในรูปแบบใด ในเวลานี้ยังไม่สามารถบอกในรายละเอียดได้  แต่เบื้องต้น ก็ต้องดูทั้งเรื่องของเวลา และเรื่องของอัตรา ที่ต้องไม่ซ้ำเติมผู้เสียภาษี

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 4 ประเภท  คือ ประเภทที่อยู่อาศัย ประเภทพาณิชยกรรม ประเภทเกษตรกรรม และประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ขณะเดียวกันที่ดินฯ แต่ละประเภทก็มีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากันตามประเภทของการใช้งาน  ถ้าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ก็ถูกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่า แต่ถ้าไม่มีการใช้งานหรือใช้งานในเชิงพาณิชย์หรือสามารถใช้หารายได้  ก็ต้องเสียภาษีเข้ารัฐเพิ่มสูงขึ้น

ในกรณีของบ้านหลังหลักที่คุณๆท่านๆเป็นเจ้าของที่ดินและตัวบ้าน จะได้รับการยกเว้น ภาษี หากมูลค่าไม่เกิน50 ล้านบาท แต่ถ้ามีราคาตั้งแต่ 50-75 ล้านบาท ก็เสียภาษีในอัตราล้านละ 300 บาท หากมีราคา 75-100 ล้านบาท ก็เสียภาษีล้านละ 500 บาท หากเป็นมหาเศรษฐีมีบ้านราคามากกว่า 100 ล้านบาท ก็เสียภาษีในอัตราล้านละ 1,000 บาท

แต่ถ้าเป็นแค่เจ้าของบ้าน ที่ดินเป็นของคนอื่น รวมไปถึงกรณีที่เป็นคอนโดมีเนียม ก็ได้รับการยกเว้นในช่วง 10 ล้านบาทแรกเท่านั้น หากมีราคาตั้งแต่ 10-50 ล้านบาท ก็เสียภาษีล้านละ 200 บาท ราคา 50-75 ล้านบาท ก็เสียภาษีล้านละ 300 บาท  75-100 ล้านบาท จะเสียล้านละ 500 บาท หากเกิน 100 ล้านบาท ก็เสียในอัตราล้านละ 1,000 บาท เช่นกัน

หากเป็นบ้านหลังที่ 2 3 4 5 เป็นต้นไป ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็เสียภาษีล้านละ 200 บาท แล้วไล่มาล้านละ 300 บาท  500 บาท และ1,000 บาท เช่นกัน

ที่สำคัญหากเป็นคอนโดมีเนียม ที่ปล่อยเช่า ก็ต้องเสียภาษีล้านละ 200 บาท  ไล่ไปเช่นกันค่ะ 300 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ล้อกันไปเช่นนี้

ขณะที่ประเภทพาณิชยกรรมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในประเภทนี้ ก็ประเภทที่ไม่ได้มีไว้เพื่ออยู่อาศัย เช่น การทำการค้าทุกประเภททั้ง ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน อพาร์ทเมนท์ เป็นต้น ก็จะถูกเก็บภาษีสูงกว่าที่อยู่อาศัยถึง 10 เท่า

ส่วนประเภทเกษตรกรรม ในปี 2566 จะยกเว้นภาษีที่ดินฯ ให้กับบุคคลธรรมดาที่ใช้ที่ดินทำเกษตรกรรมในมูลค่า 50 ล้านบาทแรกเท่านั้น ส่วนที่เกินจากนี้จะใช้อัตราภาษี ล้านละ 1,000 บาท เรื่อยไปจนถึง 7,000 บาท หากมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป

แต่ถ้าเป็นที่ดินเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ ประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่ว่า หากปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็จะเสียภาษีพอ ๆกับ ประเภทพาณิชยกรรม

ที่สำคัญ…หากปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าติดต่อกัน 3 ปี จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% ในปีที่ 4 และจะถูกเก็บเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก ๆ 3 ปี หากยังไม่ได้นำมาทำประโยชน์

แต่ทั้งหมดการจัดเก็บภาษีที่ดินฯกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 3% เท่านั้น!!

เอาเป็นว่า… ณ เวลานี้ แม้ประชาชนคนไทยต้อง “แห้ว” ไปกับเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล ไปแล้ว ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า รับบาลจะหยิบยื่นโอกาสในเรื่องภาษีที่ดินฯนี้อย่างไร?.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่