ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับช่วงเวลาที่พ่อแม่หลายๆ คนเกิดความกังวล อย่างช่วงการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พ.ย. 64 ที่จะถึงนี้ แต่บางครอบครัวก็อาจจะเป็นกังวลได้ เนื่องจากลูกหลานยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งความกังวลที่ว่า.. ยังรวมไปถึง “การฉีดวัคซันโควิด-19” ว่าอันที่จริงแล้ว สำหรับเด็กๆ จะมีผลข้างเคยงอย่างไร? ปลอดภัยหรือไม่หากจะฉีด?

โดยในเรื่องดังกล่าวนี้ ทางด้าน พญ.เพ็ญรวี ขาวสำลี กุมารแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ที่โรงเรียน ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจจะขาดความรอบคอบในการดูแลตัวเอง โอกาสที่จะได้รับเชื้อและแพร่กระจายในกลุ่มเด็กก็มีมากขึ้น

“โดยจากสถิติพบว่าเด็กไทยติดเชื้อร้อยละ 13.05 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ และพบอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.01 ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยง จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19”

วัคซีนที่นำมาใช้ในปัจจุบัน จำนวน 3 ชนิด ดังต่อไปนี้

  1. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ได้แก่ วัคซีนของบริษัทซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
  2. วัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ (Viral Vector Based Vaccine) ได้แก่ วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก
  3. วัคซีนชนิด mRNA (mRNA Based Vaccine) ได้แก่ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

ในปัจจุบันมีเพียงวัคซีนชนิด mRNA ทั้งของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เท่านั้นที่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและความปลอดภัยในเด็กและได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย รวมถึงมีคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ใช้ในเด็ก อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้

“สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA พบว่าในเด็กและวัยรุ่นมีความปลอดภัยสูง” ผลข้างเคียงมีเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และหายภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมักพบหลังการฉีดเข็มที่ 2 รวมทั้งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลพบว่าในเด็กชายช่วงอายุระหว่าง 12-17 ปี มีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ประมาณ 60 ราย จาก 1,000,000 โด๊ส ขณะที่เด็กหญิงช่วงอายุเดียวกันจะพบได้น้อยกว่ามาก ประมาณ 10 ราย ซึ่งเมื่อเข้ารับการรักษาทุกคนล้วนหายกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติดี

ส่วนข้อมูลวัคซีนเชื้อตายนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ และรอพิจารณาขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาไทย คงต้องรอติดตามข้อมูลต่อไป

ดังนั้น เพื่อป้องกันเด็กๆ ในวัยเรียน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ครอบครัวและโรงเรียนควรมีแนวทางเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการเน้นย้ำให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และความสำคัญต่อการสวมหน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดปาก การเว้นระยะห่าง ล้างมือสม่ำเสมอ รวมไปถึงผู้ปกครองและคุณครูจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวเป็นอย่างดี…

…………………………………………………………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”