“ฉันรอมานานมาก” เชอร์มาโตวา วัย 49 ปี ผู้เคยทำงานในฝ่ายซ่อมบำรุงระบบขนส่งมวลชน ในกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน กล่าว

ปัจจุบัน เชอร์มาโตวาขับรถบัสไฟฟ้าสาย 51 ไปรอบกรุงทาชเคนต์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง ที่มีประชากรราว 3 ล้านคน

เชอร์มาโตวา กล่าวว่า สามีของเธอ ซึ่งเป็นคนขับรถบัสเช่นกัน มีความกังวลในตอนแรก แต่เขาก็ “ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” และบอกกับเธอให้ “ระมัดระวังตัว” ในทุกวัน

ทั้งนี้ การพบเห็นคนขับรถบัสหญิงในอุซเบกิสถาน ประเทศที่มีประชากรประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และมีสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ถือเป็นเรื่องแปลกตา

“ตอนแรก หลายคนมองฉันด้วยความตกใจ ผู้ชายบางคนถามฉันว่า งานนี้มันยากเกินไปสำหรับฉันหรือเปล่า ส่วนคนอื่นนิ่งเงียบไม่พูดอะไร แต่พวกเขาดูเหมือนจะไม่พอใจ” เชอร์มาโตวา กล่าว “แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ไม่กังวล เพราะฉันได้รับกำลังใจและคำพูดแสดงความยินดีมากมาย”

นางซาโอดัต เชอร์มาโตวา จับรถบัสไฟฟ้าสาย 51 เที่ยวเช้าตรู่ ในกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน

ด้านนายมัคห์มุด มิสลิมอฟ เพื่อนร่วมงานวัย 69 ปี กล่าวว่า ก่อนที่เชอร์มาโตวา จะเริ่มขับรถบัสไฟฟ้าสาย 51 เธอฝึกฝนเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งเขามองว่า มันเป็นเรื่องดีที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ขับรถบัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยานพาหนะเหล่านี้ใช้งานได้จริง และมีน้ำหนักน้อยกว่ารถบัสในสมัยโซเวียต

การได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 นำไปสู่ทัศนคติเชิงอนุรักษนิยมมากขึ้น ต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคม ทั่วทั้งเอเชียกลาง ซึ่งแม้จะมีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น แต่ผู้หญิงในเอเชียกลาง ยังคงถูกห้ามไม่ให้ทำงานในหลายอาชีพ

นายนอดีร์ คูโดอิเบอร์ดิเยฟ โฆษกกระทรวงคมนาคมอุซเบกิสถาน กล่าวว่า อุซเบกิสถานเคยห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักมากกว่า 2.5 ตัน และยานพาหนะที่บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 14 คน แต่รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้แล้ว เพื่อช่วยให้ผู้หญิงทำงานได้

การปฏิรูปดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดของประธานาธิบดี ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ผู้นำอุซเบกิสถาน ซึ่งการปฏิรูปสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่รัฐสภาอุซเบกิสถาน ลงมติผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดโควตาผู้สมัครหญิง 40% ในการเลือกตั้งรัฐสภา ตามความพยายามในการสร้างสมดุลฉากทัศน์การเมือง

แม้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุในรายงานปี 2563 ว่า ชีวิตประจำวันของผู้หญิงชาวอุซเบกิสถานส่วนใหญ่ เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย แม้รัฐบาลทาชเคนต์กำลังดำเนินการเพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมก็ตาม แต่สิ่งนั้นอาจกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP