เรื่องของเรื่อง!! ด้วยเพราะรัฐบาล “บ่ จี๊” ตังค์ไม่มีไม่มีตังค์ เลยทำให้โครงการแจกเงินดิจิทัล ยักแย่ยักยัน ทำไม่ทำ ล่มไม่ล่ม เป็นข่าวกันแทบทุกวัน

แม้ว่ารัฐบาลของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” จะยืนยันชัดเจนหนักแน่น ว่าทำแน่! เพราะเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล ที่สำคัญยังเป็นนโยบายพระเอก จนสามารถกวาดคะแนนเสียงมาได้กว่า 10 ล้านเสียงกันทีเดียว

แต่…ปัญหาใหญ่ คือไม่มีเงินมาทำโครงการนี่แหละ จะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการนี้แบบตรง ๆ ก็ฝ่าสารพัดด่านไม่ผ่าน

สุดท้าย… ก็ต้องใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณไปมา เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว!!

ล่าสุดทั้ง ครม. ทั้ง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ต่างเห็นชอบที่จะให้มีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 อีก 1.52 แสนล้านบาท รวมเป็นงบขาดดุลทั้งสิ้น 8.65 แสนล้านบาท

การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ ย่อมมีผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะการขาดดุลเพิ่ม ก็เท่ากับว่าต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งนั่น…ทำให้ภาระหนี้ของประเทศย่อมต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในเมื่อสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ กำลังโหยหาแรงกระตุ้นอย่างหนัก รัฐบาลก็จำเป็น “ต้องแลก” เพราะหากไม่เติมเชื้อ ไม่ส่งฟันเฟืองลงไปหมุน ก็อาจเจอกับสภาพ!! ที่ไปต่อไม่ไหวได้

ที่สำคัญ!! หากเศรษฐกิจไปต่อไม่ได้เดินหน้าไม่ได้ ฐานะของรัฐบาลอาจสั่นคลอน จากทั้งความไม่เชื่อมั่นของคะแนนเสียง และประชาชนคนทั้งประเทศ ทั้งความไม่เชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน

นอกจากนี้ อาจกลายเป็นเป้าล่อสายฟ้าฟาดจากพรรคฝ่ายค้าน ที่รอขย้ำ ก็เป็นไปได้ ดังนั้น… ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ที่รัฐบาลต้องกัดฟัน ยอมแลก เพื่อดันเศรษฐกิจ ดันปากท้อง ต่อไปให้ได้

อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา บรรดาสำนักวิจัยเศรษฐกิจ ต่างปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปีนี้ลงเป็นแถว จากที่เคยหมายมั่นปั้นมือ หรือคาดหวังไว้ว่า จีดีพี ปี 67 นี้ จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% แน่ ๆ

แต่ความคาดหวังที่ว่า กลับไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจนที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต่างคนต่างต้องปรับลดการคาดการณ์กันเป็นแถว แถมยังเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจถ้าไม่มีเงินดิจิทัลมาช่วย ก็คงเติบโตได้เพียง 2.6-2.7% เท่านั้น

ด้วยเหตุปัจจัยเช่นนี้!! ต่อให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดไว้ไม่ให้หนี้สาธารณะสูงกว่า 70% ของจีดีพี

หากพูดภาษานักวิชาการ ที่ชาวบ้านฟังแล้วงง! ก็คือว่า ณ วันนี้ยังคงมีพื้นที่ทางการคลังเหลืออยู่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าเติบโตได้อย่างน้อย 3% ก็จำเป็นที่ต้องแก้ จำเป็นต้องทำ

เพราะ…ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ จีดีพีมีมากขึ้น เพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็จะลดลงไปโดยปริยาย โดยไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังแน่ ๆ

คาดกันว่า…การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น กว่า 1.52 แสนล้านบาท นี้ เป็นวงเงินที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้แน่นอน เช่นเดียวกับการเตรียมออกงบกลางปีงบประมาณ 67 เพิ่มเติมออกมาอีก 1 แสนล้านบาท รวมไปถึงการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณอีก 40,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ!! ที่ฝ่ายค้านตีกันออกมาให้เห็น คือการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. ดำเนินนโยบายแทนตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 เพื่อแจกเงินดิจิทัลให้ครัวเรือนเกษตรกร อีก 2.1 แสนล้านบาท หรือกู้ ธ.ก.ส.มาใช้ก่อนแล้วมาใช้คืนทีหลัง

ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า ความพยายามของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ในการแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านคน วงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาท นั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

อย่าลืมว่า…ที่ผ่านมารัฐบาลย้ำให้เห็นชัดเจนว่า ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะสรุปทุกอย่าง ทั้งแหล่งที่มาของเงิน ทั้งเงื่อนไขการแจกเงิน ก่อนนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง

อดใจรอกันอีกนิด อีกแค่ 2-3 วัน คนไทยในกลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 ล้านคน จะได้ลุ้นข่าวดีกันชัด ๆ อีกครั้ง เพียงแค่หวังใจว่าจะโดนใจหรือไม่ ก็เท่านั้น!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่