โรคสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึงภาวะที่สมองทำงานถดถอยลงเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจะมีอาการหลายอย่างประกอบกัน เช่น หลงลืม, หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคย, หาของไม่เจอ, บวกเลขง่าย ๆ ไม่ถูก
ในสหรัฐตอนนี้มีชาวอเมริกันที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 6 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ และโรคนี้กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีคนเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
โรคนี้เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องของพันธุกรรม, สภาพแวดล้อม ตลอดจนไลฟ์สไตล์บางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
เจสสิกา คอลด์เวลล์ ผู้อำนวยการศูนย์เคลื่อนไหวเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมในสตรีจากคลินิกคลีฟแลนด์ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการใช้ชีวิตอาจส่งผลดีต่อสมอง เมื่อเราอายุมากขึ้น เป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดีต่อสมองของเรา
เนื่องจากมีการพูดถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมกันมานานและบ่อยครั้งแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ “ไม่ควรทำ” เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมตามความเห็นของเหล่าแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านการแปรรูปต่าง ๆ เช่น อาหารแช่แข็ง, อาหารกระป๋อง, อาหารสำเร็จรูป, ผักผลไม้ดอง เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการอักเสบระดับไมโครที่สมอง ควรการกินอาหารที่ปรุงใหม่ ๆ และเน้นไปที่ผักใบเขียว, ถั่วและธัญพืช, ปลาที่มีโอเมก้า-3 มาก ๆ
2. หมั่นขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ อย่าเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ต การเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนสู่สมองได้ดีขึ้น ลดความเครียดและลดการอักเสบในสมอง
3. ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง มีสังคมนอกบ้าน การพูดคุยกับคนอื่น ๆ จะช่วยให้สมองได้ทำงาน ได้รับและส่งข้อมูล ระหว่างพูดคุยกับคนอื่น ๆ สมองก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่รับเข้ามา เป็นการฝึกฝนกระบวนการทำงานของสมองอย่างหนึ่ง
4. อย่าอดนอนเป็นประจำ ถ้าสมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก็จะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ระหว่างที่เรานอนหลับ สมองจะคัดเลือกข้อมูลและทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นไปเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมองของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทำไม่ได้
5. อย่าปล่อยให้ตัวเองสะสมความเครียด เพราะเมื่อเราเครียด ร่างกายจะปล่อยสารคอร์ติซอลออกมาในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้สมองเสียหายได้ หากมีสารนี้ตกค้างอยู่เป็นเวลานาน
6. อย่าปล่อยให้ความดันโลหิตของตัวเองสูงจนเกินไป เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม
7. อย่าหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราไม่จำเป็นต้องกลับไปเรียนหนังสือ แต่ควรฝึกหรือค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อเป็นการฝึกฝนสมองเราเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้
ผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า คนในวัยผู้ใหญ่ที่ยังคงเข้าเรียนหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะสามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 19%
เวลาที่เราเรียนรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ สมองของเราจะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้สมองสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ซึ่งทางนักวิจัยคาดว่าอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่มีการศึกษาสูง ๆ จะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมน้อยกว่า เมื่อเข้าสู่ระยะสูงวัย.
ที่มา : buzzfeed.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES