หลังการใช้เงินภาษีมาอุ้มราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท ได้หมดไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องตัดสินใจให้ขึ้นราคาลิตรละ 50 สตางค์ จนทำให้ราคาดีเซล ในเวลานี้อยู่ที่ลิตรละ 30.94บาท จากราคาจริงที่ทะลุลิตรละ 36 บาท ไปนานแล้ว

การปรับขึ้นครั้งนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีก แต่เป็นลักษณะของการทยอยปรับขึ้น เพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องเกิดอาการ ช็อก”

ขณะเดียวกันการนำเงินกองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุ้มราคาดีเซล ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงไม่น้อย เพราะเวลานี้เงินในกองทุนน้ำมันฯเองก็ติดลบไปแล้วกว่า 103,000 ล้านบาท

บรรดาภาคเอกชน ภาคขนส่ง ต่างเรียกร้อง ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาดีเซล โดยเร็ว เพราะทุก 50 สตางค์ที่ปรับขึ้น ทำให้คนไทยต้องดึงเงินออกจากกระเป๋า1,000 ล้านบาท

แม้เวลานี้ภาครัฐ ออกตัวให้บรรดาสินค้าและบริการต่าง ๆ ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าไว้ก่อน แม้น้ำมันดีเซลจะเป็นต้นทุนของการขนส่งถึง 40% แต่ในส่วนของราคาสินค้าแล้ว กรมการค้าภายในยืนยันชัดเจนว่า น้อย”

แต่!! ไม่ใช่มีเพียงแค่ดีเซล ที่ขึ้นราคา บรรดาอาหารสด ทั้งไข่ไก่ ถั่วฝักยาว ผักชี มะนาว และอีกสารพัด ก็เฮโลขึ้นไปตาม ๆ กันไม่น้อย แม้ไม่ได้มาจากต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ตาม

นั่นก็หมายความว่า ไข่ดาว ไข่เจียว จะแพงขึ้นไปอีก หรือไม่? อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง ข้าวถุง ข้าวแกง จะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?

อย่าลืมว่า ทุกครั้ง ที่น้ำมันขึ้น แก๊สหุงต้มขึ้น อาหารสดขึ้น แต่ข้าวแกง อาหารตามสั่ง ไม่เคยลดลงสักครั้ง ทุกวันนี้ข้าวแกงราคา 30 บาท แทบจะหาได้ยาก

ต่อให้มีร้านธงฟ้า ให้มีร้านหนูณิชย์ ก็ตามทีเถอะ แต่ร้านเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอยู่อย่างดาษดื่น หรือเดินไปกิน ไปทานตรงไหนก็ได้ มีทุกแง่ทุกมุม

ปัญหานี้ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ต้องชั่งใจ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ปากท้อง” คนไทยทั้งประเทศโดยตรง

ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับครม. โดยเฉพาะการสละเก้าอี้ขุนคลัง ของนายกฯเศรษฐา  ที่มีแต่เสียงสนับสนุน เพราะจะได้มีขุนคลังตัวจริงที่มีเวลาทำงานในด้านการคลังอย่างเต็มตัว ก็เท่ากับว่าต้องเข้ามารับเผือกร้อน ๆ ในการแบกรับสารพัดภาระ

เพียงแค่…การนำเงินภาษีมาอุดราคาน้ำมัน ก็เฉือนรายได้จำนวนไม่น้อย ที่ผ่านมารัฐบาลได้ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ปรับลดลงลิตรละ 1 บาท ไปแล้ว 9 ครั้ง  นับตั้งแต่การออกมาตรการเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 65 จนถึง วันที่ 19 เม.ย.67 รัฐบาลได้สูญเสียรายได้รวมกันแล้วประมาณ 1.78 แสนล้านบาท

หากรัฐบาลของนายฯเศรษฐา จะเลือกใช้วิธีการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีกลิตรละ 1 บาท เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ไปอีก 3 เดือน ก็เท่ากับว่า ต้องยอมเฉือนรายได้ไปอีก 6,000 ล้านบาท

แม้รัฐบาลมีโครงการใหญ่อย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ามาช่วยหมุนเงินในระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องใช้เงินงบประมาณ 5 แสนล้านบาทมาสนับสนุน

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ครม.ได้เปิดทางให้มีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพื่ออุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม เป็นวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท

ปัญหาคือ…เวลานี้ สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสงบนิ่ง เช่นเดียวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้เวลานี้ยังไม่ปะทุอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกรากันไป

ด้วยเพราะไทยยังเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ส่วนยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ใน 2 เดือนแรกของปี 67 นี้อยู่ที่ วันละ155.46 ล้านลิตร แม้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.1% โดยเฉพาะดีเซล ที่ลดลง 9.3% และก๊าซหุงต้ม ลดลง 2.7% ก็ตาม ซึ่งเป็นเพียงช่วง 2 เดือนแรกเท่านั้น

ต่อให้การเลือกใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้ามาโปะราคาดีเซลแทนการใช้มาตรการลดภาษี แต่ฐานะของกองทุนน้ำมันฯก็ยังติดลบ เพราะอุดหนุนให้ดีเซลลิตรละ 4.77 บาทหรือเดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจและต้องติดตามทุกวินาที คือ สถานการณ์สงครามนั่นแหล่ะ หากไม่มีจุดจบ หรือยังยืดเยื้อ กองทุนน้ำมันฯจะรับภาระต่อไปได้แค่ไหน? และรัฐบาลต้องตัดสินใจเฉือนเนื้อมาอุ้มอีกหรือไม่!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่