งานนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา บรรดนักช้อปต่างเพลิดเพลินจำเริญใจกับการสั่งของออนไลน์กันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีน และอีกหลาย ๆ ประเทศ ที่มีราคาไม่แพงมากนัก

ประกอบกับในเวลานี้โลกอยู่ในยุคไร้พรมแดน ที่เชื่อมต่อกันทุกอณูด้วยระบบออนไลน์ ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ซีกโลกไหนก็สามารถติดต่อเชื่อมต่อกันได้หมด

เช่นเดียวกับสินค้าสารพัดชนิด ต่อให้อยู่ที่ไหน ก็สามารถสั่งซื้อกันได้ง่ายๆ และยิ่งหากเป็นสินค้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาท ที่ไม่มีภาษีนำเข้าด้วยแล้ว ยิ่งเมามัน ยิ่งทำให้การค้าทะยานกันเพิ่มมากขึ้น

อย่างล่าสุด…ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า ในปีนี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะอยู่ที่ 6.94 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 6% กันทีเดียว

ขณะที่ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 6.34 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในปีหน้า ในปี 68 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึง 7.50 แสนล้านบาท ทีเดียว

นอกจากนี้กิจการทางด้านอีคอมเมิร์ซ ที่ยังแอคทีฟ ยังดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ก็มีมากถึง 7,393 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมกันแล้วกว่า 43,704.22 ล้านบาท

ด้วยมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุผลที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูเรื่องของความเป็นธรรมด้วยโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจในไทย ว่าเสียเปรียบสินค้าจากต่างชาติมากน้อยแค่ไหน

เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับความจริงว่า สินค้าเพื่อนบ้านนั้นราคาถูกมาก บรรดนักช้อปก็ดูจะไม่สนใจในเรื่องของคุณภาพกันสักเท่าใด ขอให้ราคาดึงดูด แม้ใช้ได้เพียงไม่กี่วัน ก็ยอมที่จะสั่งซื้อเข้ามาสนองความต้องการของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเรื่องของอากรขาเข้าอาจไม่สามารถกำหนดอัตราเพื่อจัดเก็บภาษีได้ เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันขององค์การศุลกากรโลก

แต่…ในแง่ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นภาษีภายในประเทศ ที่หน่วยงานรัฐของไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดข้อตกลงทางการค้าใด ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่กระทรวงการคลังสามารถเข้าไปเรียกเก็บภาษีได้แน่นอน

ส่วนวิธีการนั้น ในช่วงแรกจำเป็นต้องหยิบยืมอำนาจของกรมศุลกากร เข้ามาดำเนินการไปก่อน เพราะเพียงแค่ออกประกาศกรมศุลกากร ก็สามารถดำเนินการได้ทันที หากมัวแต่ไปรอการแก้ไขกฎหมายสรรพากร ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยทีเดียว

จากนั้นจึงค่อย ๆ ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย มีหน้าที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วนำส่งให้กรมสรรพากร

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ด้วยการเขียนกฎหมายผูกกันไว้ จึงทำให้เกิดช่องว่างและเกิดความไม่เป็นธรรม ดังนั้นช่องทางที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการก็คือแยกภาษีทั้ง 2 ส่วนให้ชัดเจน

ถามว่า? การเก็บภาษีแวต กับสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท นั้น เกี่ยวข้องกับความพยายามในการหารายได้ของรัฐบาลหรือไม่?

แน่นอน…ยิ่งกว่าแช่แป้ง ซะอีก…ว่าเกี่ยวข้องกันแน่นอน ต่อให้อ้างเหตุผลว่าเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ รายย่อย ๆ ของไทย แม้เป็นรายได้ที่ไม่มากมายอะไรนักก็ตาม

มีการคาดการณ์กันว่า ในแต่ละปีมีการนำเข้าสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท เบื้องต้นก็น่าจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ราว ๆ 100 ล้านบาท

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ รายได้ของรัฐบาลกำลังหดหาย ด้วยเพราะกำลังซื้อในประเทศที่ลดน้อยถอยลง รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อลดภาระให้กับประชาชน ที่สำคัญยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องหยิบต้องยืม ต้องกู้อีกจำนวนไม่น้อย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หนทางใดที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลก็ต้องดำเนินการ แม้เป็นเพียงผลพลอยได้ก็ตามทีเถอะ

เอาเป็นว่า จะมีเหตุผลกลใดก็ตาม แต่อีกไม่นาน บรรดานักชอปปิงทั้งหลาย อาจต้องทำใจ เสียเงินเพิ่มอีก 7% ถ้าดอนท์แคร์ มีกำลัง ก็ไม่มีปัญหา แต่ก็เชื่อแน่ว่า… การเก็บแวตครั้งนี้ ก็น่าจะกระตุกความอยากได้ของนักช้อปไม่น้อยเหมือนกัน!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่