รัฐบาลลอนดอน ระบุว่า ผู้ขอลี้ภัยคนใดที่เข้ามาในสหราชอาณาจักร “อย่างผิดกฎหมาย” หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2565 จากประเทศที่ปลอดภัย เช่น ฝรั่งเศส อาจถูกส่งไปยังรวันดา และพวกเขาต้องดำเนินการขอลี้ภัยที่นั่น

หากสำเร็จ พวกเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และได้รับอนุญาตให้อยู่ในรวันดา แต่ถ้าไม่สำเร็จ พวกเขาสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอตั้งถิ่นฐานในรวันดาด้วยเหตุผลอื่น ๆ หรือขอลี้ภัยใน “ประเทศที่สามที่ปลอดภัย” ประเทศอื่นแทน อีกทั้งผู้ขอลี้ภัยไม่สามารถยื่นคำขอ เพื่อเดินทางกลับมายังสหราชอาณาจักรได้

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ผู้นำสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เที่ยวบินแรกของการส่งตัวผู้ขอลี้ภัย จะออกเดินทางในอีก 10-12 สัปดาห์ถัดจากนี้ ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายก่อนหน้าของรัฐบาล ที่จะส่งพวกเขาไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

แม้ซูแน็ก ไม่ได้ยืนยันว่า เที่ยวบินข้างต้นจะมีผู้ขอลี้ภัยทั้งหมดกี่คน แต่เขากล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะมีเที่ยวบินหลายเที่ยวต่อเดือน ในช่วงฤดูร้อนและหลังจากนั้น อีกทั้งรัฐบาลยังสั่งให้สนามบินเตรียมพร้อม และของเครื่องบินเช่าเหมาลำเชิงพาณิชย์แล้ว

ภายหลังศาลฎีกาสหราชอาณาจักร ตัดสินว่า แผนการข้างต้นผิดกฎหมาย รัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมายที่ทำให้กฎหมายสหราชอาณาจักรมีความชัดเจนว่า “รวันดาเป็นประเทศที่ปลอดภัย”

นอกจากนี้ รัฐบาลลอนดอน ยังลงนามในสนธิสัญญาการย้ายถิ่นฐานฉบับใหม่ ซึ่งนายเจมส์ เคลเวอร์ลี รมว.มหาดไทยของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวช่วยรับประกันว่า ผู้ขอลี้ภัยที่ถูกส่งไปยังรวันดา จะไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายรวันดาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากพรรคฝ่ายค้าน และองค์กรการกุศลหลายแห่งที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ลี้ภัย ซึ่งนายไมเคิล ทอมลินสัน รมว.การตอบโต้การอพยพอย่างผิดกฎหมาย คาดการณ์ว่า รัฐบาลจะเผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายในทุกด้าน ทั้งจากผู้ขอลี้ภัยรายบุคคลที่ยื่นอุทธรณ์ต่อการเนรเทศของพวกเขา และองค์กรผู้ลี้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ตามข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสหราชอาณาจักร รวันดาจะได้รับเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 370 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 17,000 ล้านบาท) จากสหราชอาณาจักร ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยสหราชอาณาจักร ได้จ่ายเงิน 240 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 11,000 ล้านบาท) ให้กับรวันดาแล้ว เมื่อช่วงสิ้นปี 2566

ก่อนหน้านี้ ซูแน็กกล่าวว่า แผนส่งผู้ขอลี้ภัยไปยังรวันดา จะช่วยประหยัดเงินของสหราชอาณาจักรหลายพันล้านปอนด์สเตอร์ลิงในระยะยาว กระนั้น รายงานของสภาสามัญ ในเดือน ต.ค. 2566 ระบุว่า ความล้มเหลวในการดำเนินการกับคำขอลี้ภัยอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจยอมรับได้ สำหรับผู้เสียภาษีชาวสหราชอาณาจักร.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP