จากรสชาติโดดเด่นมีเอกลักษณ์ทำให้ได้รับความนิยม…โดย “สับปะรดไทยไม่แพ้ใครในโลก!!ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดบรรจุกระป๋องอันดับต้นของโลก… และหนึ่งในสายพันธุ์ดัง ก็รวมถึง “สับปะรดภูแล” ที่นอกจากจะเป็น “พืชเฉพาะถิ่น” ยังเป็น“พืชเศรษฐกิจสำคัญ” โดยเฉพาะการ “ส่งออกในรูปแบบผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภค” ที่ในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยเลย อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสูง ทำให้สับปะรดจึงมีโอกาสเน่าเสียและสูญเสียคุณภาพได้ง่ายระหว่างขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญ ด้วยเหตุนี้ “ทีมนักวิจัยไทย” จึงพยายามแก้ปัญหานี้ให้กับ “สับปะรดภูแล” ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

กับการ ลดข้อจำกัด-เพิ่มโอกาส“
โดยการ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย“

เทคโนโลยี “ไมโครนาโนบับเบิ้ล“ นี่คือสิ่งที่ทีมนักวิจัยของไทยร่วมกันคิดค้นพัฒนาเพื่อหวังจะใช้ช่วยแก้ปัญหาให้กับการส่งออกสับปะรดภูแลของประเทศไทย โดยผลงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเทคโนโลยีที่เรียกชื่อว่า “ไมโครนาโน บับเบิ้ล“ นี้ได้ถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ยืดอายุรักษาคุณภาพ“ ให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรดภูแลตัดแต่งพร้อมบริโภค เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรชนิดนี้ของไทย

รายละเอียดผลงานนี้ รศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. หัวหน้าทีมนักวิจัย ให้ข้อมูลไว้ว่า… ในกระบวนการผลิตผักผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคนั้นต้องมั่นใจว่าสินค้าจะปลอดภัยจากการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่… การฉีก การหั่น การตัดแต่ง ที่ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมี โดยจะส่งผลทำให้ผักผลไม้ที่ผ่านขั้นตอนนี้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาในการนำเทคโนโลยี “ไมโครนาโนบับเบิ้ล” มาใช้เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพให้ “สับปะรดภูแล” ผ่าน “เครื่องล้างผักผลไม้ด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซไมโครนาโนบับเบิ้ล“ ที่เป็นผลงานพัฒนาของทีมนักวิจัยไทยจาก มจธ. กับ มฟล.

ผักผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคนั้นมักต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดบาดแผลซึ่งมีผลต่อการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและชีวเคมี โดยทำให้ผักผลไม้เกิดการเสื่อมสภาพที่เร็วขึ้น จึงส่งผลให้อายุการวางจำหน่ายผักและผลไม้เหล่านี้ลดลง ซึ่งส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกไปต่างประเทศ จึงเกิดแนวคิดนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน

“คุณสมบัติเด่น” ของ “ไมโครนาโนบับเบิ้ล“ นี้ ทาง รศ.ดร.ณัฐชัย ระบุไว้ว่าคือ…เป็นฟองอากาศที่มีขนาดเล็กมาก ๆ กับมี
ความคงตัวได้ดี ทำให้สามารถกระจายอยู่ในน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ประกอบกับฟองอากาศขนาดไมโครนาโนนี้มีพื้นที่ต่อปริมาตรสูง จึงช่วย เพิ่มความสามารถในการละลายสารที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดี เช่น สารประกอบคลอรีน ก๊าซโอโซน ที่ผู้ประกอบการใส่ลงไปในน้ำล้าง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการล้างทำความสะอาด กับช่วยลดการใช้สารเคมี และลดการสิ้นเปลืองน้ำที่ใช้ล้างผักและผลไม้ที่ตัดแต่งอีกด้วย …นี่เป็น “จุดเด่น” ของเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับสับปะรดภูแล

ทั้งนี้ เดิมทีผู้ประกอบการนิยมใช้วิธีล้างด้วยน้ำใส่สารคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อให้กับสับปะรดภูแลตัดแต่ง แต่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อยังไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งต้องใช้น้ำปริมาณมาก ทำให้สิ้นเปลืองต้นทุน แต่เมื่อ ใช้เทคโนโลยีที่เป็นวิธีใช้ฟองอากาศไมโครนาโนบับเบิ้ลในกระบวนการล้าง นอกจากจะช่วยนำสิ่งสกปรกที่ติดบนพื้นผิวผัก
ผลไม้ให้หลุดลอยออกมาได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
ให้สารฆ่าเชื้อที่ใส่ลงไปได้มากกว่าวิธีการเดิม จึงช่วยลดอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญเทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายอีกด้วย เช่น ด้านการเกษตร ด้านประมง

ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงปลาในระบบปิดที่มีความหนาแน่นของปลาสูง ซึ่งปกติจะใช้วิธีปั๊มออกซิเจนเข้าไป แต่ถ้าประสิทธิภาพไม่พอก็อาจทำให้ปลาตายเพราะออกซิเจนไม่พอ จึงมีการนำไมโครนาโนบับเบิ้ลไปใช้เพิ่มความสามารถในการละลายก๊าซออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนอยู่ในน้ำได้นาน และมีปริมาณสูงกว่าฟองอากาศทั่วไป ปลาจึงเติบโตได้ดี และลดการสูญเสียได้มากขึ้น” …เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ ที่หัวหน้าทีมวิจัยนี้ให้ข้อมูลไว้

พร้อมระบุไว้อีกว่า… “ประโยชน์“ ของ “ไมโครนาโนบับเบิ้ล“ นี้มีหลายด้าน ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต, ลดการใช้แรงงาน, ลดเวลาการล้าง, ลดปริมาณการใช้น้ำ รวมถึงลดการใช้สารเคมีลงครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไมโครนาโนบับเบิ้ลจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันใครก็สร้างหรือซื้อเครื่องจากต่างประเทศได้ เพียงแต่ก็ต้องรู้วิธีใช้ว่าควรใช้กับผักผลไม้อะไร ต้องใช้สารเคมีอะไร ควรล้างเป็นเวลานานเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำลายคุณภาพของผักผลไม้

“องค์ความรู้เทคโนโลยีนี้ทีมวิจัยศึกษามามากกว่า 10 ปี จึงมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดให้หน่วยงานและผู้ที่สนใจได้นำไปปรับใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการและสินค้าเกษตรของไทยได้อย่างมาก“ …ทาง รศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ ระบุถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำ “เทคโนโลยีล้างผักผลไม้ด้วยฟองอากาศ“ นี้ไปใช้…

เพื่อ ลดสูญเสียในขั้นตอนการผลิต
และ เพิ่มโอกาส” สินค้าเกษตรไทย
ก็ ดังเช่นสับปะรดภูแล” ที่โด่งดัง.