การวิจัยพัฒนาของวัคซีนไทย ยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อรับมือในอนาคตของ เชื้อโควิดฯ กลายพันธุ์ ก่อนหน้านี้ ทีมข่าว 1/4 Special Report ตามเกาะติด สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวิจัยผลิต วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA จนประสบความสำเร็จ ฉีดทดลองให้กับอาสาสมัคร ไปแล้วระยะ 1-2

วัคซีนทางเลือกทดลองฉีดเฟสแรก

ขณะเดียวกันก็ยังมีการผลิต วัคซีนจากโปรตีนใบยาสูบชนิดพิเศษ พัฒนาโดย บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์มฯ บริษัทสตาร์ท ที่ก่อตั้ง       โดย นักวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิจัยนำ ใบยาสูบ ที่นำมาสกัดสารสำคัญ เพื่อนำไปผลิตเป็นวัคซีนป้องกัน   โควิด-19 ที่คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยไทย ขณะนี้เริ่มทดลองในอาสาสมัคร ที่สำคัญเน้นเอาไว้รับมือเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะ จึงนับเป็นอีกความหวังในอนาคตหากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่อาจจะกลับมารุนแรง

ภญ.ภัสร์สร สุวัฒน์ศรีสกุล โปรเจคท์เมเนเจอร์โครงการวัคซีนของใบยา เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้ทำการทดลองในมนุษย์ไปแล้วระยะ     ที่ 1 โดยทีมงานต้องการตรวจสอบถึงความปลอดภัยของวัคซีนในมนุษย์ ก่อนระยะที่ 2 จะเน้นการดูถึงการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อจะได้คัดเลือกว่าควรจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด สำหรับการทดลองวัคซีน ระยะแรก ที่ฉีดในอาสาสมัคร 48 คน จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครจำนวนน้อย เพื่อป้องกันหากมีผลข้างเคียงจะได้ควบคุมและดูแลได้ทั่วถึง ซึ่งจากการเปิดรับอาสาสมัครที่เต็มภายใน 15 นาที เป็นผลมาจากความสนใจของประชาชน ที่เชื่อมั่นนักวิทยาศาสตร์ของไทยมากขึ้น เลยมีคนสมัครเข้ามาอย่างรวดเร็ว

“ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ เข้ามาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น และผลวิจัยของเราก็มีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ต่างประเทศ และวัคซีนโควิดโนวาแวกซ์   (Novavax) ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับเราในการผลิต ก็มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เลยทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น”

ทดลองได้ผลดีไว้รับมือเชื้อกลายพันธุ์

ภญ.ภัสร์สรกล่าวต่อว่า จากการทดลองระยะแรก ที่ได้ผลดีในมนุษย์เราก็เตรียมที่จะนำเอกสารยื่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจะเร่งทำการทดลองต่อในอาสาสมัคร ระยะที่ 2 เพราะที่ผ่านมาเราค่อนข้างเสียเวลาไปกับการเตรียมโรงงานที่ใช้ผลิต เพราะต้องยื่นเอกสารต่าง ๆ แต่หลังจากนี้ โรงงานผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รอเพียงผลวิจัย หากมีการรับรองว่าได้ผล เราสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้ทันที โรงงานผลิตวัคซีนของเราตอนนี้มีกำลังการ ผลิตวัคซีนได้ 5 ล้านโด๊ส/เดือน เพราะเทคนิคการผลิตวัคซีน ที่ได้จากใบยาสูบ ถ้าเราต้องการที่จะผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้น ก็แค่ปลูกใบยาสูบเพิ่ม เช่น จากที่ปลูก 10,000 ต้น เพิ่มเป็น 100,000 ต้น ก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ในการปลูกเพิ่มมากนัก แต่จะได้ปริมาณวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า นี่จึงเป็นข้อดีของวัคซีนที่ได้จากใบยาสูบ

สำหรับกระบวนการผลิตในการทดลองอาสาสมัคร ระยะแรก ถือว่ายังมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก แต่ถ้าหากทดลองประสบความสำเร็จ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้ผลิตได้มากขึ้น และต้องปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อ      โควิดชนิดใหม่ ๆ แต่การทดลองยังมีข้อกำหนดว่า การทดลองในอาสาสมัครต้องมีผลการรับรองว่า กระตุ้นได้ผลดีทั้งหมด 3 ระยะ แล้วค่อย ๆ เก็บข้อมูลพัฒนาต่อไปได้ เพราะอย่างไฟเซอร์เก็บข้อมูลในเฟสที่ 3 อยู่ แต่ก็ประกาศให้ใช้ได้แล้วในมนุษย์ โดยปกติวัคซีนที่ฉีดในมนุษย์จะมีการทดลองกันเป็น 10 ปี

         สำหรับใบยา ทีมงานพยายามเร่งทำการวิจัย และพูดคุยกับทาง อย. อยู่เรื่อย ๆ ว่าถ้าเฟส 1 ได้ผลดีในมนุษย์ เราจะทำเฟส 2A และเฟส 2B ซึ่งถ้าจบเฟส 2 ได้ผลดี อาจมีการร้องขอเพื่อให้ฉีดได้ในมนุษย์อย่างเป็นทางการ สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตคือ คนที่จะเป็นอาสาสมัคร จะต้องมีร่างกายแข็งแรง และไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้เริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ เลยเป็นอีกข้อจำกัดงานวิจัย เราเลยมาคิดว่าอาจจะมีการทดลองในเข็มที่เป็นบูสเตอร์โด๊ส เพราะวันนี้เราไม่ได้มองว่าวัคซีนเราจะเป็นเข็มแรก แต่อาจจะมีการปรับแผนเป็นวัคซีนกระตุ้น ในเข็ม 3

อุปสรรคต้นทุนค่าใช้จ่ายวิจัยยังสูง

ในการวิจัยวัคซีน ตอนนี้ทุนทรัพย์ในการวิจัยยังเป็นเรื่องสำคัญที่ยังขาด แคลน จึงควรมี “กองทุนกลาง” ที่ให้ทีมวิจัยวัคซีนโควิด ที่มีหลายทีมทำอยู่ได้เบิกจ่าย เพราะตอนนี้ปัญหาสำคัญคือ การเบิกจ่ายเงินสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ การทดลองในเฟสที่ผ่านมาเราได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากภาครัฐ แต่ก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ถ้ามีกองทุนตรงกลาง ที่ไม่จำเป็นว่าหน่วยงานที่ทดลองวัคซีนจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น และสามารถดำเนินการได้ง่าย จะทำให้กระบวนการวิจัยที่มีอยู่ในหลาย ๆ ทีมทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะการวิจัยวัคซีนค่อนข้างใช้ทุนสูง

“ทุนในการวิจัยวัคซีนใบยาตอนนี้เมื่อถึงการทดลองในเฟส 1 ต้องใช้เงินกว่า  160 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างโรงงาน เครื่องจักรการผลิต และสารเคมีในการผลิตวัคซีน คาดว่าถ้ามีการทดลองเฟส 2 จะต้องใช้เงินในการวิจัยอีก 500–600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการทดลองที่แพงส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีที่ใช้ผลิตยา ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่การทดสอบก่อนที่จะไปฉีดในมนุษย์ได้จะต้องไปทดลองฉีดในลิง และหนูทดลอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจจริง ๆ”

ภญ.ภัสร์สรกล่าวทิ้งท้ายว่า  ตอนนี้ทุนทรัพย์ในการทดลองในเฟสที่ 2 ได้ยื่นเรื่องขอทุนไปที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแล้ว ส่วนทุนการทดลองในเฟสที่ 3 ทางทีมจะมีการวางแผนต่อไป สำหรับคนที่คอยติดตามและให้ความช่วยเหลือ เราต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมาก ส่วนความคาดหวังอยากจะบอกทุกคนว่า เมื่อวัคซีนของเราได้รับการฉีดเข้าในมนุษย์และได้ผลดีแล้ว การมีโควิดหรือโรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคตเราจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้เร็วขึ้น วันนี้เรามองว่า โควิด เป็นประตูเปิดทางให้ทีมวิจัยไทยได้พิสูจน์ว่า สามารถผลิตวัคซีนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ

คาดปี 65 คนไทยได้ใช้

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์มฯ เปิดเผว่า วัคซีนใบยา ขณะนี้    อยู่ระหว่างการทดสอบในคลินิก ซึ่งเมื่อเดือน ก.พ. ได้วัคซีนต้นแบบและทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งความปลอดภัย ความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทดสอบหลังปรับเปลี่ยนสูตรวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาได้นานอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นทดสอบความเป็นพิษ และความสามารถกระตุ้นภูมิระยะยาว โดยการทดสอบในลิงผลค่อนข้างดีส่วนเรื่องการผลิตนั้น ได้มีการออกแบบโรงงานผลิตของใบยา โดยใช้เวลา 10 เดือน ทีมวิจัยของเรายังพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่นหน้า โดยปรับเปลี่ยนสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น

ขณะนี้จะเข้าการทดสอบอาสาสมัคร คาดว่า ผลของกลุ่มแรก คือ อาสาสมัครกลุ่มอายุ 18-65 ปี จะเป็นผลให้ตัดสินใจว่า จะเอาวัคซีนรุ่นหน้าเข้าทดสอบต่อไป คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะเป็นอีกวัคซีนที่นำไปใช้ให้กับคนไทย.