สวัสดีจ้า “Campus Life” สัปดาห์นี้ พาไปดูแนวคิด “สิงห์” สุรพรชัย ธรรมศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัล Best Survivors Award ของมูลนิธิเอสซีจี ที่มอบรางวัลนี้ให้กับเยาวชนไทยที่เข้าใจแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์การดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดด้วยการใช้ทักษะรอบตัวในการเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ รวมทั้งการนำความรักความชอบหรือความถนัดมาต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

“สิงห์” เล่าว่า ตัดสินใจมาศึกษาต่อในสาขาวิชากายอุปกรณ์ เพราะต้องการเป็นนักกายอุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งได้ค้นพบตัวเองหลังจากการเข้าร่วมทำนวัตกรรมกับเพื่อนตอนสมัยเรียนมัธยม เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนากล้ามเนื้อของกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรง และได้มีโอกาสนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปร่วมแข่งขันในหลายๆเวที ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ และใกล้ชิดกับผู้พิการมากขึ้น ทั้งได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆของต่างประเทศ จึงทำให้เห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เพราะจากการที่ได้ลองทำ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตนเอง เกิดความชื่นชอบในสิ่งที่ทำ จึงตัดสินใจเลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักกายอุปกรณ์ ยืนยันว่า หากเรารู้จักตัวเองได้เร็วมากเท่าไร ยิ่งได้เปรียบคนอื่นมากเท่านั้น เพราะเราจะรู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มเติม พัฒนาทั้งทักษะชีวิต Soft Skill และทักษะวิชาชีพ Hard Skill เพื่อเตรียมความพร้อมต่อโอกาสที่เข้ามาทุกเมื่อ

“สิงห์” บอกอีกว่า มุ่งมั่นที่อยากเป็นนักกายอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ทั้งกายอุปกรณ์เสริม และกายอุปกรณ์เทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตผู้พิการ และอาชีพกายอุปกรณ์ให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าอาชีพนักกายอุปกรณ์คืออะไร ทำอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไรกับผู้พิการและคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีโอกาสถ่ายทอดความเป็นนักกายอุปกรณ์ในหลายๆครั้งผ่านเวทีต่างๆ เพื่อเป้าหมายของการทำให้อาชีพนักกายอุปกรณ์เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น

“ผมได้รับเลือกเป็นทูตเยาวชนโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (Young Thai Science Ambassador: YTSA) รุ่นที่ 18 จึงมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของนักกายอุปกรณ์และความสำคัญของอาชีพนักกายอุปกรณ์ที่มีต่อผู้พิการในหัวข้อ วิทยาศาสตร์ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมผ่าน Podcast ทั้งได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนของนักศึกษากายอุปกรณ์ขึ้นพูดเกี่ยวกับอนาคตของนักกายอุปกรณ์ ในกิจกรรม Ted talk ในงานกายอุปกรณ์ศิริราช เชื่อมใจใกล้ตัวเราด้วย” “สิงห์” กล่าว

ขณะนี้ “สิงห์” อยู่ในระหว่างการร่วมกับเพื่อนๆ และอาจารย์ในกลุ่มวิจัยในชั้นเรียนต่อยอดกับนวัตกรรมใหม่ คือ การพัฒนาแผ่นรองเท้าสำหรับคนที่มีภาวะเท้าแบนทั้งคนพิการและคนปกติทั่วไป เป็นแผ่นรองเท้าที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาภาวะเท้าแบน โดยวัสดุที่นำมาใช้มีคุณสมบัติในการกระจายน้ำหนัก และมีความคงทน ทำให้มีอายุการใช้งานที่นานกว่า ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้ ทั้งยังอยู่ระหว่างการรอผลการเข้าร่วมทีมในการพัฒนาบอร์ดเกมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับกายอุปกรณ์ร่วมกับรุ่นพี่และอาจารย์เพื่อเตรียมเข้าแข่งขันในรายการ The 4th Global Educators Meeting :GEM ซึ่งเป็นงานประชุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของอาชีพนักกายอุปกรณ์ จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา

หนุ่ม “สิงห์” คนนี้ นับเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชม ที่ค้นพบตัวเองได้เร็ว และตั้งมั่นเดินหน้าตามความตั้งใจ ตามแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ได้อย่างแท้จริง