จากนี้เหลือเวลา 3 สัปดาห์ ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูโร 2024 ที่ 4 ปีมีครั้งก็จะได้ฤกษ์หวดกันสนั่น โดยมีเยอรมนีรับหน้าที่เจ้าภาพระหว่าง 14 มิ.ย.-14 ก.ค. 67

แม้ในความเป็นจริง “ยูโร” จะมีเฉพาะทีมในยุโรป ขณะที่ชาวไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าในบรรดาศึกชิงแชมป์ทวีปต่างๆ ทวีปยุโรปอุดมด้วยทีมชั้นนำมากกว่าใครเพื่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้แฟนบอลชาวไทยจำนวนมากกระหายตั้งตารอชม

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ คำถามว่าที่เราจะได้ดูการแข่งขันทางช่องทางไหนนั้น? คำตอบก็ยังเงียบกริบ … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ก่อนอื่นต้องเท้าความว่า ยูโร ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎมัสต์ แฮฟ มัสต์ แคร์รี ของกสทช. รวมทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย ดังนั้นกกท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องไปดำเนินการเอาเอง

แต่ดูเหมือนยังไม่มีเอกชนไหนที่สนใจจริงจัง ย้อนไปยูโร 2020 คนไทยก็เกือบไม่ได้ดูมาแล้ว กระทั่ง Aerosoft ยอมทุ่มเงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 300 กว่าล้านบาทเข้ามาเป็นอัศวินขี่ม้าขาวช่วยให้แฟนบอลสมหวัง

สาเหตุที่เอกชนไม่สนใจซื้อลิขสิทธิ์นั้นมีหลายเหตุผล อย่างแรกเป็นเรื่องของราคาแพงระยับที่ว่ากันว่าอาจถึงพันล้านบาท ยิ่งในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง เอกชนดีดลูกคิดรางแก้วแล้วคิดได้อย่างเดียวว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

เวลาแข่งนั้นตรงกับเวลานอนของคนส่วนใหญ่ โดยมีแค่ 7 แมตช์ในรอบแรกที่เตะ 2 ทุ่ม นอกนั้นเตะเวลา 5 ทุ่มกับตี 2 ยิ่งพอตั้งแต่รอบ 16 ทีมสุดท้ายมีแข่งแค่ 5 ทุ่มกับตี 2 จึงไม่คาดกันว่าจะมีคนดูมากนัก และการจะหารายได้จากโฆษณามาชดเชยยิ่งกลายเป็นเรื่องยาก

ที่สำคัญมีคนไทยจำนวนมากที่ยังนิยมดู “เถื่อน” หรือที่เรียกกันว่า “ช่องทางธรรมชาติ” ทางเพจเถื่อนต่างๆ ที่ลักลอบเกี่ยวสัญญาณเจ้าของลิขสิทธิ์มาแบบผิดกฎหมาย แถมยังใส่โลโก้โฆษณาเว็บพนันของตนเอง ซึ่งช่องทางเถื่อนก็มียอดวิวมากกว่าช่องทางถูกลิขสิทธิ์หลายสิบเท่า

เอกชนย่อมรู้ดีว่าต่อให้ซื้อมาแพงก็จะมีคนกลุ่มใหญ่ที่รอดูแต่ของเถื่อน จะมีคนมากแค่ไหนที่ยอมจ่ายเงินซื้อดูอย่างถูกต้อง? รับรองว่าไม่มากกว่าคนรอดูเถื่อนแน่นอน

หลายคนไม่เคยตระหนักว่าการอุดหนุนของผิดกฎหมาย สักวันก็จะไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ เมื่อนั้นต่อให้อยากดูแค่ไหนมันก็ไม่มีให้ดู แล้วสุดท้ายจะโทษใครได้ ก็ต้องโทษตัวเองนั่นแหละ.
เฮียเอง