ทีมข่าว “1/4  Special Report” มีโอกาสคุยกับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 54 โดยนายปลอดประสพยืนยันว่าน้ำปี 54 มากกว่าน้ำปี 64 ถึง 5 เท่า ถ้าพูดให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ 1. ปี 64 เพิ่งมีพายุเข้ามาลูกเดียว แต่ปี 54 มีพายุเข้ามา 5 ลูก โดย 2 ลูกแรกมาก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2.ปีนี้มีร่องฝน 1 เดือน แต่ปี 54 มีร่องฝนยาว 6 เดือน

3.ในปี 54 มีน้ำไหลผ่านจุดวัดปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ สูงสุด 4,000 กว่าลบ.ม./วินาที จนเขื่อนชั่วคราวแตก น้ำทะลักเข้าท่วมตัวเมืองนครสวรรค์ แต่ปี 64 ยังไม่ถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปี 54 สูงสุดมีน้ำไหลผ่าน 4,300-4,500 ลบ.ม./วินาที แต่ปีนี้สูงสุดมีวันเดียว 2,700 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันเหลือประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที

4.วันที่ 5 ต.ค.64 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เพิ่งมีน้ำอยู่ครึ่งเขื่อน แต่เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 ทั้งสองเขื่อนมีน้ำ 97% และ 99% จึงต้องระบายลงสู่ภาคกลาง และการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักฯ รวมกันแล้ว 3 เขื่อน ระบายน้ำลงมามากกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. และ 5. ปี 54 มวลน้ำมาถึงกรุงเทพฯเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลสูงสุด จึงระบายน้ำได้ช้ามาก ต่างจากปีนี้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่หน้าบ้านของตนที่อ.เมืองนนทบุรี ไหลเชี่ยวมาก เนื่องจากวันที่ 4 ต.ค.64 น้ำทะเลหนุนแค่ 50 ซม. แต่เดือนพ.ย.54 น้ำทะเลหนุนถึง 130 ซม. แปลว่าน้ำทะเลที่ดันขึ้นมาแตกต่างกันถึง 80 ซม. น้ำในปี 54 จึงระบายไม่ได้

ถ้าน้ำมากเหมือนปี 54 คุณตายสนิท!

ดังนั้นปีนี้จึงควรระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วกว่าปี 54 แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับระบายน้ำได้ช้ากว่าปี 54 เยอะเลย นี่ถ้าน้ำมากเหมือนปี 54 คุณตายสนิท เนื่องจากรัฐบาลดูแลและบริหารจัดการไม่ดี ทั้งที่เราเคยมีบทเรียนครั้งใหญ่เมื่อปี 54 ผ่านมา 10 ปี มีการสร้างถนนในฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นมาก แต่คุณไม่ทำร่องน้ำให้เพียงพอ ทั้งที่มีตึกแถวขึ้นมามากมาย มีการถมดินหลายพันแปลง มีการสร้างสะพานที่มีตอม่อ

โดยปี 54 เจอทั้งตอม่อ พอสร้างเสร็จแล้วผู้รับเหมาไม่ยอมรื้อนั่งร้านเกะกะไปหมด แต่ปี 64 ระบายน้ำช้าเข้าไปอีก ทั้งที่น้ำมีไม่มาก อันนี้คือความผิดพลาดของผู้บริหาร อย่ามาบ่นอะไรทั้งสิ้น นอกจากนี้สมัยก่อนการระบายน้ำเข้าทุ่งซ้าย-ขวา เราให้ระดับกรม ระดับหัวหน้าโครงการชลประทาน หรือผอ.สำนักชลประทาน เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะมีสูตรอยู่แล้ว แต่ปีนี้เอะอะเข้ากรรมการชุดใหญ่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเจ้าหน้าที่ชลประทานมาที่บ้าน แล้วบ่นให้ฟังว่าจะระบายน้ำเข้าทุ่ง ยังต้องรอเข้าคณะกรรมการก่อน โดย 2 ทุ่งตอนนี้ยังไม่ประชุมเลย แบบนี้ก็ตายสิ คุณจะรวบอำนาจกันไว้ทำไม?

ปกติระดับผอ.สำนักชลประทาน สามารถตัดสินใจได้ เพราะเขามีกรรมการในระดับจังหวัดประชุมกันอยู่ แล้วมีโทรมาตร ดีนะหลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 โทรมาตรก็ติดตั้งในสมัยตนเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเขื่อนริมแม่น้ำ เรือดันน้ำของกองทัพเรือ และการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือไว้ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังนั้นถ้าพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯในปี 54 แล้วยังบริหารแบบนี้ คนไทยคงตายกันค่อนประเทศ

นายปลอดประสพกล่าวต่อไปว่าหลังจากปี 54 ยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ลบสถิติปี 54 คือน้ำท่วมใน จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี 56 ตอนนั้นยังพาพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นรถไปดูน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี (บางปะกง) และแม่น้ำนครนายก เพราะฝนตกหนักในรอบ 50 ปีของปราจีนบุรี และมีน้ำจากประเทศกัมพูชาไหลเข้ามาด้วย จึงท่วมหนักที่ปราจีนบุรี 2 รอบ

ประยุทธ์ไม่จำบทเรียนน้ำท่วมปี 54-56

พูดง่าย ๆ ว่าพล.อ.ประยุทธ์เคยเจอน้ำท่วมใหญ่มาแล้วทั้งปี 54 และปี 56 เคยเจอบทเรียนมาแล้ว แต่ยังปล่อยให้น้ำท่วมหนักทุกปี เช่นปีนี้ที่ จ.ลพบุรี ปล่อยให้ท่วมได้อย่างไร ทั้งที่มีฝนตกธรรมดา ๆ ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ ยกโทษให้ เพราะตอนพายุมา มีร่องความกดอากาศยาวพาดผ่านพื้นที่ แล้วเพชรบูรณ์และชัยภูมิเป็นต้นแม่น้ำชี เมื่อฝนตกมาก ๆ จึงไหลล้นแม่น้ำชีท่วมพื้นที่ชัยภูมิ และนครราชสีมา ซึ่งอันที่จริง ณ วันนี้ข้อมูลเส้นทางน้ำของชัยภูมิต้องแม่น ต้องมีการเตือนภัยแบบรายอำเภอ ต้องรู้ว่าก้อนน้ำปริมาณเท่าไหร่ จะไหลไปทางไหน แต่ปัจจุบันกลับไม่มีการเตือนภัย จึงเดือดร้อนกันหมด

“ตอนปี 54 ไปตระเวนดูน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แค่ช่วง 2-3 ชั่วโมงน้ำมาเร็ว โดยเฉพาะน้ำทุ่งบริหารยากกว่าน้ำในลำน้ำ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ ไม่มีประตูระบายน้ำควบคุม เมื่อเห็นสภาพแบบนั้นจึงรู้ว่ากรุงเทพฯไม่รอด ทุ่งรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่วมแน่ พอแถลงข่าวว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯก็มีทั้งคนชม ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็ด่า เพราะทำให้ชาวบ้านตกใจ แต่ผมเห็นสภาพน้ำมาอย่างไรจึงต้องพูดไปแบบนั้น ดีกว่าปล่อยให้เหตุมันเกิดก่อน แล้วเราไม่ได้พูดอะไร”

หลังจากน้ำลดแล้วก็เข้าสู่การซ่อมสร้างและเยียวยา โดยรัฐบาลกับนิคมอุตสาหกรรมออกเงินกันคนละครึ่งเพื่อสร้างคันกั้นน้ำ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯไปคุยกับญี่ปุ่นว่าเรามีมาตรการช่วยเหลือนักลงทุนอย่างไรบ้าง เมื่อช่วยนิคมฯ-โรงงาน ก็ช่วยเหลือเป็นรายครอบครัวซึ่งหนักมาก น้ำท่วมครั้งเดียวเสียหาย 3 แสนล้านบาท จึงคิดทำเมกะโปรเจคท์ขึ้นมา คือ โครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย

โครงการดังกล่าวได้รับข้อมูลข้อเสนอแนะมาจาก 3 ส่วน คือ 1. กรมชลประทาน มีความคิดหรือมีโครงการอะไรที่ยังไม่ได้ทำอยู่ในกระเป๋าบ้าง รวมทั้งโครงการพระราชดำริ 2.ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น เกษตรศาสตร์ และขอนแก่น ลงมาช่วยคิดโครงการกันอย่างเต็มที่ และ 3. ข้อมูลและโครงการจากฝ่ายการเมือง

หลังจากนั้นจึงเอาข้อมูลจาก 3 ส่วนนี้มารวมกันได้เป็น “ทีโออาร์” โดยบริษัทที่ปรึกษาก่อสร้างต้องจอยกับผู้รับเหมา ไม่ใช่ไปทะเลาะกันกลางทางเพราะสร้างไม่ได้ตามแบบ ดังนั้นจึงต้องไปจับกลุ่มกันมาร่วมประมูล โดยมีบริษัทของคนไทยร่วมอยู่ทุกกลุ่ม ประมูลกันแค่ 2.4 แสนล้านบาท (6โมดูล) ช่วยประหยัดงบที่มีอยู่ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินที่เหลือตั้งใจว่าจะให้เป็นทุนสำหรับผู้ที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ 300-400 ทุน และไปศึกษาดูงานอีกนับพันคน แล้วกลับมาทำงานในกระทรวงน้ำ เพราะน้ำเป็นปัญหาใหญ่ ควรตั้งเป็นกระทรวง โดยโอนย้ายกรมและข้าราชการกรมอื่น ๆ มาอยู่กระทรวงน้ำ

6 โมดูลเอามาทำต่อได้ ไม่มีใครหวง

แต่โปรเจคท์นี้สะดุดไป ทั้งที่ประมูลแล้วแต่ยังไม่ลงนาม เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกล้มเสียก่อน ถ้าไม่ถูกล้ม ทั้ง 6 โมดูลเสร็จแล้ว เพราะใช้เวลา 5 ปี มีโครงการหลายจังหวัด ทั้งฟลัดเวย์ เขื่อนกั้นพื้นที่ กั้นแม่น้ำ แก้มลิง การขยายคลองลัด และสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้าไม่มีเขื่อนในลุ่มน้ำยม เราจะบริหารมวลน้ำปีละ 6,000 ล้านลบ.ม.ได้อย่างไร นี่คือปัญหาใหญ่

“เขื่อนแม่วงก์ก็ต้องสร้าง ไม่เช่นนั้นน้ำจะทะลักลงไปลุ่มน้ำสะแกกรัง ส่วนจ.ชัยภูมิ มีโครงการ 2 เขื่อน ขนาด 4,000-5,000 ล้านลบ.ม. ใครมาเป็นรัฐบาลต้องกล้าสร้างเขื่อนในจังหวัดที่อยู่ต้นน้ำ ถูกด่าบ้างไม่เป็นไร บางทีผมก็อายตัวเอง เพราะตอนเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เคยคัดค้านการสร้างเขื่อน แต่เมื่อมาเป็นรองนายกฯ และเป็นประธานกบอ. มันเห็นภาพใหญ่รอบด้านมากกว่านั้น ต้องมองข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบกับคนส่วนใหญ่มากกว่าตอนที่เป็นอธิบดีกรมป่าไม้”

แต่ผ่านมา 7 ปี ถูกใช้งานไปแค่ 2 โมดูล เกี่ยวกับคลังข้อมูล และโครงการบางบาล-บางไทร ซึ่งไม่สมบูรณ์แต่แพงมากถึง 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนโมดูลอื่น ๆ ยังไม่ได้ใช้งานเลย เพราะรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์เอาแต่ขุดลอกคูคลอง บอกตามตรงว่าเสียดาย 6 โมดูลที่หลายฝ่ายคิดกันไว้ นี่คือมรดกของชาติที่สามารถเอาไปทำต่อได้ ไม่มีใครหวง

อย่าลืมว่ารัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอดีตปลัดกระทรวงถึง 6 คน มีอดีตอัยการสูงสุด อดีตผบ.ตร. อดีตผู้ช่วยผบ.ทอ. คนเหล่านี้เขาถูกหล่อหลอมด้วยประสบการณ์การทำงานมานาน จึงมีองค์ความรู้ แตกต่างจากรัฐบาลนี้มีแต่รัฐมนตรีคนหนุ่ม-สาวนักการเมือง ประสบการณ์น้อยกว่า กึ๋นจึงต่างกัน ยิ่งมาอยู่กับผู้นำไม่เก่งและโลเล เมื่อถึงเวลาพล.อ.ประยุทธ์ก็เด็ดขาดไม่จริง เพราะไม่มีองค์ความรู้พอที่จะเด็ดขาด ส่วนลูกน้องรอบ ๆ ตัวก็ไม่เก่ง ปัญหาน้ำท่วมจึงซ้ำซากทุกปี

ถ้าให้คาดการณ์อีก 15-30 วันหลังจากนี้ ฝนจะเริ่มตกหนักในภาคใต้ ตั้งแต่จ.เพชรบุรีเรื่อยลงไป น้ำจะท่วมภาคใต้เหมือนทุกปี เพราะมีถนน และทางรถไฟในแนวเหนือ-ใต้มากั้นน้ำไว้พล.อ.ประยุทธ์เตรียมการรับมือหรือยัง

6 โมดูลยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

1. การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก 2. การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ และเหนือจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว

4. การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน 5. การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway)  หรือทางผันน้ำขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อมกัน และ 6. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ.