ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามข้อกฎหมายคู่สมรสควรรู้ ลดความเบาะแว้ง จากกันด้วยดี กับนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า หญิงและชายที่รักชอบกันอยู่กินด้วยกันโดยมีการจดทะเบียนสมรสถือว่าเป็นคู่สมรสชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อมีเหตุให้อยากเลิกราอย่างถูกต้อง มีผลทางกฎหมายก็คือ “การหย่า” ตราบใดที่ยังไม่มีการหย่า หรือศาลพิพากษาให้หย่า สถานะก็ยังเป็นคู่สมรสกันอยู่

สำหรับการหย่าทำได้สองกรณีคือ หย่าด้วยความ“สมัครใจ”ทั้งสองฝ่าย ค่อนข้างง่าย เพียงไปที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตแล้วจดทะเบียนหย่า แต่กรณีมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากหย่า แต่อีกฝ่าย“ไม่เต็มใจ”ต้องไปฟ้องร้องศาลเยาวชนและครอบครัว ให้พิจารณาพิพากษา

อย่างไรก็ตาม จู่ๆจะไปฟ้องศาลว่าไม่อยากอยู่กับอีกฝ่าย ไม่รักเแล้ว ศาลไม่สามารถทำเรื่องฟ้องหย่าได้ เพราะตามกฎหมายต้อง“มีเหตุ”โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1516 กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้ 10 กรณี ได้แก่

1.อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณี กับผู้อื่นเป็นอาจิณ

2.ประพฤติชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข)ได้รับความดูถูกเกลียดชัง

(ค)ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร

3.ทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหรือบุพการีอีกฝ่าย

4.จงใจละทิ้งร้างเกิน 1 ปี การละทิ้งร้าง หมายถึง การแยกกันอยู่ต่างหาก โดยหมดรักหมดอาลัยใยดีต่อกัน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ปี จึงจะเป็นเหตุฟ้องหย่า โดย 1 ปีนี้ไม่ใช่อายุความเพราะอายุความยังไม่เริ่มนับ

(4/1) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อ หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร

(4/2) สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน3ปี

5.ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน3ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดี

6.ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควร หรือเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรง

7.วิกลจริตตลอดมาเกิน3ปี และมีลักษณะยากจะหาย กับทั้งถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันไม่ได้

8.ผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ

9.เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้

10.มีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

เพียงอีกฝ่ายที่เราต้องการหย่า เข้าข่าย“ข้อใดข้อหนึ่ง”หรือ“มากกว่าหนึ่งข้อ”สามารถฟ้องหย่าได้ แต่มีบางกรณีฟ้องไม่ได้ เช่น มาตรา 1516 (1)(2) หากได้รับการยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทํา (8)ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติอันเป็นเหตุให้ทําทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อย หรือไม่สําคัญแก่การอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข (10)ที่สภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล เกิดจากการกระทำอีกฝ่าย

ประเด็น“ทรัพย์สิน”เรื่องครอบครัวมี 2ประเภท คือ “สินส่วนตัว”เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนแต่งงาน และ“สินสมรส” เป็นทรัพย์สินได้มาระหว่างสมรส เมื่อเวลาแบ่งกันตามกฎหมายต้องได้คนละครึ่ง เว้นแต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้แล้ว ไม่ระบุให้เป็นสินสมรส ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของคนนั้น

ยกตัวอย่าง บิดาของฝ่ายชายไปจดทะเบียนยกที่ดินให้แล้วไม่ระบุในนิติกรรมว่าประสงค์เป็นสินสมรส ที่ดินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวแม้ได้มาระหว่างสมรสก็ตาม แต่ถ้าบิดาฝ่ายชายระบุประสงค์ยกให้เป็นสินสมรส ภรรยาถึงจะมีสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม หลังจดทะเบียนสมรสไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีชื่อเป็นของฝ่ายใด แต่ถ้าได้มาโดยการซื้อขายระหว่างสมรส กฎหมายถือเป็น“สินสมรส”แม้จะมีชื่อฝ่ายเดียว อย่างอาคารพาณิชย์ รถยนต์ โฉนดที่ดิน เงินในบัญชีฝาก มักจะไม่พบปัญหาเพราะสามารถรู้เวลาการซื้อหรือได้มาง่าย

แต่หากเป็นสร้อย แหวน เพชร พลอย พระเครื่อง นาฬิกา เงินสด ที่ไม่สามารถระบุวันเวลาว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวต้องพิสูจน์ หรือตกลงขายเป็นเงินสดแล้วแบ่งกันคนละครึ่ง สุดท้ายคือยอมความยกให้กัน แต่ไม่รวมกับดอกผลที่งอกเงยมาจากสินส่วนตัวระหว่างสมรส เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ราคาหุ้น กำไรที่ได้นับแต่จดทะเบียนจะถือเป็นสินสมรสโดยไม่นับกับเงินต้น

โดยคู่สมรสสามารถจัดการสินสมรสได้เฉพาะส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ไม่สามารถจัดการเกินเลยจากส่วนที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ที่ดินอาจเป็นชื่อฝ่ายชาย แต่ซื้อมาระหว่างจดทะเบียน ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส ต่อมาฝ่ายชายทําพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่น บุคคลนั้นจะมีสิทธิ์ได้ครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งเป็นของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายชายไม่สามารถทําพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์เกินเลยกว่าที่ตัวเองมีกรรมสิทธิ์อยู่

การที่กฎหมายแบ่งสินสมรสกันคนละครึ่ง เนื่องจากระหว่างอยู่กินทรัพย์ที่ได้มานั้น ต้องถือเป็นกรรมสิทธิ์ทั้งคู่ เพราะเป็นคู่ชีวิต แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นคน“หาเงิน”เข้าบ้านก็ตาม คนที่เป็นแม่บ้านหรือพ่อบ้านไม่มีรายได้ แต่ก็คอยดูแลบ้าน จัดการธุระในบ้าน ดูแลเด็กคนชรา เป็นเหมือนหุ้นส่วน อีกคนลงแรงอีกคนลงเงิน เมื่อได้ผลประกอบการอะไรมาก็มาแบ่งกัน”

ดังนั้น สินสมรสก็ใช้หลักการเดียวกัน เป็นการให้ความเป็นธรรมกับสองฝ่ายที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา ส่วนบางคนบอกว่าหย่าแล้ว ไม่เอาทรัพย์สินใดๆมาเลย “ยกให้”อีกฝ่ายหมดก็ทำได้ถ้าตกลงกัน หรือสละสิทธิ์ยกให้กัน การตกลงเรื่องสินสมรสไม่จำเป็นต้องมาที่ศาล หากพูดคุยทําบันทึกข้อตกลงกันได้

พร้อมฝากข้อคิดเมื่อใช้ชีวิตด้วยกันถึงขนาดจดทะเบียนสมรสชอบด้วยกฎหมาย เวลาจะเลิกราต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องบุตร ซึ่งเป็นโซ่ทองคล้องใจสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หากถึงจุดที่ยากแก่การเยียวยา ไม่สามารถทนอยู่ต่อได้ บางครั้งแล้วการหย่าก็เป็นทางออกที่ดี

หากปล่อยไว้จนกลายเป็นปัญหาความรุนแรงในสังคม อย่างเช่นคดีที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ศาลก็พยายามไกล่เกลี่ยคู่สมรส แต่ก็ไม่ราบรื่น สุดท้ายจบลงมาด้วยการฆาตกรรม แต่ก่อนไปจะถึงจุดนั้นตนคิดว่ามีทางออกที่ดีกว่า”นายวีรศักดิ์ ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]