เข้าสู่ “เทศกาลกินเจ” กันอีกแล้ว แต่หลายคนยังสงสัยว่าพวก “เนื้อสัตว์แปรรูปเจ” ที่เราเห็นตามท้องตลาด จริงๆ แล้วทำจากอะไร บ้างก็ว่าทำจากโปรตีนเกษตร บ้างก็บอกว่าทำจากบุก ที่กินแล้วไม่อ้วน ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร…

แต่ถ้าในกลุ่มที่ต้องการกินเจเพื่อสุขภาพต้องมาเจอ “เนื้อสัตว์แปรรูปเจผสมแป้ง” และยิ่งแย่ไปกว่านั้นมีการผสมสีหรือกลิ่นที่ไม่ปลอดภัย แทนที่จะ “อิ่มบุญ-สุขภาพดี” อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่กลับต้องได้สารพิษบวกน้ำหนักเพิ่มใน “เทศกาลกินเจ” เป็นของแถม…คงไม่ดีแน่!

ซึ่งใน “เทศกาลกินเจ” เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ กินเพื่อสุขภาพ กินด้วยจิตใจเมตตา และละเว้นกรรม ก็คือละเว้นการกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อสัตว์ เป็นอาหารที่ให้โปรตีนแก่ร่างกาย เราจึงต้องหันไปหาแหล่งโปรตีนจากอาหารชนิดอื่นๆ แทน ได้แก่ อาหารประเภทถั่ว เต้าหู้

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้รักสุขภาพมากมายหันมาดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ และเมื่อถึง “เทศกาลเจ” ก็จะเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพมาปรุงอาหารเจรับประทานกัน โดยหลีกเลี่ยง “แป้ง” เพราะหากรับประทานมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อร่างกายแน่นอน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ แต่อาหารเจในท้องตลาดส่วนมากใช้ “แป้ง” เป็นวัตถุดิบ เราจึงต้องพิถีพิถันในการเลือกรับประทานกันสักนิด

โดยเฉพาะ “เนื้อสัตว์แปรรูปเจ” ซึ่งมีสีสันสวยงามน่ารับประทาน ได้แก่ กุ้งเจ ปลาหมึกเจ ฯลฯ จริงๆ แล้วบางแหล่งอาจมีส่วนผสมของ “แป้ง” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้ามีลักษณะสีใสๆ หลากสี ให้ฉุกคิดไว้นิดหนึ่ง เพราะโปรตีนเกษตรจะไม่ใสได้ขนาดนั้น แต่ที่ใสได้เพราะผสมแป้งมาก ส่วนโปรตีนเกษตรหรือเต้าหู้จะมีลักษณะเป็นเส้นใยมากกว่า

นอกจากนี้การเลือกรับประทานเต้าหู้ก็ต้องเลือกให้ดีๆ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ คือ ต้องเป็นเต้าหู้และฟองเต้าหู้แท้ เพราะว่าปัจจุบันเต้าหู้มีหลายประเภท เช่น ประเภทที่มีไขมันสัตว์ปนก็มีขายตามท้องตลาดเช่นกัน หรือที่แย่ไปกว่านั้นมีการใส่สีที่ไม่สะอาด ดังนั้นควรเลือกรับประทานเต้าหู้ที่มีสีขาวจะดีที่สุด

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มกินเจวันแรกๆ ขอแนะนำให้รับประทานพวกผักก่อน อย่าเพิ่งทานอะไรที่หนักๆ เพราะบางคนเคยทานแต่เนื้อสัตว์มาตลอด พอไปทานเมนูหนักๆ เช่น ไก่ย่างเจ หมูย่างเจ แบบจัดเต็มอาจะทำให้ท้องเสียได้ หรือถ้าใครอยากทานพวกของทอด เช่น เต้าหู้ทอดอาจต้องปรุงเอง เพราะสามารถเลือกใช้น้ำมันพืชในการทอดแบบไม่อมน้ำมันได้ หรือบางคนอยากรับประทานสลัดสามารถรับประทานกับน้ำมันมะกอกได้

ดังนั้นการรับประทานอาหารเจเพื่อสุขภาพที่ดีและไม่อ้วน จริงๆ แล้วอยู่ที่ตัวเราเองรู้จักเลือกประเภทอาหาร ซึ่งประเภทแรก คือ ผักผลไม้ 5 สี ได้แก่ สีแดง เหลือง ดำ ขาว เขียว เพราะว่าเกี่ยวข้องกับธาตุในตัวเรา และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนสามารถเลือกได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากเนื้อสัตว์

ยิ่งตอนนี้มี “คีนัว” ซูเปอร์ฟู้ดที่มาแรง ถึงจะยังไม่แพร่หลายมากในประเทศไทย แต่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีมากกว่าธัญพืชทุกชนิด และมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เราสามารถเลือกรับประทานแทนข้าวได้ หรือนำไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของขนมปังทานเล่นก็ได้ เป็น “ขนมปังคีนัว” หรือนำไปผสมกับสลัดใช้แทนเต้าหู้ก็ได้

ในเมื่อ “เทศกาลกินเจ” ไม่ได้ถูกจำกัดเหมือนในอดีตแล้วว่า…ต้องเน้นกิน “แป้ง” และค่อยไปลดน้ำหนักภายหลัง เพราะเราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายได้หลากหลายประเภท ดังนั้น เทศกาลกินเจปีนี้ขอให้ทุกท่านอิ่มบุญ อิ่มใจ และสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้า…