ดังชนิดฉุดไม่อยู่จริง ๆ สำหรับซีรี่ส์เกาหลี “สควิดเกม : เล่นลุ้นตาย” (Squid Game) ที่ตอนนี้กำลังจะสร้างสถิติเป็นซีรี่ส์ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่มีคนดูมากที่สุดในประวัติศาสตร์ Netflix จากเรื่องราวสุดตื่นเต้นระทึกขวัญของกลุ่มคนที่สิ้นหวังในชีวิต จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันเกมเด็กเล่นสุดลึกลับ เพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาล

แต่เบื้องหลังการถ่ายทำกว่าจะมาดังระเบิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไปดูกันว่าผู้กำกับมือทอง ฮวังดงฮยอก และทีมงาน ต้องเหนื่อยขนาดไหนกัน

จุดเริ่มต้น

โปรเจกท์ Squid Game เริ่มขึ้นในปี 2008 ผู้กำกับฮวังดงฮยอกเล่าให้ฟังว่า “ผมเริ่มเขียนบทในปี 2008 หลังจากที่ผมมีผลงานเดบิวต์ ตอนนั้นผมไปร้านหนังสือการ์ตูนบ่อยมาก พอผมได้อ่านการ์ตูนมากเข้า ก็เริ่มคิดถึงการสร้างอะไรที่คล้าย ๆ ในหนังสือการ์ตูนเกาหลี แล้วผมก็เขียนบทเสร็จในปี 2009″

หลังเขียนบทเสร็จ ฮวังดงฮยอก พยายามผลักดันโปรเจกท์ Squid Game ของเขา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องวางมือชั่วคราว ก่อนหันไปกำกับหนังเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Silenced (2011), Miss Granny (2014) และ The Fortress (2017) “ตอนนั้นเรื่องแบบนี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยและค่อนข้างรุนแรง มีคนมองว่ามันซับซ้อนเกินไป และขายไม่ค่อยได้ ผมหาทุนได้ไม่มากพอ และการแคสติ้งก็ไม่ง่าย ผมพยายามกับมันอยู่ประมาณปีหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องพักเอาไว้ก่อน”

ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจหยิบบท Squid Game มาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังเวลาล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี “ต้องขอบคุณ Netflix ที่ให้อิสระเต็มที่ ผมจึงได้สร้างสรรค์ผลงานตามที่ผมต้องการ”

งานศิลป์สีสันสดใส

ซีรี่ส์เรื่องนี้โดดเด่นที่งานภาพซึ่งมีสีสันสดใสเป็นเอกลักษณ์ ทำให้แตกต่างจากซีรีส์เซอร์ไววัลเรื่องอื่น ๆ โดยผู้กำกับศิลป์แชคยองซอนเผยว่า “เราสร้างสถานที่และจัดวางสิ่งต่าง ๆ โดยพยายามให้ผู้ชมคิดถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง สควิดเกม เล่นลุ้นตายไปพร้อมกับเรา”

เกมเด็กเล่นง่าย ๆ

ผู้กำกับฮวังดงฮยอกเลือกเกมเด็กเล่นที่เข้าใจง่าย และทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ แต่รายละเอียดเบื้องหลัง แต่ละเกมต้องผ่านการคิดวางแผนมากมาย ยกตัวอย่างเช่นเกมแรก “เออีไอโอยู หยุด” ซึ่งเป็นเกมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี หุ่นยนต์ในเกมนั้นนำมาจากเด็กผู้หญิงในตำราเรียนเด็ก ซึ่งทำให้ฉากออกมาดูสะเทือนขวัญยิ่งขึ้น เมื่อความสนุกในวัยเด็กกลายมาเป็นการต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้รอดตาย

การแสดงที่สมจริง

ฉากถ่ายทำขนาดมหึมามีส่วนช่วยให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้สมจริงขึ้น ผู้กำกับฮวังดงฮยอกกล่าวว่า “ผมพยายามกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของสนามเด็กเล่นจริง ๆ เพื่อให้นักแสดงสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ว่ากำลังทำบางอย่างตรงนั้น ผมคิดว่าฉากถ่ายทำแบบนี้ทำให้การแสดงสมจริงมากขึ้น”

หวนรำลึกถึงความหลัง

หนึ่งในฉากที่ใช้เวลาสร้างนานที่สุด คือการจำลองตรอกซอกซอยละแวกบ้านสไตล์เกาหลีในยุค 70-80 นักแสดงพัคแฮซูเผยว่า “สนามเด็กเล่นนั้นเหมือนจริงมาก เหมือนตรอกแถวบ้านในอดีต เหมือนอยู่หน้าบ้านสมัยก่อนจริง ๆ ทำให้นึกถึงความหลังและรู้สึกถึงความตึงเครียดที่ไม่ธรรมดาเลยครับ” ด้านนักแสดงฮอซองแทยังกล่าวชื่นชมทีมอาร์ตที่ใส่ใจรายละเอียดกับการโรยดินไว้ตามจุดต่าง ๆ ในตรอกเหล่านั้นด้วย

มีความสากล+เกาหลี

เรื่องราวที่มีความเป็นสากล แต่ก็ต้องเป็นเกาหลีด้วย เกมเด็กเล่นส่วนใหญ่เป็นเกมที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่บางเกมก็มีแค่ในเกาหลีเท่านั้น อารมณ์ของมนุษย์และอุปสรรคที่ตัวละครเผชิญจะเข้าถึงอารมณ์ของใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหนก็ตาม ผู้กำกับฮวังดงฮยอกมองว่า “ในฐานะเกมเซอร์ไววัล มันเป็นทั้งความบันเทิงและเป็นความดราม่าของมนุษย์”

สำรวจธรรมชาติของมนุษย์

ซีรีส์เรื่องนี้พาไปสำรวจธรรมชาติของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ผ่านการนำผู้ใหญ่กลับมาเล่นเกมในวัยเด็กอีกครั้ง ผู้กำกับฮวังดงฮยอกระบุว่า “ผมอยากเขียนเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์ภาพ หรือนิทานเปรียบเทียบสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน อะไรที่จะทำให้เห็นภาพการแข่งขันสุดโต่ง อะไรที่คล้ายกับการแข่งขันอันรุนแรงของชีวิตคน” แต่มันก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด ดังที่เราได้เห็นหลายตัวละครยังไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์และมีความหวังไปพร้อมกัน ซึ่งการวิพากษ์ธรรมชาติมนุษย์และสังคมนั้นกระตุ้นความคิดของคนได้อย่างแน่นอน.