แต่ดูเหมือนว่า พ.ศ. 2564 ปัญหาหลาย ๆ อย่างในบ้านเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการออกมาต่อสู้ทางความคิด ของหนุ่มสาวเยาวชนทั้งนักศึกษา-นักเรียน ทั้งเรียกร้องความถูกต้อง การต่อสู้กับอำนาจไม่ยุติธรรม หรือแม้กระทั่งอำนาจเผด็จการจากรัฐประหารแปลงร่าง ยังคงหมุนวนอยู่ บรรดา “คนเดือนตุลา” ที่ผ่านบาดแผลและเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยมาโดยตลอด ยังคงมองปรากฏการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ พร้อมเริ่มเป็นห่วงที่วันนี้ แกนนำ ในวัยหนุ่มสาวอนาคตของชาติต่างต้องถูกจับกุมคุมขัง บ้างก็ออกหมายจับจำนวนมาก บริบทหลายเรื่องเริ่มค่อนข้างใกล้เคียงอดีต

หนุ่มสาวรุ่นใหม่เริ่มสนใจอดีต

ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินนักคิด และนักเขียนเพิ่งจะคว้ารางวัล ศรีบูรพา ปี 2562  เคยเข้าส่วนร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้ง 14 ต.ค. 16 และ 6 ต.ค. 19 กล่าวว่า การรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ปัจจุบันยังมีกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่และประชาชนสนใจ เข้าร่วมจัดกิจกรรมมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหลายคนค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือ และมาร่วมงานนี้เพื่อสัมผัสและแลกเปลี่ยนความรู้กับคนในยุคก่อน เพราะปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ความรุนแรงในอดีตยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่รายละเอียดบางอย่างก็มีความแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในทั้ง 2 เหตุการณ์ กับเพื่อนนักศึกษาเรียนศิลปะเพาะช่าง ร่วมกันทํากิจกรรมเพื่อสังคมและการเมือง ในนามแนวร่วมเพาะช่าง  ในช่วงเวลานั้นขบวนการนักศึกษามีส่วนร่วมกับประชาชน จนเกิดการรวมกลุ่มที่นอกจากจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแล้ว จะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย จึงเกิดการร่วมมือกันเป็น 3 ประสานคือ นักศึกษา กรรมกร และ ชาวนา เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ภาพรวมประชาชนค่อนข้างเห็นด้วยกับขบวนการนักศึกษา ผมได้เข้าร่วมกับกลุ่มการ์ด กนกหกสิบ รักษาความปลอดภัยให้รถนำขบวนคันแรกที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปราศรัยอยู่บนรถ

เช้าวันที่ 14 ต.ค. ตอนแรกผู้ชุมนุมเริ่มสลายตัวแล้วหลังมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐตอบรับข้อเรียกร้อง แต่สุดท้ายกลับมีการล้อมปราบ กลุ่มการ์ดที่อยู่แนวหน้าเวลานั้นต่างถูกแก๊สน้ำตาจนแตกกระเจิง  เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมจนมีนักเรียน นักศึกษาบาดเจ็บจำนวนมาก ตอนนั้นจำได้ว่าช่วยอุ้มเด็กนักเรียนผู้หญิงพาณิชย์ได้รับบาดเจ็บ มีเลือดท่วมไปส่งยังหน่วยพยาบาล ก่อนที่กลุ่มของผมจะเคลียร์กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากจุดปะทะแล้วพวกเราก็ค่อย ๆ ออกจากจุดนั้นเป็นกลุ่มสุดท้าย

กลุ่มการ์ดที่ดูแลผู้ชุมนุมสมัย 14 ตุลา จะไม่มีการจัดการที่เป็นระบบเหมือนสมัยนี้ แต่การ์ดส่วนใหญ่เป็นสายอาชีพ คือ ช่างก่อสร้าง กับช่างกล สถานการณ์ปกติจะยกพวกตีกันอยู่ประจำ แต่พอมาในเหตุการณ์นี้เราทุกคนกอดคอกันว่าจะร่วมมือและไม่ตีกันจึงมีการจัดตั้งกันแบบหลวม ๆ ในการดูแลความปลอดภัย หลายครั้งเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมถูกจัดการด้วยความรุนแรง ทางกลุ่มอาชีวะก็จะระบายความโกรธแค้นด้วยการบุกทำลายป้อมสัญญาณไฟแดงทั่วกรุงเทพฯ

เมื่อมีการกดขี่ย่อมเกิดการต่อสู้

นายสินธุ์สวัสดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเห็นจากความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมาจนถึงปัจจุบันคือ เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนจะมีความคิดตรงกันข้ามกับผู้ชุมนุมจนเราไม่สามารถมาบรรจบกันได้ เพราะหลายคนกลัวสูญเสียอำนาจ ซึ่งคำว่าราชการ ของเจ้าหน้าที่รัฐแปลความหมายเป็นอีกอย่าง ซึ่งต่างจากที่ประชาชนมอง เพราะจะว่าไปแล้วประชาชนเสียภาษีทุกเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน ต้องเสียภาษีจากค่าน้ำ ค่าไฟ ภาษีเหล่านี้ก็เก็บไปเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับราชการ ประชาชนก็คาดหวังว่าข้าราชการจะช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความยากลำบากที่เผชิญอยู่

แต่ในโลกของความเป็นจริงในระบบราชการกลับคิดตรงกันข้าม เมื่อความคิดสวนทางกันแบบนี้ ความคิดที่สื่อสารระหว่างกันก็ถูกตีความไปอีกแบบ จึงทำให้ความคิดของสองฝ่ายยากจะมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างของระบบตั้งแต่อดีตมาถึงตอนนี้”

ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทั้ง 2 เหตุการณ์เดือนตุลาฯ คือ เมื่อใดที่ไหนมีการกดขี่ย่อมมีการต่อสู้ แม้บางครั้งเราจะได้ผลประโยชน์เพียงครั้งคราวแต่ต้องถูกกดหัวไว้ตลอดชีวิต และการต่อสู้เหล่านี้ไม่สามารถสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องใช้เวลาต่อสู้อย่างยาวนาน ซึ่งตัวอย่างไม่ใช่แค่ไทย แต่หลาย ๆ ประเทศในโลก เมื่อเกิดความขัดแย้งจะมีกติกาใหม่ขึ้นมาในช่วงระยะเวลานึง แล้วก็เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อที่จะมีการต่อสู้ทำให้สังคมพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ

ตอนนี้ประเทศไทยยังวนอยู่ปัญหาเดิมในความคิดแบบเก่าที่พยายามฉุดรั้งให้กงล้อประวัติศาสตร์ความรุนแรงหมุนย้อนกลับมาเป็นแบบเดิม ซึ่งสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น แต่ก็ได้เห็นคือ การเกิดขึ้นของกระแสคนรุ่นใหม่ ที่เป็น “หมุดหมาย” สำคัญ คนรุ่นใหม่เหล่านี้เหมือนเป็นความหวัง เพราะคนที่ต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มาตั้งแต่อดีต หลายคนคงนอนตายตาหลับเมื่อเห็นการต่อสู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสังคมที่ดีกว่า 

แนะรัฐบาลจริงใจเร่งหาทางออก

จากประสบการณ์ที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาฯ มาทั้ง 2 ครั้ง ถ้าให้มองถึงการแก้ปัญหาในทางการเมืองปัจจุบันที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการตื่นตัวมากขึ้น ภาครัฐเองหากมีความจริงใจจะต้องถอดบทเรียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุมาจากอะไร แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำกับผู้ชุมนุมมาจนถึงเวลานี้ ก็ยังคงยึดมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมาตลอดถูกต้องทุกอย่าง แม้จะมีการทำผิดพลาดก็ไม่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลบริหารจัดการที่ผิดพลาดแต่ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองทำผิด จนเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากโครงสร้างการจัดการปัญหาของรัฐบาล ที่สำคัญตัวเองก็ยังไม่ยอมรับว่าผิดพลาด

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้มองสภาพปัญหาต่าง ๆ ทะลุหมดแล้ว และมีความกล้าหาญที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา โดยขบวนการคนหนุ่มสาวในยุคนี้จะต้องเดินต่อไปอย่างมั่นคง แต่ต้องมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจะได้ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนเยอะกว่านี้ สำหรับความรุนแรงตรงแยกดินแดง ที่มีการปะทะกันอยู่ทุกวันนั้น ที่ผ่านมารัฐยังใช้การปราบจับกุมกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย บางคนจึงมีบาดแผลจากการถูกกระทำของเจ้าหน้าที่ ทำให้ถูกโต้กลับด้วยความรุนแรง  ดังนั้นรัฐจะต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมาถึงความจริงใจ เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างกันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายสินธุ์สวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบทางการเมืองไม่ว่าทางไหนก็ทางหนึ่งมาตลอด ถ้ามองทุกอย่างด้วยความเป็นธรรมใช้สติในการเสพสื่อ หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้ายังใช้ได้อยู่ว่าเราอย่าไปเชื่อข่าวลือ แต่ให้มองโลกในหลักความเป็นจริง ดูทุกอย่างให้ถ่องแท้ว่าเด็กรุ่นใหม่ทำไมต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ถ้าวิเคราะห์ให้ชัดก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรมอะไรบางอย่าง หรือทำไมแนวคิดอนุรักษ นิยมไม่สอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติของโลกทุกอย่างหมุนเดินไปข้างหน้า การยอมรับความคิดและปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ.