ท่ามกลางความร้อนระอุของเปลวเพลิงจากเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่งติดๆกันช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ความสนใจหลักพุ่งไปยังเหตุการณ์เฉพาะหน้า ขณะที่อีกด้านมีความเคลื่อนไหวน่าจับตากับกรณีต่อเนื่องจากคดีอุบัติเหตุที่สร้างแรงกระเพื่อมหนักในวงการยุติธรรม ด้วยคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทตระกูลดัง ที่ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555
ที่สุดแม้ต่อมาจะกลับลำฟ้อง 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเสพโคเคน แต่เงื่อนปมคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการครั้งนั้นยังไม่จบ!!!
..มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย…

ข้างต้นเป็นตอนหนึ่งของบทสรุปรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ชุดที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ซึ่งมีรายละเอียดชี้ให้เห็นข้อพิรุธตลอดเส้นทางต่อสู้คดี จวบจนระบุถึงการเอาผิดกลุ่มคนที่มีส่วนร่วม
ปัจจุบันเกือบครบ 1 ปี หลังข้อสรุปดังกล่าวถูกส่งต่อไปให้แต่ละหน่วยงานจัดการ “เช็กบิล” ภายในตามระบบระเบียบ ซึ่งต้องยอมรับว่าบางที่ “เงียบฉี่” บางที่พอได้ยินสัญญาณขาดๆ หายๆ จนเกือบลืม กระทั่งล่าสุดได้จุดความหวังอีกครั้งหลังการขยับของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ ที่เคาะมติตั้งกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา รวม 15 คน ไล่ตั้งแต่พนักงานสอบสวน ไปจนถึงข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วและที่ยังอยู่ในราชการ ตลอดจนอัยการและบุคคลเกี่ยวข้อง
มีรายงานถึงยศ ตำแหน่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 15 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ. 2 คน, พล.ต.ท. 2 คน, พ.ต.อ. 2 คน, พ.ต.ท. 2 คน, พล.อ.ท. 2 คน, อัยการ 2 คน, ทนายความ 1 คน และนักการเมือง 2 คน เหล่านี้หากติดตามตั้งแต่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายวิชา คงเดาไม่ยากว่าใครเป็นใคร

ขั้นตอนนี้กรอบทำงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 48 ระบุให้ต้องไต่สวนแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายเวลาได้ 1 ปี หลังตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้วสามารถเริ่มต้นกระบวนการได้ทันที หากมีมูลเพียงพอก็แจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ก่อนสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ชี้มูลความผิดต่อไป
มองปลายทางยังดูห่างไกล แต่จงอย่าทิ้งความหวังจากกระบวนการยุติธรรม…
แม้ขั้นตอนไต่สวนจาก ป.ป.ช.อาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ในส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยชั้นต้นฝั่งอัยการ หากเป็นไปตามคาดการณ์ของ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ภายในเดือน ก.ค.นี้น่าจะมีข้อยุติออกมาให้เห็นทิศทาง หลังตั้งประธานคณะกรรมการสอบสวนมาแล้วถึง 3 คน ปัจจุบันคือ นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยต้นเดือนที่ผ่านมา นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ผู้ทำคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ได้เข้าให้ถ้อยคำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ย้อนกลับไปครั้งผลตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนายวิชา ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้รับ “การบ้าน” กลับไปสะสาง จนถึงวันนี้คงต้องรีบไขลาน ส่งการบ้านคืบหน้าให้สาธารณชนรู้บ้าง.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน