ไม่เฉพาะนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ออกมาส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง เกี่ยวกับสถานการณ์ “ข้าวเปลือก” กำลังจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย.นี้ นอกจากปัญหาราคาตกต่ำ แต่บรรดา “โรงสี” อาจไม่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา สาเหตุจากวิกฤติเศรษฐกิจและปริมาณข้าวค้างสต๊อกตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบสต๊อกข้าว พร้อมทั้งปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้เกษตรกรและโรงสีได้เสริมสภาพคล่อง ไม่เช่นนั้นชาวนาเดือดร้อนหนักแน่ ๆ

ต้องจ่ายส่วนต่างให้ “ชาวนาอิงราคาโรงสี

วันก่อนทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสสนทนากับ นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ซึ่งพิษณุโลกเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศ ขณะที่นายนิยมก็เคยทำนามาก่อนได้กล่าวว่าตนต้องออกมาเตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าถ้าประกาศประกันราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวเจ้าขาวตันละ 10,000 บาท

แต่ช่วงที่ผ่านมาแม้ชาวนาขายข้าวได้แค่ตันละ 5,000-6,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจาก “สมาคมโรงสีข้าวไทย” โชว์ข้อมูลเกือบทุกวันเป็นรายจังหวัด ว่าโรงสีประกาศรับซื้อข้าวอยู่ที่ตันละ 7,500-7,600 บาท  ที่ความชื้น 15% ดังนั้นรัฐบาลต้องเยียวยาให้ชาวนาตันละ 2,400-2,500 บาท ตามส่วนต่างของ 10,000 บาท แล้ววันนี้รัฐบาลจะมาประกาศราคาอ้างอิง อ้างข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกรมการค้าภายใน-ผู้ส่งออก และตัวแทนชาวนา ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

“คุณจะไปกำหนดราคาอ้างอิงเท่าไหร่กันก็ช่าง! แต่โรงสีตั้งราคารับซื้อข้าวไว้ชัดเจนแบบนี้ คุณหนีไม่พ้นเลย พอถึงเวลารัฐบาลก็มาตั้งราคาอ้างอิงตันละ 8,000 กว่าบาท หรือ 9,000 บาท เพื่อจ่ายส่วนต่างให้ชาวนาแค่ 1,000 กว่าบาท ตรงนื้ถือว่าแย่มาก เพราะชาวนาไม่ได้ขอให้ช่วยประกันรายได้ตันละ 10,000 บาท แต่รัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่าให้ตันละ 10,000 บาท (ข้าวขาว) แต่โรงสีรับซื้อตันละ 7,500-7,600 บาท หรือโรงสีบางจังหวัดอาจซื้อแค่ตันละ 7,200-7,300 บาท ดังนั้นรัฐบาลต้องจ่ายตามส่วนต่างกับราคาโรงสี ไม่ใช่กำหนดราคาอ้างอิงกันขึ้นมาเพื่อจ่ายส่วนต่างน้อย ๆ”

โดยเว็บไซต์ของสมาคมโรงสีข้าวไทย จะประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกออกมาตลอดครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ถ้าโรงสีประกาศรับซื้อราคาเท่านี้ แล้วผู้ประกอบการหรือ “ท่าข้าว”ที่ไหนจะซื้อข้าวแพงกว่าโรงสี? ไม่มีหรอก! เขาก็ต้องซื้อถูกกว่าโรงสี

ดังนั้นรัฐบาลจึงหนีไม่ได้ แล้วตนจะรอดูการจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนางวดนี้ ตอนแรกว่าจะจ่ายให้ชาวนาเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วยังไม่จ่าย ถ้าจ่ายจะจ่ายเท่าไหร่แน่ ถ้าชาวนาได้ไม่ถึงตันละ 2,000 บาท ตนจะเอากรอบระยะเวลาประกาศการรับซื้อข้าวเปลือกของโรงสีมาเปรียบเทียบ และเอาข้อมูลเข้าไปอภิปรายในสภา เพื่อทวงถามเงินส่วนต่างให้ชาวนา คุณอย่ามาคุยเรื่องความชื้นและคุณภาพข้าว ในเมื่อโรงสีประกาศราคารับซื้อไว้แบบนั้น ส่วนต่างระหว่างราคาของโรงสี ณ วันที่เอาข้าวไปขาย กับราคาประกัน 10,000 บาท ตรงนี้คือ “ส่วนต่าง” รัฐบาลหนีความรับผิดชอบไม่ได้

ชดเชยไม่ถึงตันละ 2 พันบาทถือว่าแย่!

ส.ส.พิษณุโลกกล่าวต่อไปว่า ยุคนี้ “ผู้ส่งออก” เป็นคนกำหนดราคาข้าว เขาพอใจซื้อเท่าไหร่ก็ซื้อแค่นั้น จะซื้อข้าวแพงไปทำไม เดี๋ยวรัฐบาลเอาเงินภาษีเข้ามาสนับสนุน แล้วไปดัมพ์ราคาข้าวไทยแข่งกับข้าวเวียดนาม แต่อ้างว่าข้าวจากเวียดนามมีคุณภาพและมีการพัฒนา อันนั้นก็เรื่องจริงอยู่ แต่หน่วยงานรัฐไปพัฒนาพันธุ์ข้าวมาสิ! รัฐจัดทำแผนมา! คุณเอาพันธุ์ข้าวอะไรมาให้เขาปลูก ชาวนาก็พร้อมที่จะปลูก เขาไม่ได้มีปัญหาถ้าหน่วยงานรัฐหาพันธุ์ข้าวดี ๆ มาส่งเสริมให้ปลูก

ส่วนเรื่องข้าวเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามไปเจรจาหาตลาดและกำหนดราคาส่งออก แล้วเอาราคามาให้ผู้ส่งออก กำไรตกเป็นของรัฐบาล แต่ข้าวไทยผู้ส่งออกเป็นคนกำหนดราคา ดังนั้นต้องบอกว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกร่ำรวยกับนโยบายแบบนี้ เมื่อร่ำรวยแล้วไปดูแลใครบ้างตนไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ โรงสีกับชาวนาย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน เพราะถูกกดราคา!

ตนจำได้หมดสมัยปลาย ๆ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จ่ายให้ชาวนาเยอะมาก เพราะจ่ายตาม “ส่วนต่าง” ด้วยการปรับราคาอ้างอิงให้ต่ำ เพื่อจ่ายส่วนต่างตันละ 2,000 บาท ตอนนั้นปี 54 พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ จะมีข้าวเปลือกหรือไม่มีข้าวเปลือกไม่สน! ใครขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวนาจ่ายให้หมด แต่ปัจจุบันตนเชื่อว่าทำไม่ได้หรอก เพราะ 1.รัฐบาลไม่มีเงิน 2.ไม่ใช่นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล

“ยุคนี้เป็นเรื่องของต่างคนต่างทำ และไม่ได้ออกไปทำตลาด ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจึงตกต่ำมาก ผมพูดแบบคนเคยทำนามาก่อน ไม่ว่าจะโครงการจำนำราคาข้าว และประกันราคาข้าว มันขาดทุนด้วยกันทั้งนั้น โครงการรับจำนำข้าวไม่ขาดทุนมากหรอก ถ้าคุณไม่เอาข้าวดีไปขายเป็นข้าวอาหารสัตว์ หรือ นำข้าวสารดี ๆ ไปเผาทำพลังงาน หรือการจ่ายช่วยแบบเบี้ยหัวแตก เรื่องต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ก็ขาดทุนเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นรับจำนำ ราคาข้าวทั้งระบบจะไม่ตกต่ำแบบนี้ แต่นี่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จ่ายช่วยเหลือปีละครั้ง ทั้งที่ชาวนาปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง พื้นที่ไหนมีน้ำเพียงพอ และชาวนาขยันอาจจะปลูกข้าวถึงปีละ 3 ครั้ง เมื่อรัฐบาลช่วยแค่ปีละครั้ง จึงดึงราคาข้าวตกต่ำทั้งปี ดึงราคาข้าวนอกระบบ ข้าวนอกฤดูให้ตกต่ำกันไปหมด แถมโรงสีต่าง ๆ สต๊อกข้าวยังเต็มอยู่ บางโรงสีขาดสภาพคล่อง จึงไม่รับซื้อข้าวจากชาวนา”

แตกต่างจากโครงการรับจำนำข้าวที่ช่วยทั้งชาวนา และโรงสี เพราะโรงสีจะได้รับค่าสีแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ได้ค่าจัดเก็บข้าว กระสอบละกี่บาทก็ว่ากันไป แต่ถ้ารัฐบาลจะทำโครงการประกันราคา แล้วยังจะช่วยเรื่องต้นทุนการเพาะปลูกด้วย ควรทำควบคู่ไปพร้อมกันเลยทั้งเรื่องต้นทุนและรายได้ ซึ่งต้องดูสภาพของพื้นที่ด้วย บางพื้นที่ใช้น้ำชลประทาน บางแห่งยังต้องรอน้ำฝนและน้ำบาดาล ต้นทุนการเพาะปลูกจึงต่างกัน ชาวนาดีใจที่รัฐบาลประกาศประกันราคาข้าวตันละ 10,000 บาท แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่ได้เงินตามที่รัฐบาลประกาศไว้  คือส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาที่โรงสีประกาศรับซื้อ สรุปรอบนี้ถ้าชาวนาได้ชดเชยไม่ถึงตันละ 2,000 บาท ตนถือว่ารัฐบาลไม่ตรงไปตรงมากับชาวนา

“ปัจจุบันชาวนาต้องเช่าพื้นที่ทำนาเป็นส่วนใหญ่ ค่าเช่าไร่ละ 1,500 บาทต่อการปลูก 1 ครั้ง ทำให้ต้นทุนสูงถึงไร่ละ 4,000-5,000 บาท แถมยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ปรับขึ้นราคากันทั้งหมด ปุ๋ยยูเรียกระสอบละ 900 บาท ตันละเกือบ 20,000 บาทแล้ว ชาวนาจะอยู่กันอย่างไร ถ้าราคาข้าวยังเป็นแบบนี้ แถมโรงสีก็ไม่อยากซื้อข้าว” นายนิยมกล่าว

ราคาข้าวตกต่ำ “โรงสีปิดเกินครึ่ง

ทางด้านเจ้าของ “ท่าข้าว” รายใหญ่ใน จ.ลพบุรี ซึ่งเคยรับซื้อข้าวปีละกว่า 1 หมื่นตัน กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าสถานการณ์ปัจจุบันคือ 1.ราคาข้าวเปลือกไม่ดี เช่น ข้าวหอมปทุมธานี สวย ๆ ไม่ต้องดูความชื้น ซื้อกันตันละ 8,000-8,100 บาท ส่วนข้าวขาวธรรมดา ความชื้นไม่เกิน 20% ซื้อตันละ 6,900-7,000 บาท 2.โรงสีไม่ซื้อข้าวเก็บเลย อาจจะซื้อเพียงแค่พยุงตัวอยู่ได้ แล้วรีบปล่อยออกในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และ 3. ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสี-ท่าข้าว จึงอยู่กันลำบาก ดังนั้นสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้โรงสีปิดตัวเองกันไปแล้วกว่า 50%

“ปัจจุบันไม่มีราคาข้าวอ้างอิงจากรัฐบาลเข้ามาช่วย ทั้งโรงสี-ท่าข้าว และชาวนาจึงอยู่ยาก ส่วนตัวมองว่าจำนำราคาดีกว่าประกันราคา การรับจำนำทำให้ข้าวราคาขึ้น แต่การประกันราคาข้าวจะไม่ขึ้น ยิ่งตอนนี้ข้าวสารถูก ข้าวเปลือกก็ต้องถูก โรงสีชอบจำนำข้าวมากกว่า เพราะโรงสีได้ทำงาน ธนาคารปล่อยเงินง่าย และรัฐบาลเข้ามารับผิดชอบส่วนต่างให้ ถ้าอยากได้ข้าวก็ไปซื้อข้าวแข่งกับโครงการรับจำนำได้ สมมุติรับจำนำตันละ 15,000 บาท แต่โรงสีซื้อแค่ตันละ 14,500 บาท ชาวนาขายข้าวให้โรงสีกันหมด เพราะได้เงินสด และขั้นตอนไม่ยุ่งยากเหมือนจำนำข้าว” เจ้าของท่าข้าวในลพบุรี กล่าว 

ขณะที่เจ้าของโรงสีข้าวใน จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่าโรงสีหลายแห่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางธุรกิจ ขาดสภาพคล่องกันอย่างหนัก รวมทั้งการส่งออกข้าวที่อยู่ในภาวะอืด ๆ ตามสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บางโรงสีที่พอมีเงินก็ยังออกซื้อข้าว
เปลือกจากชาวนาได้บ้าง แต่หลาย ๆ โรงสีไม่ซื้อเลย เนื่องจากสต๊อกข้าวเก่ายังมีอยู่

“ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แจกเงินผ่านโครงการเราชนะ 2 เดือน เดือนละ 3,500 บาท รวมเป็นเงิน 7,000 บาท ชาวบ้านก็นำเงินไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ช่วงนั้นข้าวสาร 1 ถัง (15 กก.) ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 520 บาท แต่ปัจจุบันราคาข้าวสาร 1 ถัง ลดลงมาเหลือ 400 บาท ลองคิดเปรียบเทียบกันดูว่าข้าวสารยังถูกลงถังละ 120 บาท ข้าวเปลือกก็ต้องถูกตามลงมาด้วย หลาย ๆ โรงสีไม่ต้องการเสี่ยงกับภาวะแบบนี้ จึงหยุดซื้อข้าวเปลือก แต่ในส่วนคนทำนาทราบว่ากำลังบ่นเรื่องปุ๋ยขยับราคาขึ้นมาอีกตันละ 1,000 บาท ยาฆ่าหญ้าจากแกลลอนละ 400 บาท    เป็น 500 บาท สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันมันเป็นแบบนี้” เจ้าของโรงสีในฉะเชิงเทรา กล่าว.